ทางออกนอกตำรา : อุ้ม “ทรู-เอไอเอส” ยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร

21 เม.ย. 2561 | 11:01 น.
นับศพ ถึงตอนนี้ต้องบอกว่า ใครที่คิดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะไม่ใช้อำนาจมาตรา 44 ไปโอบอุ้ม บริษัทโทรคมนาคม 2  รายคือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทลูกของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสฯ (เอไอเอส) และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นฯ ที่ไปยื่นเรื่องกับรัฐบาลลงวันที่ 21 กันยายน 2560 เพื่อขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดที่ 4 ในปี 2563 ที่กลุ่มทรูจะต้องชำระ 60,218 ล้านบาท และกลุ่มเอไอเอสต้องชำระ 59,574 ล้านบาท ออกไปอีก 5-7 ปี โดยคิดดอกเบี้ยจากการจ่ายช้าแค่ 1.5% ปิดฉากลงไปหลัง กสทช.ประกาศชัดว่า จะไม่ช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการขอเลื่อนชำระค่าประมูลใบอนุญาตคลื่น 4 จี ต้องหันหลังกลับไปคิดใหม่...
3-7 ทำไมต้องคิดใหม่นะหรือครับ....

เพราะในวันอังคารที่ 18 เมษายน 2561 ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมาแย้มพรายชัดเจนว่า “ยังไม่จบ” ผมนำทุกท่านมาพิจารณาในคำพูดแบบคำต่อคำ เพื่อจะได้เห็นภาพตรงกันก่อนนะครับ

ดร.วิษณุ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมว่า “การประชุมผู้เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้ มีการพูดคุยกันว่าจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบหรือไม่ ถ้าจำเป็นเพราะเหตุใด ถ้าจะช่วยจะช่วยอย่างไร ซึ่งต้องได้ประโยชน์ทั้งหมด โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ให้หลักการไว้ว่า ถ้าต้องช่วยเหลือต้องวินวินทั้ง 2 ฝ่าย ประเทศชาติ เศรษฐกิจได้ประโยชน์ และเป็นธรรมกับผู้ประกอบการและส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

“ต่อไปหากได้ข้อสรุปอย่างไรต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช.เพื่อพิจารณา”


นักข่าวขี้ซักยังถามต่อไปว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าทั้งทรูและเอไอเอสไม่ได้ขาดทุน แต่ผลประกอบการยังมีกำไรพอสมควร ทำไมจึงมาขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ
29790538_2059007757452102_3655955453879044811_n ดร.วิษณุ บอกว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะให้ความเป็นธรรมหรือช่วยเหลืออย่างไร ต้องเสนอคสช.พิจารณาก่อน อย่างไรก็ตาม ตัวแทนทั้ง 2 บริษัท ได้ชี้แจงโดยอธิบายให้เห็นภาพตัวเลขที่เห็นว่า ที่มีกำไรนั้น มีที่มาจากผลประกอบการส่วนใดบ้าง ซึ่งทั้ง 2 บริษัทมีกิจการในเครือกว่า 50 รายการ ตัวเลขรายได้จึงรวมมาจากทั้งหมด

และที่บอกว่า เขามีกำไรเขาชี้แจงว่า มีกำไรจากเรื่องอื่น ส่วนรายได้จากโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตยังขาดทุนเพราะเขาประมูลมาแพง ซึ่งเขาระบุว่า จะนำกรณีนี้ไปเปรียบเทียบกับทีวีดิจิตอลที่ขาดทุนไม่ได้
2G-3G-4G-Network-signal-strength-ITN ดร.วิษณุ บอกว่า ในวันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2561 จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาหารืออีกครั้ง และจะรายงานให้ คสช.ทราบในวันจันทร์ที่  23 เมษายน 2561 ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดขึ้นอยู่กับ คสช.

“ส่วนข้อห่วงใยว่า หากรัฐบาลมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้ว อาจเสียประโยชน์ของแผ่นดินนั้น เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรากำลังพิจารณาอยู่ ส่วนจะพิจารณาออกเป็นมาตรา 44 หรือไม่นั้น ไม่ขอพูดอะไรตรงนี้อยู่ที่ คสช.จะตัดสินใจ ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้ว่าจะต้องสรุปให้ได้ภายในเดือนเมษายนนี้ ผมถามในที่ประชุมถึงกรณีโทรคมนาคมว่า ถ้ารัฐบาลไม่ทำอะไรเลย เพราะคุณไปประมูลมาแพงเอง จะมีอะไรเกิดขึ้นกับคุณ คุณจะทำอะไร แล้วถ้ารัฐช่วยคุณคิดว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับรัฐบาล ประชาชนได้อะไร

เขาก็อธิบายในส่วนนี้ จะน่าเชื่อหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง และเขายังบอกด้วยว่า ถ้าจะช่วยก็ช่วยคำนึงถึงเงื่อนเวลาด้วย เพราะจะถึงวงรอบของงวดถัดไปที่จะต้องชำระ”

จะให้แปรเป็นอื่นไปได้อย่างไรขอรับนายท่าน นอกจากจะบอกว่า มาตร การช่วยเหลือเยียวยานายทุนค่ายมือถือใหญ่ ยังเดินหน้าต่อไปไม่มีหยุด เพราะจะถึงรอบงวดถัดไป

P1-3351-A
ผมจะไม่ลงลึกไปในรายละเอียดว่า ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการผลักดัน “ให้โอบให้อุ้ม” กลุ่มทุนผู้อ้วนพี

อ้วนพีอย่างไร ในปี 2559 เอไอเอส มีรายได้ถึง 152,717 ล้านบาท กำไร 30,666 ล้านบาท ปี 2560 เอไอเอสมีรายได้ 158,477 ล้านบาท มีกำไร 30,077 ล้านบาท

ในปี 2559 กลุ่มทรูมีรายได้ 131,157 ล้านบาท ขาดทุน 2,814 ล้านบาท พอปี 2560 กลุ่มทรูมีรายได้ 147,602 ล้านบาท กำไร 2,322 ล้านบาท

ปี 2559 เอไอเอสจ่ายปันผลออกไปให้ผู้ถือหุ้น 30,651 ล้านบาท ปี 2560 เอไอเอสจ่ายปันผลผู้ถือหุ้น 21,108 ล้านบาท เวลา 2 ปี จ่ายปันผลไป 51,759 ล้านบาท

ส่วนเหตุผลที่ 2 ค่าย บอกดร.วิษณุว่า เขามีกำไรจากเรื่องอื่น ส่วนรายได้จากโทรศัพท์ หรืออินเตอร์เน็ตยังขาดทุนนั้น ดร.วิษณุ และคสช.ต้องไปดูข้อมูลผลประกอบการของค่ายมือถือ

ในปี 2560 กลุ่มทรูมีรายได้จากการให้บริการโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่า 10% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นเงิน 97,000 ล้านบาท จากการเติบโตของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต ขณะที่ EBITDA ก็เติบโตอย่างมีนัยสำคัญถึง 59% จากปีก่อนหน้ารวม 39,000 ล้านบาท

ธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตของทรูออนไลน์เติบโต ทั้งรายได้จากกลุ่มลูกค้าทั่วไปและฐานผู้ใช้บริการซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราเลข 2 หลักจากปีก่อนหน้า เป็นผลจากไฟเบอร์และการปรับเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ต ซึ่งบนโครงข่าย FTTx การเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตและอัพเกรดเทคโนโลยี, การสนับสนุนอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ระดับหมู่บ้าน โครงข่ายบรอดแบนด์ที่ครอบคลุม 13 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ

ส่งผลให้ปี 2560 บริการทรูออนไลน์มีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นสุทธิ 385,000 ราย รวมทั้งสิ้น 3.2 ล้านราย
29468962_2039995472686664_1166378811693086881_n คราวนี้ไปดูเอไอเอสบ้าง ผลประกอบการรอบปี 2560 กำไรสุทธิ 30,077 ล้านบาท รายได้รวมเพิ่มขึ้น 3.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 6.7 กิกะไบต์ต่อเดือน และธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 521,200 ราย จึงจ่ายเงินปันผลรอบครึ่งปีหลัง 3.57 บาทต่อหุ้น ในเดือนเมษายน 2561

คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอไอเอสฯ บอกว่า ภาพรวมผลประกอบการของทั้งปี รายได้รวมเติบโต 3.7% จากปีก่อน เป็นผลจากแนวโน้มการใช้งานดาต้าที่เพิ่มขึ้นจาก 3.6 กิกะไบต์ต่อเดือน ในปี 2559 เป็น 6.7 กิกะไบต์ต่อเดือนในปี 2560 มีผลมาจากการรับชมวิดีโอผ่านมือถือที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และมีผู้ใช้งานมือถือ 4 จี คิดเป็นสัดส่วน 46% ของฐานลูกค้าทั้งหมด 40.1 ล้านเลขหมาย

ธุรกิจอินเตอร์เน็ตบ้าน เอไอเอส ไฟเบอร์ ได้ขยายบริการครอบคลุมในหัวเมืองสำคัญต่างๆ รวม 50 จังหวัด และมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 521,200 ราย ส่วนดิจิตอลคอนเทนต์ เอไอเอสออกแพ็กเกจพรีเมียมคอนเทนต์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้า อาทิ กีฬา ภาพยนตร์ และครอบครัว ผ่านแอพ AIS PLAY บนมือถือ และ AIS PLAYBOX ทางทีวี

ทำให้เอไอเอสมีรายได้ก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) เพิ่มขึ้น 16% เป็น 70,498 ล้านบาท กำไรสุทธิ 30,077 ล้านบาท จากการลงทุน

โครงข่าย 4G ต่อเนื่อง และค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่

ปัจจุบันผู้ใช้งานมือถือ 4 จีของเอไอเอส คิดเป็น 46% ของฐานลูกค้า 40.1 ล้านเลขหมาย

เพราะ 4 จี ใช่มั้ยทำให้กำไรมือถือดีขึ้น กำไรดีขึ้น แถมประชาชนผู้ใช้บริการ 2 ค่าย ร่วม 62 ล้านเลขหมาย ยังขอขยายการผ่อนชำระค่ามือถือรายเดือนออกไปไม่ได้

แล้วทำไมรัฐบาลนายกฯลุงตู่ จะต้องไปขยายค่างวดให้โดยคิดดอกเบี้ยที่ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์ิได้รับ...ใครก็ได้ช่วยตอบที...

....................................
คอลัมน์ | ทางออกนอกตำรา หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3359 ระหว่างวันที่ 22-25 เม.ย.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว