รถไฟทางคู่ "สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต" ยกระดับโลจิสติกส์ภาคใต้

20 เม.ย. 2561 | 11:07 น.
200461-1801

เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ |
การพัฒนาทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทาง จ.สุราษฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต เป็นการขยายและเชื่อมโยงโครงข่ายทางรถไฟระหว่างฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยกับพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ และมีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวระดับโลก ปัจจุบันพบว่า มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวทางทะเล ในพื้นที่ภาคใต้มากกว่า 30 ล้านคน ในจำนวนนี้ 80% มีจุดมุ่งหมายปลายทางบริเวณ จ.ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ และเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี รัฐบาลจึงให้มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเชื่อม 2 ฝั่งทะเล เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มจังหวัดใต้

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2555 และวันที่ 22 ต.ค. 2555 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาศึกษาความเหมาะสม และดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำรายละเอียดแผนงาน/โครงการ ของโครงการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อสนับสนุนและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ ทั้งฝั่งอ่าวไทย (จ.สุราษฎร์ธานี) และฝั่งอันดามัน (จ.ภูเก็ต)


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับมติ ครม. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ดำเนินการศึกษาและออกแบบทางรถไฟสายใหม่เพื่อการท่องเที่ยว เส้นทาง จ.สุราฎร์ธานี-พังงา-ภูเก็ต ของทางรถไฟ ช่วง อ.ดอกสัก - จ.สุราษฎร์ธานี ที่เชื่อมต่อกับทางรถไฟสายใต้ ตลอดจนการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ในเส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ภูเก็ต - ห้าแยกฉลอง เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของ จ.ภูเก็ต ให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว รวมทั้งแก้ไขปัญหาการจราจรอันเป็นผลกระทบจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สำหรับจุดเริ่มต้นทางรถไฟ เริ่มต้นจากสถานีคีรีรัฐนิคม ตัดผ่านทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 ต.พังกาญจน์ ไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4118 หลังจากนั้น แนวเส้นทางจะขนานไปกับทางหลวงแผ่นดิน 4118 ก่อนที่จะไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 415 ที่ ต.บ่อแสน เข้าสู่พื้นที่ จ.พังงา จากนั้นแนวเส้นทางจะปรับทิศทางไปทิศตะวันตกเฉียงใต้ขนานไปกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ผ่าน อ.ตะกั่วทุ่ง จนไปสิ้นสุดที่ กม.793 บ้านท่านุ่น รวมระยะทาง 160 กิโลเมตร วงเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) รับเรื่องไปดำเนินการ คาดว่าจะเตรียมเสนอรัฐบาลเร่งผลักดันในเร็ว ๆ นี้ต่อไป


GP-3353_180420_0004

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 12
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ส่วนต่อขยาย รถไฟทางคู่ภาคตะวันออก
ลุ้นรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว