เศรษฐกิจไทยแกร่ง! อสังหาฯ ครึ่งปีโตต่อ

20 เม.ย. 2561 | 08:08 น.
200461-1447

สศค. คงเป้าเศรษฐกิจปี 61 ที่ 4.2% แม้เจอแรงกดดัน ทั้งสงครามการค้า ปัญหาในซีเรีย เหตุตัวเลขไตรมาสแรกโตเกินคาด ทั้งภาคส่งออก-ท่องเที่ยว ด้าน เอกชนมองต่าง สงครามการค้ากดดันส่งออก ปรับเป้าเหลือ 3.7% ขณะที่ ตลาดอสังหาริมทรัพย์แนวโน้มดีขึ้น ทั้งการเปิดตัวโครงการใหม่ ยอดขายและยอดโอนที่เพิ่มขึ้น

นายศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
ว่า สศค. ยังคงเป้าหมายการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2561 ไว้ที่ 4.2% เพราะตัวเลขไตรมาส 1 ที่ออกมา ดีกว่าคาดมาก ทั้งการส่งออกที่ขยายตัวสูงถึง 17.7% จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเกินเป้าหมาย ยอดการเบิกจ่ายของรัฐบาลเพิ่มขึ้น สะท้อนว่า ไตรมาสแรกยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกที่กดดัน และข่าวดี คือ ไทยไม่ติดในรายชื่อที่สหรัฐฯ ระบุว่า แทรกแซงค่าเงินเพื่อผลทางการค้า


BN-WP360_TRADE_P_20171214152515

ส่วนปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ นั้น ไม่กระทบต่อสินค้าไทยโดยตรง ขณะที่ สงครามที่เกิดขึ้นในซีเรีย ถือว่า ยังห่างไกลจากไทยมาก และไทยไม่ได้ซื้อน้ำมันจากซีเรีย

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2561 ฟื้นตัวต่อเนื่องที่ 3.9% ตามแรงส่งของภาคการส่งออก ภาคท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ แต่ไทยยังเผชิญปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุม 3 ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น กระแสกีดกันทางการค้า ซึ่งกระทบทั้งในระดับรายสินค้าและรายประเทศคู่ค้า โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ประเทศจีนที่มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ในปี 2560 สูงถึง 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเผชิญกระแสการโยกย้ายเงินทุน ในช่วงที่รอความชัดเจนจากประเด็นการค้า อาจทำให้ดอลลาร์อ่อนค่า สวนทางกับเงินสกุลเอเชียและเงินบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ส่งสัญญาณการปรับดอกเบี้ยชัดเจนขึ้น อาจส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว กระทบต่อค่าเงินและสินทรัพย์ทั่วโลกให้ผันผวน และสุดท้ายกระแสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศแกนหลักของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะมีผลต่อทิศทางผลตอบแทนในตลาดการเงินโลกและไทยได้

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2561 จากเดิม 4.0% เหลือ 3.7% เนื่องจากการลงทุนของภาคเอกชนยังไม่ฟื้นกลับมาอย่างที่คาดการณ์ไว้ เพราะขาดความเชื่อมั่น หลังจากเลื่อนการเลือกตั้งจากเดิมที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้เป็นต้นปี 2562 ส่งผลให้ภาคเอกชนตัดสินใจเลื่อนการลงทุนออกไปเป็นปีถัดไป เพื่อรอความชัดเจน ซึ่งสะท้อนการปรับลดการลงทุนของภาคเอกชนจาก 3.8% เหลือ 2.5% ขณะที่ การบริโภคภาคเอกชนปรับลดจาก 3.4% เหลือ 3.1% ส่วนการบริโภคภาครัฐลดลงจาก 3.5% เหลือ 3.3%


GP-3358_180420_0005
ขณะเดียวกัน ที่สงครามการค้าถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดัน เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากไทยเป็นห่วงโซ่การส่งออก หากสถานการณ์รุนแรง โดยสหรัฐฯ ส่งสัญญาณขึ้นกำแพงภาษีชัดเจน จะมีผลทำให้ภาคส่งออกไทยได้รับผลกระทบพ่วงไปด้วย จึงปรับการเติบโตของส่งออกปีนี้เหลือในรูปเงินบาท เติบโตเพียง 5.5% จากเดิมที่คาดเติบโต 5.6% แต่หากดูการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ ยังเติบโตอยู่ที่ 7.4% จากคาดการณ์เดิมที่ 4.5%

ไตรมาสแรกปีนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมแนวโน้มดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2560 ไม่ว่าจะเป็น การเปิดตัวโครงการใหม่ ยอดขายและยอดโอนที่ขยายตัวเพิ่ม จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ประกอบกับการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างหนักและต่อเนื่อง เร่งกระตุ้นยอดขายตั้งแต่ต้นปี ทั้งนี้ นายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ณ ไตรมาสแรกปี 2561 เอพีสามารถสร้างยอดขายได้แล้วถึง 10,000 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 168% โดยสินค้าแนวราบเติบโตสูงถึง 64% หรือเท่ากับ 5,200 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมโตถึง 770% หรือเท่ากับ 4,800 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้แล้ว 30% ของเป้ายอดขายปี 2561 ที่ตั้งไว้ 33,500 ล้านบาท


download

“เชื่อว่า กำลังซื้อในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีอยู่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มตลาดที่อยู่อาศัยระดับบน เนื่องจากเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูงและได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจไม่มากนัก สำหรับภาพรวมตลาดในไตรมาส 2 เชื่อว่า การแข่งขันจะเข้มข้นกว่าในไตรมาสที่ผ่านมา ด้วยจำนวนโครงการใหม่ที่จะทยอยเปิดตัวมากขึ้น และด้านซัพพลายที่ตอบโจทย์ตลาดระดับกลางบนขึ้นไป ยังคงได้รับการตอบรับที่ดี”

ขณะที่ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ไตรมาสแรกของปี 2561 โดยรวมการยื่นขอกู้กับยอดการโอนในโครงการต่าง ๆ นั้น ยังคงมีทิศทางสอดคล้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มตลาดบนเป็นไปอย่างคึกคัก สำหรับโครงการเปิดใหม่นั้น พบส่วนใหญ่โครงการถูกพัฒนาเพื่อเน้นกลุ่มลูกค้าต่างชาติมากขึ้น เช่น ชาวจีน ขณะเดียวกันบริษัทผู้พัฒนาจะมีการควบรวม หรือ ร่วมทุนกับต่างชาติมากขึ้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,358 วันที่ 19-21 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'วิจัยกรุงศรี' ประเมินผลกระทบต่อ 'เศรษฐกิจไทย' กับการ 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' ปี 61
"อีอีซี" หัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโต


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว