ไทยหนุน 'อินโด-มาเลย์' ต้านอียู "เลิกน้ำมันปาล์ม"

18 เม.ย. 2561 | 10:43 น.
180461-1727

ไทยลงนามร่วม “อินโดฯ-มาเลย์” ต้าน ‘อียู’ กำหนดมาตรฐานปาล์มนำเข้าใหม่ ขณะ คน. บีบโรงสกัด-โรงกลั่น ห้ามซื้อปาล์มต่ำกว่าราคาตลาดโลก ด้าน เกษตรกรเสนอเก็บภาษีนำเข้าถั่วเหลือง หลังภาษี 0% เปิดช่องนำเข้า ผลิตขายแข่งปาล์มขวด

จากกระแสต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มในอาหารของสหภาพยุโรป (อียู) อ้างรายงานด้านวิทยาศาสตร์ว่า น้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัวก่อให้เกิดโรคหัวใจ ประกอบกับ เอ็นจีโอมีการรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้น้ำมันปาล์ม เพราะอาจจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า ทำให้เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2560 ทางอียูได้มีมติเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจากน้ำมันพืช ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันจากต้นปาล์ม ถั่วเหลือง ข้าวโพด และเรพซีด ภายในปี 2563


MP24-3245-1

นอกจากนี้ ได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบย้อนกลับมากขึ้น เช่น การใช้มาตรฐาน CSPO (Certified Sustainable Palm Oil) เพื่อรับรองการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานจาก Round Table on Sustainable Palm Oil (RSPO) เป็นมาตรฐานบังคับเพียงมาตรฐานเดียว และการกำหนดพิกัดศุลากรใหม่สำหรับน้ำมันปาล์มที่ได้รับรองมาตรฐาน CSPO และการใช้กลไกทางภาษีสำหรับสินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มรายใหญ่ อย่าง อินโดนีเซียและมาเลเซีย มีผลกระทบทันที และร่วมกันคัดค้าน พร้อมเชิญไทยเข้าร่วมด้วยนั้น

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แม้กรมจะเป็นหน่วยงานที่ไม่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ แต่ทราบว่า ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศและกรมการค้าต่างประเทศของไทย ได้ร่วมลงนามคัดค้านกฎหมายนำเข้าปาล์มของอียูแล้ว และมีหลายประเทศที่เข้าร่วม


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ขณะที่ สถานการณ์ปาล์มน้ำมันจากที่กรมได้ประกาศราคาแนะนำให้ผู้ประกอบการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบให้สอดคล้องกับราคาในตลาดโลก เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 ราคาน้ำมันปาล์มดิบโลก 19.50 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคาผลปาล์มควรที่จะได้ราคา 3.30 บาทต่อ กก. จึงจะเป็นธรรมกับผู้ซื้อและผู้ขาย

นายพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ราคาประกาศแนะนำของกรมการค้าภายในใช้ไม่ได้ผล เพราะไม่มีบริษัทใดจะซื้อผลปาล์มราคาสูงมาขายขาดทุน โดยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2561 ราคาผลปาล์มน้ำมันที่ จ.กระบี่ อยู่ที่ 3.20 บาท/กก. ราคาลานเทอยู่ที่ 2.90 บาท ถ้าลานเทไกลออกไปอยู่ที่ 2.60 บาทต่อ กก. ดังนั้น ขอเสนอให้เก็บภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากปัจจุบันภาษี 0% ทำให้นำเข้ามามาก และมาผลิตเป็นน้ำมันถั่วเหลืองแข่งกับน้ำมันปาล์มขวด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 09
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กนป.จี้ดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบแก้ราคาตก
พาณิชย์ผนึกก.พลังงานลดสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในปท.


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว