กระทรวงเกษตรฯเดินหน้าแก้โกงสหกรณ์สโมสรรถไฟ-ยันไม่กระทบสภาพคล่อง

17 เม.ย. 2561 | 15:32 น.
- 17 เม.ย. 61 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำชับกรมส่งเสริมสหกรณ์เร่งสางปัญหาทุจริตสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด หลังมีกระแสข่าวสมาชิกสหกรณ์ 15 แห่งที่เป็นเจ้าหนี้วิตกกังวลถึงผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว พร้อมยืนยันขณะนี้สภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์สโมสรรถไฟและสหกรณ์เจ้าหนี้ยังมีเงินหมุนเวียนและสามารถดำเนินธุรกรรมได้ตามปกติ วอนหยุดสร้างกระแสให้เกิดความตื่นตระหนก  พร้อมเดินหน้าทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ เพื่อหาทางชำระหนี้คืนได้โดยเร็ว

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหาการทุจริตของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด หลังเกิดกระแสข่าวว่าสมาชิกสหกรณ์ที่เป็นเจ้าหนี้และผู้ฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด 15 แห่ง มีความวิตกกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการผ่อนชำระหนี้คืนและทำให้สหกรณ์เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน 15 แห่ง ขาดสภาพคล่องทางการเงินด้วยนั้น n20160526151057_22841

ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ขอยืนยันว่าขณะนี้สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ยังสามารถผ่อนชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ตามปกติทุกเดือน ฐานะทางการเงินของสหกรณ์สโมสรรถไฟปัจจุบัน มีสินทรัพย์ 4,300 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินทุน 700 ล้านบาท หนี้สิน 3,600 ล้านบาท หุ้น 705 ล้านบาท และทุนสำรองอีก 35 ล้านบาท ซึ่งแต่ละเดือนสหกรณ์จะมีเงินหมุนเวียน ซึ่งเป็นเงินที่สมาชิกผ่อนชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืนให้สหกรณ์ประมาณ 53 ล้านบาท โดยเงินส่วนนี้ทางสหกรณ์ได้แบ่งไปจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้ได้ตรงตามสัญญา

สำหรับฐานะทางการเงินของสหกรณ์เจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน 15 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก เป็นสหกรณ์ที่มีสินทรัพย์เกิน 5,000 ล้านบาท จำนวน 4 แห่ง สหกรณ์ที่มีสินทรัพย์ระหว่าง 2,000-5,000 ล้านบาท 7 แห่ง และมีสหกรณ์ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาทแต่ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท 4 แห่ง ซึ่งเมื่อเทียบสัดส่วน การปล่อยกู้และการนำเงินมาฝากไว้ที่สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟกับสินทรัพย์ที่ทั้ง 15 สหกรณ์มีอยู่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15% มีจำนวน 5 แห่ง และสัดส่วนระหว่าง 5-10% มี 3 แห่ง ที่เหลือต่ำกว่า 5% จำนวน 7 แห่ง

ซึ่งหากจะมองถึงผลกระทบด้านสภาพคล่องทางการเงินของสหกรณ์เจ้าหนี้และสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากไว้กับสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ ยังไม่มีความน่ากังวลใดๆ เนื่องจากสหกรณ์เหล่านี้ยังคงดูแลและปล่อยกู้ให้แก่สมาชิกของตนเองได้ตามปกติ

S104 “อยากฝากถึงสมาชิกสหกรณ์ที่นำเงินมาฝากกับสหกรณ์สโมสรรถไฟทั้ง 15 แห่ง ที่มีความกังวลใจว่าสหกรณ์ของตนเองนั้นยังมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่หรือไม่ ให้ไปสอบถามจากคณะกรรมการและฝ่ายจัดการสหกรณ์ของตนเอง ซึ่งจะได้ทราบข้อมูลที่แท้จริง ว่าฐานะทางการเงินของสหกรณ์ขณะนี้เป็นอย่างไร เพื่อให้คลายความวิตกกังวล

ทั้งนี้ กรมฯขอเรียนว่าสหกรณ์ทั้ง 15 แห่ง เป็นสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงทางการเงิน และในปัจจุบันยังมีสภาพคล่องและสามารถให้บริการแก่สมาชิกสหกรณ์ได้ตามปกติ ซึ่งกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์สโมสรรถไฟอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับสหกรณ์เจ้าหนี้ทั้ง 15 แห่งและสหกรณ์อื่นๆ ด้วย” นายพิเชษฐ์ กล่าว

ทั้งนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่อาจจะต้องมีการปรับตัวในช่วงฟื้นฟูกิจการ          ซึ่งจากที่กรมส่งเสริมสหกรณ์มีคำสั่งนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ 2/2561 วันที่ 2 เม.ย. 2561 ให้คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด ชุดที่ 12 พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และแต่งตั้งคณะกรรมการเป็นการชั่วคราวจำนวน 15 ราย เข้าไปบริหารงานและกำหนดแนวทางฟื้นฟูกิจการของสหกรณ์ให้ดีขึ้น

เบื้องต้นได้มีการเจรจากับเจ้าหนี้ของสหกรณ์เพื่อขอลดดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากลง 1% ทุกสัญญา เพื่อให้สหกรณ์มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และอาจขอ พักหนี้ไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้สหกรณ์มีเงินเหลือไว้สำหรับปล่อยกู้ให้แก่สมาชิก เพื่อจะได้มีรายได้กลับคืนมาและสามารถชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ได้ในที่สุด โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเร่งทำงานให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นจึงมีการประชุมวิสามัญเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาดำเนินงานต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้เร่งรัดให้ดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายคืน โดยเฉพาะวงเงินที่ได้มีการปล่อยกู้ให้กับสมาชิก 6 ราย รวม 199 สัญญา เป็นจำนวนเงิน 2,285.87 ล้านบาท เบื้องต้นได้ประสานกับปปง.ในการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินของผู้ที่กู้เงินจากสหกรณ์ทั้ง 6 ราย ว่ามีการรั่วไหลไปยังบุคคลภายนอกอย่างไร และอาจต้องนำที่ดินที่ทางสมาชิกทั้ง 6 รายได้จำนองไว้ หรือนำทรัพย์สินของสมาชิกที่กู้เงินไปมาขายทอดตลาด เพื่อนำเงินกลับคืนมา ซึ่งเงินที่ได้มานั้นจะช่วยเสริมสภาพคล่องให้ระบบสหกรณ์  และสามารถรองรับการทำธุรกรรมทางการเงินของสมาชิกได้คล่องตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับการชำระหนี้เงินกู้ต่างๆ ให้กับเจ้าหนี้ได้

สำหรับปัญหาการทุจริตของสหกรณ์ออมทรัพย์สโมสรรถไฟ จำกัด เกิดขึ้นระหว่างปี 2555–2559  คณะกรรมการสหกรณ์ฯได้อนุมัติและจ่ายเงินกู้ให้กับสมาชิก 6 ราย รวม 199 สัญญา เป็นจำนวนเงิน 2,285.87 ล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงินกู้เกินกว่าระเบียบของสหกรณ์ ซึ่งความเสียหายดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการชุดที่ 7,8,9,10 และ 11 ซึ่งนายทะเบียนสหกรณ์ได้มีคำสั่งที่ (สสพ.1) 33/2560 สั่ง ณ วันที่ 25 ต.ค. 2560 ให้คณะกรรมการชุดที่ 12 แก้ไขข้อบกพร่อง โดยให้ดำเนินคดีเพื่อเรียกค่าเสียหายกับคณะกรรมการชุดที่ 7, 8, 9, 10 และ 11 ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 10 ม.ค. 2561 รวมเวลา 75 วัน แต่เมื่อครบกำหนดตามคำสั่งแล้ว คณะกรรมการชุดที่ 12 ก็ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด ไม่ดำเนินการตามคำสั่ง ถือเป็นการกระทำการและงดเว้นการทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง จนเป็นเหตุให้เสื่อมเสียผลประโยชน์ของสหกรณ์และสมาชิก นายทะเบียนจึงได้มีคำสั่งปลดคณะกรรมการชุดที่ 12 ออกทั้งคณะตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2561 ที่ผ่านมา และได้ใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งพรบ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ดำเนินการฟ้องคดีแทนสหกรณ์ โดยได้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับคณะกรรมการฯ ชุดที่ 7-11 จำนวน 26 คน ที่กระทำการให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานสอบสวนของสน.บางรักและปทุมวัน

สำหรับคดีแพ่ง นายทะเบียนสหกรณ์ ได้ส่งเรื่องถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 2561 เพื่อยื่นฟ้องกลุ่มคณะกรรมการฯ ดังกล่าว ที่บริหารงานทำให้เกิดความเสียหายในสหกรณ์ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของพนักงานอัยการ ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าว ต้องรอให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย