คนไทยแห่ช็อป 'ร้านสะดวกซื้อ'! เหตุโดนใจผู้บริโภค คาด 3-5 ปี ส่วนแบ่งตลาดพุ่ง 30%

17 เม.ย. 2561 | 12:27 น.
170461-1908

‘กันตาร์’ ชี้! ทิศทางตลาดคอนซูเมอร์ปี 61 ดีสุด โต 3% ... โลคัลแบรนด์โตได้ดีกว่าอินเตอร์แบรนด์ เหตุปรับตัวได้เร็วและมีนวัตกรรมสินค้า ขณะที่ ช่องทางจำหน่ายแบบร้านสะดวกซื้อ เติบโตได้ดีสุด จาก 3 ปัจจัยสำคัญ การเข้าถึงลูกค้าได้ดี ตอบรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง และการผสานช่องทางออนไลน์-ออฟไลน์ คาด 3-5 ปี สัดส่วนพุ่ง 30%

รอบปีที่ผ่านมา การเติบโตของกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ตกต่ำมากที่สุดในรอบ 10 ปี
ด้วยอัตราการเติบโตที่ติดลบ 0.4% โดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.42 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคทั้งประเทศ ขณะที่ รายได้ของผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ตามภาวะเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางกับหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้ภาพรวมของตลาดสินค้าดังกล่าวลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง


DP8dk-cU8AA82uV

ส่วนแนวโน้มของตลาดคอนซูเมอร์ในปีนี้ ประเมินว่ายังคงเป็นปีที่ยากลำบากในการทำตลาด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ภาพรวมตลาดจะติดลบถึง 1% เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่หากสถานการณ์ดีขึ้น อาจจะมีอัตราการเติบโตเป็นบวกได้ถึง 3%

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดคอนซูเมอร์ในปีนี้ยังจะมองไม่เห็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ตลาดกลับมาเติบโตได้ดีเหมือนเดิม แต่ในด้านผู้ประกอบการเจ้าของแบรนด์สินค้า ยังคงต้องปรับตัวและหากลยุทธ์มาใช้สร้างการเติบโตให้ได้อย่างต่อเนื่อง และต้องสอดคล้องไปกับพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคในช่องทางต่าง ๆ ด้วย เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต จากช่องทางการซื้อสินค้าที่สะดวกมากขึ้น อย่างเช่น ช่องทางออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ


GP-3352_180417_0006

นายฮาเวิร์ด ชาง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลด พาแนล (ไทยแลนด์)ฯ เปิดเผยว่า ภาพรวมของสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศไทย หากเป็นสินค้าแบรนด์ท้องถิ่น (Local Brand) พบว่า มีอัตราการเติบโตถึง 2% มากกว่าสินค้าจากแบรนด์ต่างประเทศ (Inter Brand) ที่มีอัตราการเติบโตเพียง 1% การที่สินค้าแบรนด์ท้องถิ่นสามารถทำได้ดี เป็นเพราะการมีนวัตกรรมสินค้า การปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี อาทิ แบรนด์สเนลไวท์และเถ้าแก่น้อย เป็นต้น ซึ่งหากเป็นแบรนด์ต่างประเทศในปีที่ผ่านมา แบรนด์สินค้าที่สามารถสร้างการเติบโตได้ดี คือ ดาวน์นี่ ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ซักผ้า จากเดิมที่มีแต่กลุ่มน้ำยาปรับผ้านุ่ม

สำหรับการเติบโตของสินค้าคอนซูเมอร์นั้น นอกเหนือไปจากการสื่อสาร การโฆษณา สินค้าผ่านสื่อต่าง ๆ รวมถึงการจัดโปรโมชันต่าง ๆ แล้ว ช่องทางจัดจำหน่ายถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เพราะสุดท้ายผู้บริโภคจะต้องมาซื้อสินค้าในช่องทางต่าง ๆ ซึ่งพบว่า ช่องทางจำหน่ายสินค้าที่เป็นโลคัลแบรนด์ที่ไม่ใช่เชนค้าปลีกจากต่างประเทศ จะสามารถสร้างการเติบโตได้ดีกว่าเชนค้าปลีกต่างประเทศ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลคัลแบรนด์เติบโตได้ดี เป็นเพราะ 1.การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ 2.การจัดส่วนผสมด้านความสะดวก และชุมชนที่ลงตัว และ 3.การผสานช่องทางออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

นายฮาเวิร์ด กล่าวอีกว่า ร้านค้าปลีกขนาดเล็กอย่างร้านสะดวกซื้อ มีอัตราการเติบโตที่ดี เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคที่ปัจจุบันอยู่ในเมืองมากขึ้น และมีครอบครัวขนาดเล็ก การมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคนส่วนใหญ่หันมาบริโภคอาหารพร้อมรับประทานมากขึ้น การบริการที่ครบถ้วนสะดวกสบาย ร้านค้าอยู่ใกล้บ้านและสินค้าราคาถูก ซึ่งร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศมีบริการที่มากกว่าความสะดวกสบาย และขายสินค้าราคาถูกเท่านั้น เช่น บริการตัดผม บริการเครื่องซักผ้า รับสินค้าออนไลน์ บริการไปรษณีย์ เป็นต้น

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ร้านสะดวกซื้อมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นปีละ 0.5% ปัจจุบันมีสัดส่วน 17% ซึ่งคาดว่าใน 3-5 ปี จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 30% ซึ่งที่ผ่านมา ช่องทางที่เติบโตได้ดี นอกจากร้านสะดวกซื้อ คือ ช่องทางออนไลน์ ที่คาดว่ายังจะเติบโตเป็น 100% ส่วนไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ตก็เริ่มทรงตัวเช่นกัน”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29-31 มี.ค. 2561 หน้า 34
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ซีเจ เอ็กซ์เพรส เร่งสปีด สู้ศึกร้านสะดวกซื้อไทย
“พาณิชย์” เร่งห้างค้าปลีก-ร้านสะดวกซื้อเปิดบริการ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว