"ธอส.-ออมสิน" เอาใจผู้สูงอายุ

16 เม.ย. 2561 | 10:30 น.
160461-1710

‘ออมสิน’ ประกาศเป็น “ธนาคารผู้สูงวัยที่ดีที่สุด” เพื่อดูแลผู้สูงวัยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เล็งแยกพอร์ตมาเป็น ‘ธนาคารผู้สูงวัย’ ภายใต้ออมสิน จับแมตช์กันเองระหว่างเงินฝากกับเงินกู้ ด้าน ธอส. เตรียมออกสินเชื่อคงที่ยาว 20 ปี เพื่อสร้างความมั่นคงให้ผู้สูงอายุมีบ้านอาศัยไปจนเสียชีวิต

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ภายใต้แผนงานในปี 2561 ได้ตั้งเป้าหมายจะเป็น “ธนาคารผู้สูงวัยที่ดีที่สุด” ขณะนี้ ถือว่ามีโปรดักต์เรื่องของผู้สูงวัยมากที่สุด อย่างเช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ หรือ รีเวิร์ส มอร์เกจ เป็นรายแรกรายเดียวของไทย ที่แม้แต่ธนาคารที่ดูแลเฉพาะเรื่องบ้านก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยโครงการดังกล่าวจะให้ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้ว แต่มีบ้านเป็นของตัวเองและปลอดภาระหนี้ สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อ แล้วทยอยเบิกเงินไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันไปจนกว่าจะเสียชีวิต

 

[caption id="attachment_275794" align="aligncenter" width="503"] © ธนาคารออมสิน © ธนาคารออมสิน[/caption]

“แม้เราจะเปิดตัวโครงการไปตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่มียอดมายื่นขอสินเชื่อประมาณ 2 พันล้านบาทเท่านั้น จากที่ตั้งเป้าไว้จะให้ได้ 5,000-10,000 ล้านบาท ภายในปีนี้ ส่วนหนึ่งเพราะลูกค้ายังไม่เข้าใจนักและยังทำตลาดและประชาสัมพันธ์น้อย เพราะขณะนี้ ไปมุ่งเรื่องดูแลผู้มีรายได้น้อยตามนโยบายรัฐมาก แต่เราเตรียมการจะทำการตลาดมากขึ้น”

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อบ้านกตัญญูดูแลบุพการี ถ้าใครที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายายอยู่ด้วย จะลดดอกเบี้ยให้ โดยปีแรกคิด 0% และถ้านำบุพการีมาอยู่ร่วมในภายหลังจากนั้น 6 เดือน ก็จะลดดอกเบี้ยให้ ส่วนสินเชื่อประชารัฐเพื่อผู้สูงวัย เหมือนกับสินเชื่อประชาชนที่ให้พ่อค้าแม่ค้าที่อยู่ในตลาดมากู้ แต่จะขยายอายุจากเดิม 60 ปี เป็น 70 ปี เพราะมองว่า อายุ 60 ปี บางคนยังค้าขายได้ เพื่อให้เขามีอาชีพและมีรายได้


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ด้าน เงินฝากเอง จะให้ดอกเบี้ยพิเศษ ซึ่งมี 2 ตัว โดยตัวหนึ่งเป็นเงินฝากเผื่อเรียกประชารัฐผู้สูงวัย ซึ่งจะให้ดอกเบี้ย 2 เท่าของเผื่อเรียกปกติ ที่ได้ 0.5% แต่เราให้ 1% ถอนได้ไม่มีเงื่อนไข ส่วนตัวที่ 2 เป็นเงินฝากเผื่อเรียกพิเศษผู้สูงวัย เป็นเงินฝากเพื่อผู้สูงวัย คล้าย ๆ เงินฝากประจำ 2 ปี โดย 6 เดือนแรก ได้ 1%, 6 เดือนที่ 2 จะได้ 1.5%, 6 เดือนที่ 3 ได้ 2% และ 6 เดือนที่ 4 ได้ 3% ซึ่งปกติดอกเบี้ยได้ 1% นิด ๆ แต่เราก็ให้ดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ผู้สูงวัยมีรายได้มากขึ้น

สิ่งสำคัญสำหรับผู้สูงวัย คือ ต้องพยายามหารายได้ให้เขา คือ ให้ดอกเบี้ยพิเศษ และกู้ไปทำมาหากินได้ ขณะเดียวกัน สำหรับคนที่ดูแลเทกแคร์ผู้ใหญ่ ก็จะให้กับลูกหลานที่ดูแลด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อเรามีกำไรแล้ว ก็นำเงินกำไรส่วนนี้ไปดูแลมูลนิธิผู้สูงวัย บ้านพักคนชรา และอีกส่วนหนึ่ง คือ ดูแลให้เขามีที่อยู่อาศัยไปจนกว่าจะเสียชีวิต ซึ่งถือว่าครบ”

 

[caption id="attachment_275795" align="aligncenter" width="503"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน[/caption]

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต ธนาคารมีแผนที่จะแยกบัญชีดูแลผู้สูงอายุออกมาให้เหมือนกับ ‘ธนาคารผู้สูงอายุ’ ที่อยู่ภายใต้ออมสิน โดยจะเป็นการบริหารระหว่างนำเงินฝากของผู้สูงวัยที่ได้ผลตอบแทนสูงมาปล่อยกู้ในฝั่งผู้สูงวัยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ ฝั่งเงินฝากมี 3-4 หมื่นล้านบาทแล้ว แต่ฝั่งสินเชื่อยังมาไม่เยอะ ใช้ไปกว่า 1 พันล้านบาท แต่จะค่อย ๆ บาลานซ์ ให้พอร์ตนี้มันสมดุลกันเอง ซึ่งหากทำประมาณ 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้ จากพอร์ต 2 ล้านล้านบาท ก็เพียง 0.5% และหากเพิ่มเป็น 1 แสนล้านบาท ก็เพียง 5% โดยไม่ต้องการกำไรจากพอร์ตนี้อยู่แล้ว

ด้าน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธนาคารออกสินเชื่อบุพเพสันนิวาส ด้วยการให้ดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว 10 ปี สำหรับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ในระหว่างที่ยังไม่สามารถทำสินเชื่อรีเวิร์ส มอร์เกจ ได้ เนื่องจากภายใต้กฎหมายปัจจุบันของ ธอส. ระบุภารกิจหลักเพื่อให้คนมีบ้าน แต่การทำรีเวิร์ส มอร์เกจ จะทำให้คนไม่มีบ้าน เพราะเป็นการนำบ้านมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินกับธนาคาร แล้วทยอยเบิกเงินไปใช้เป็นงวด ๆ จนกว่าจะเสียชีวิต

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ขณะนี้ ร่างแก้ไขกฎหมาย ธอส. ได้ผ่านการตรวจร่างจากคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว รอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหากกฎหมายผ่าน จะทำให้อำนาจการออกพันธบัตรเป็นของคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่อนุมัติได้เลย จากปัจจุบัน ที่จะต้องเสนอกระทรวงการคลัง เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ทำให้การดำเนินการล่าช้า ไม่ทันกับสถานการณ์ดอกเบี้ยในตลาด และหากกฎหมายผ่าน จะทำให้ ธอส. สามารถออกสินเชื่อเพื่อดูแลผู้สูงอายุได้เป็นซีรีส์ ที่สามารถยังคงดอกเบี้ยได้ยาวขึ้น โดยมีแผนจะออกสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี และขยายได้อีก 5 ปี และอายุ 10 ปี และขยายได้อีก 10 ปี ขึ้นกับว่า ดอกเบี้ยในวันนั้นอยู่ที่ระดับเท่าไร

“ถ้าเราออกพันธบัตรได้เอง ก็จะทำให้สามารถออกสินเชื่อคงที่ได้ระยะยาวที่มาแมตช์กับ รีเวิร์ส มอร์เกจ ได้ อย่างที่ออกสินเชื่อบุพเพสันนิวาส ดอกเบี้ยคงที่ 10 ปี ก็ออกพันธบัตรวงเงิน 3 พันล้านบาท อายุ 10 ปี ไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งช่วงนั้นเป็นจังหวะที่ดอกเบี้ยนิ่ง เลยออกยาว แต่พอออกปุ๊ป ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต่อไปดอกเบี้ยก็คงไม่ได้เท่าเดิม ต้องสูงขึ้นตามแนวโน้มดอกเบี้ยโลกด้วย แต่ตามแผนงานในแต่ละแผน เราอยากจะมีสินเชื่อเพื่อดูแลคนสูงอายุ วงเงินประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งธนาคารพาณิชย์ไม่ทำอยู่แล้ว”

 

[caption id="attachment_275796" align="aligncenter" width="503"] © ธอส. © ธอส.[/caption]

อย่างไรก็ตาม การกำหนดให้ผู้กู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ก็เพราะเห็นว่า เป็นช่วงอายุที่ต้องเตรียมตัวแล้ว มีรายได้เสถียรไปจนถึงอายุ 65 ปีได้ ดังนั้น ช่วงเวลาการผ่อนชำระ 15 ปี กำลังดี เพราะคนเราถ้าอายุมากขึ้น ก็ต้องการอะไรที่มั่นคงระยะยาว ไม่ใช่มานั่งกังวลว่า เมื่อดอกเบี้ยขึ้นแล้ว จะมีความสามารถผ่อนชำระได้หรือไม่ เพราะผู้สูงอายุไม่มีรายได้อยู่แล้ว


GP-3357_180416_0002

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,357 วันที่ 15-18 เม.ย. 2561 หน้า 11
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ย้อนมองการเปลี่ยนแปลง "สังคมผู้สูงอายุ" ในสังคมโลก สู่การเร่งวางแผนในสังคมไทย
ธอส.เปิดทางใช้สินเชื่อบุพเพสันนิวาสเปลี่ยนเป็นสินเชื่อผู้สูงอายุ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว