เปิดร่างกฎหมายการเงินฐานราก ดึงแบงก์รัฐเป็นแม่ข่ายให้แหล่งเงินชุมชน

25 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
จากกรณีที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ เตรียมดัน ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงินระดับฐานราก พ.ศ... เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เร็วๆนี้

[caption id="attachment_27756" align="aligncenter" width="600"] กรอบความคิดเศรษฐกิจฐานราก กรอบความคิดเศรษฐกิจฐานราก[/caption]

"ฐานเศรษฐกิจ" สรุปสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การเงินฐานรากฯ ฉบับนี้มานำเสนอ โดยร่างกฎหมายดังกล่าวมี 6 หมวด 35 มาตรา คือ หมวด 1 คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินฐานราก หมวด 2 แผนแม่บทการพัฒนาระบบการเงินฐานราก หมวด 3 โครงข่ายการเงินระดับฐานราก หมวด 4 กองทุนพัฒนาระบบการเงินฐานราก หมวด 5 การกำกับดูแลและความมั่นคงระยะยาว และหมวด 6 บทกำหนดโทษ

มีเป้าหมาย เพื่อพัฒนา ยกระดับองค์กรการเงินระดับฐานราก ที่ดำเนินกิจการให้บริการด้านการเงินขั้นพื้นฐานทั่วไป อาทิ รับฝากเงิน ให้สินเชื่อ ชำระเงิน โอนเงิน เช่าซื้อ ค้ำประกัน หรือสวัสดิการชุมชน อย่างหนึ่งอย่างใดแก่สมาชิก หรือวิสาหกิจในชุมชน เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ สหกรณ์ และสถาบันการจัดการเงินทุนชุมชน เป็นต้น ให้มีศักยภาพได้มาตรฐาน เอื้อประโยชน์ต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่ประชาชน และมีความมั่นคงในการดำเนินการระยะยาว

กำหนดให้มี "คณะกรรมการพัฒนาระบบการเงินฐานราก" ให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน มีกรรมการมาจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วย จากหน่วยงานภาครัฐ 11 ราย ผู้แทนองค์กรการเงินระดับฐานราก จากภูมิภาคต่างๆ 5 ราย และผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ ด้านการเงินระดับฐานราก ด้านการพัฒนาชุมชน และด้านกฎหมาย ด้านละ 1 คน รวมทั้งสิ้น 19 ราย มี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นกรรมการและเลขานุการ

คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่สำคัญ อาทิ จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบการเงินระดับฐานรากเสนอต่อ ครม. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องมีสาระสำคัญ คือ ส่งเสริมและพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก ประเมินความเสี่ยงของระบบการเงินระดับฐานราก และคุ้มครองประชาชนในระบบการเงินระดับฐานราก เป็นต้น

กำหนดให้ "ธนาคารเฉพาะกิจของภาครัฐ" ทำหน้าที่เป็น "แม่ข่าย" ของโครงข่ายการเงินระดับฐานราก ออกระเบียบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดตั้ง "สถาบันการเงินชุมชน" เพื่อเป็น "ลูกข่าย" โดยเน้นพื้นที่ที่มีองค์กรการเงินระดับฐานรากดำเนินการอยู่อย่างเข้มแข็ง รวมถึงการคัดเลือกองค์กรการเงินระดับฐานรากเข้าเป็นลูกข่าย ตลอดจนออกเกณฑ์การเพิกถอนและการพ้นสภาพจากการเป็นลูกข่าย กรณีที่แม่ข่ายมีมากกว่าหนึ่งให้ แม่ข่ายมีอำนาจในการเชื่อมโยง จัดทำระบบข้อมูล รวมถึงตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมทางการเงินของลูกข่ายและสมาชิก ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศไว้

และกำหนดมาตรฐานคุณภาพ มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการบริหารจัดการความเสี่ยง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินคุณภาพของแม่ข่ายและลูกข่าย รวมทั้งดำเนินการเพื่อเพิ่มความมั่นคงและความยั่งยืนของการดำเนินการของโครงข่ายการเงินระดับฐานราก

รวมทั้งกำหนดอัตราส่วนแบ่งของกำไร อันได้จากการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายการเงินระดับฐานรากไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง เพื่อให้แม่ข่ายจัดสรรเงินดังกล่าวมาให้กับกองทุนในแต่ละปี พร้อมแต่งตั้งผู้ตรวจสอบเพื่อตรวจสอบและประเมินผลการบริหารจัดการของลูกข่าย และรายงานผลการดำเนินการ ปัญหาและอุปสรรค ให้ครม.และสาธารณชนทราบ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เป็นต้น

นอกจากนี้กำหนดให้มี "กองทุนพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก" ใน "สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง" เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบการเงินระดับฐานราก รายได้หลักมาจากส่วนแบ่งกำไรอันได้จากการดำเนินงานที่เกี่ยวเนื่องกับโครงข่ายการเงินระดับฐานรากในแต่ละปี โดยให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังเก็บรักษาเงินและทรัพย์สินของกองทุน และดำเนินการเบิกจ่ายกองทุน โดยให้มีระบบบัญชีที่เหมาะสม

ส่วนการดูแลกำกับระยะยาว กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการดำเนินการให้ลูกข่ายจัดทำงบดุล และเปิดเผยงบดุลและรายงานผลการดำเนินการประจำปีต่อสมาชิก และสาธารณชน รวมทั้งต้องจัดส่งให้แม่ข่าย ทั้งยังกำหนดให้ผู้ตรวจสอบ แม่ข่าย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการมอบหมายสามารถออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ คณะกรรมการดำเนินการของลูกข่าย หรือสมาชิก มาชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการของลูกข่าย หรือ ให้ส่งรายงานการประชุม เอกสาร ของลูกข่าย และสมาชิกที่จำเป็นแก่การกำกับดูแล รวมถึงการเข้าไปตรวจสอบในสำนักงานของลูกข่ายในเวลาทำงานของลูกข่ายได้ โดยผู้เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แจงแก่ผู้ปฏิบัติการตามสมควร และหากไม่มาชี้แจง ไม่ส่งเอกสารตามคำสั่งของผู้ตรวจสอบ แม่ข่าย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่คณะกรรมการมอบหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท กรณีขัดขวาง หรือไม่ให้คำชี้แจง มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ทั้งนี้ กรณีที่ แม่ข่าย เสนอแนะให้คณะกรรมการดำเนินการของลูกข่ายกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของตน แก้ไขข้อบกพร่อง หรือระงับการปฏิบัติบางส่วนที่เป็นเหตุให้เกิดข้อบกพร่อง เสื่อมเสียผลประโยชน์ของลูกข่ายหรือสมาชิก หากไม่ดำเนินการแก้ไขระยะเวลาที่กำหนด แม่ข่ายสามารถเสนอต่อคณะกรรมการให้เพิกถอนการเป็นลูกข่ายได้

คาดว่าภายในปีนี้ คงได้เห็นชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินทุนนอกระบบและลดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559