ย้อนมองการเปลี่ยนแปลง "สังคมผู้สูงอายุ" ในสังคมโลก สู่การเร่งวางแผนในสังคมไทย

15 เม.ย. 2561 | 18:33 น.
แม้ในสังคมไทยการมอบพื้นที่และโอกาสในการทำงานให้แก่เด็ก วัยรุ่น และการทำงาน จะมากกว่าผู้สูงอายุมาโดยตลอด สืบเนื่องจากการยึดติดในระบบคิดแบบเก่า ที่ผู้สูงอายุมักถูกนำเสนอในฐานะผู้ประสบกับภาวะถดถอย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ มิควรทำงานหนัก ควรจะได้พักผ่อนอยู่กับบ้านและดูแลลูกหลาน ผู้สูงอายุจึงถูกมองว่า เป็น ‘วัยพึ่งพิง’ มีสุขภาพไม่ดี มีความสามารถในการทำงานลดลง รวมถึงไม่สามารถทำงานได้ ผลกระทบที่ตามมาถึงการมีรายได้ที่น้อยลง จนถึงไม่มีรายได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเลือกปฏิบัติและลดบทบาทของผู้สูงอายุในการมีส่วนร่วมในสังคมนั่นเอง

แม้ว่าการก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า จนดูเหมือนเป็นเรื่องน่ากังวล แต่การได้ศึกษาการดำเนินการจากประเทศที่มีการเตรียมพร้อมมาก่อน ถือเป็นการย่นระยะเวลาให้สังคมไทย สามารถเลือกและคัดกรองประเด็นที่เหมาะสมมาปรับใช้เพื่อให้เกิดความลงตัวสูงสุด จากการศึกษาวิจัยของ รศ.ดร.วิจิตรา วิเชียรชม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง “การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ” ได้อธิบายถึงการจัดการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในต่างประเทศไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

 

[caption id="attachment_275651" align="aligncenter" width="503"] © Pixabay © Pixabay[/caption]

การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในประเทศอังกฤษ รัฐบาลดำเนินการจัดสรรสวัสดิการสังคมและมีหลักประกันทางสังคมเพื่อประกันรายได้ขั้นต่ำของบุคคล โดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่รายได้ของบุคคลมีอันต้องสะดุดลง อันได้แก่ การเจ็บป่วย หรือ การประสบอุบัติเหตุ การเกษียณอายุ การขาดอุปการะ ในกรณีสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต การมีรายจ่ายเนื่องจากการเกิด การเสียชีวิต หรือ การสมรส รวมตลอดถึงการชราภาพ การพิการ และการว่างงาน

การจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุในประเทศสวีเดน ในฐานะที่ประเทศสวีเดนได้รับการยกย่องให้เป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด มีกฎหมายรับรองสิทธิของผู้สูงอายุในการได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในสิ่งที่จำเป็น ตั้งแต่ปี 2523 (ค.ศ. 1980) และได้รับการพัฒนาให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลสวัสดิการของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ให้มีความสบายทั้งร่างกายและจิตใจ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนผู้สูงอายุและการบริการกองทุนสำหรับการบริหารจัดการ และดำเนินการจัดสวัสดิการสังคมสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งมาตรการด้านการเสริมสร้างหรือป้องกัน และมาตรการด้านการเยียวยา ที่สำคัญ คือ การจัดตั้งระบบการดูแลสุขภาพระยะยาว (Health Care and Long Term Care) เพื่อให้รัฐสามารถยื่นมือช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้สูงอายุกรณีเจ็บป่วยรุนแรง นอกจากนั้น ยังมีนโยบายดูแลผู้สูงอายุชาวสวีเดนด้านที่อยู่อาศัย คือ การได้รับความช่วยเหลือจากทางเทศบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลในการช่วยซื้อปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต การบริการด้านการจัดส่งอาหาร การบริการทำความสะอาด การปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และการแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ เป็นต้น


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นอกจากนั้น เมื่อย้อนกลับมามองภาพใหญ่ในเอเชีย ‘ญี่ปุ่น’ จากสัดส่วนของประชากร และการครองอันดับ 1 ของการเป็นประเทศที่ประชากรเป็นผู้มีอายุขัยเฉลี่ยยืนยาวมากที่สุดในโลก คือ 82 ปี ทำให้ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศพัฒนาและประเทศแรกของโลกที่อยู่สถานะ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” โดยญี่ปุ่นเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2513 (ค.ศ. 1970) และผันสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2538 (ค.ศ. 1995) ก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุดในปี 2549 (ค.ศ. 2006) เป็นผลให้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นจึงมักเห็นผู้สูงอายุออกจากบ้านมาทำงานต่าง ๆ อย่างมีความสุข ตามความถนัดของตนเองเสมอ การให้ความสำคัญถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลตลอดจนหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมออกนโยบายให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ครอบคลุมในทุกสาขาอุตสาหกรรม ตั้งแต่การศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์ อาทิ เทคโนโลยีการผ่าตัด เวชศาสตร์การชะลอวัย การรักษาและการป้องกันโรคที่เกิดจากความชรา จนถึงองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาและสังคมศาสตร์ เพิ่มการมีส่วนร่วมของชุมชนผ่านสร้างกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ พร้อมกำหนดแผนระยะยาว คือ การพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกับสังคมผู้สูงวัยอย่างดีที่สุด

สำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากความตื่นตัวกับการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย จนนำไปสู่การพัฒนา การปรับเปลี่ยนและแก้ไขทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคแล้วนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เวชศาสตร์ชะลอวัยและการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างเด่นชัด นอกจากนั้น ในกลุ่มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ได้ออกแบบให้มีการก่อสร้างที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างปกติสุขของคนวัยทำงาน ตลอดไปจนถึงช่วงอายุที่เข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อสินทรัพย์ในระยะยาว รวมไปถึงบริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ ผ่านการจัดหลักสูตรการให้คำปรึกษาโดยผู้สูงวัยซึ่งมีประสบการณ์เฉพาะทางในแต่ละเรื่องอย่างทะลุปรุโปร่ง เข้ามาเป็นผู้สอนสำหรับผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจยุคใหม่อีกด้วย

 

[caption id="attachment_275653" align="aligncenter" width="503"] © Matthias Zomer © Matthias Zomer[/caption]

นอกจากนั้น แผนระยะยาว หรือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านสังคมผู้สูงวัยนั้น รัฐบาลได้มีการกำหนดและมอบหมายให้คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติสร้าง “มาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย” โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานในการวางรากฐานเพื่อสร้างความยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น การเปิดโอกาสให้มีอาสาสมัคร หรือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุในประเทศไทย ซึ่งการที่จะเป็นอาสาสมัครต้องผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรที่เป็นมาตรฐานจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นับตั้งแต่หลักสูตรระยะสั้น 18 ชั่วโมง ไปจนถึง 210 ชั่วโมง ขณะเดียวกัน ยังมุ่งสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับผู้สูงวัยผ่านการถ่ายโอนไปยังสถานสงเคราะห์ กรมกิจการผู้สูงอายุ และการจัดตั้งเนิร์สเซอรีโฮม ไม่เพียงเท่านั้น ยังเป็นสื่อกลางในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อจัดทำบ้านต้นแบบเพื่อผู้สูงอายุ หรือ จะเป็นการเดินทาง อย่างเช่น รถเมล์ชานต่ำ รถแท็กซี่ผู้สูงอายุ รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อรองรับความต้องการและความจำเป็นของผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการพัฒนาที่เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดจากการนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT เข้ามาผนวกรวมกับการดูแลสุขภาพเบื้องต้น ปัจจุบัน อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อแบบไร้สายได้พัฒนาความสามารถในการบันทึก การวิเคราะห์ และการประมวลผลอย่างรวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ เริ่มจากสายรัดหรือนาฬิกาข้อมือที่มีความสามารถในการตรวจวัดชีพจร ระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อประมวลผลสุขภาพประจำวัน รวมไปถึงระบบมอนิเตอร์สุขภาพที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัจฉริยะในบ้านของผู้สูงอายุ หรือ ผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งแพทย์สามารถตรวจวินิจฉัยอาการได้แบบเรียลไทม์ผ่านข้อมูลที่จัดเก็บด้วยระบบเซ็นเซอร์ของอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ที่สำคัญ คือ ในขณะนี้ คนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการศึกษาสุขภาพของตนเอง ผ่านการบันทึกโดยสมาร์ทโฟน ตอกย้ำถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่รวมเป็นหนึ่งกับสุขภาพและความเป็นอยู่ในทุกขณะของชีวิตอย่างแท้จริง


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ผู้สูงอายุไม่ใช่บุคคลด้อยโอกาส หรือ เป็นภาระต่อสังคม แต่สามารถมีส่วนร่วม เป็นพลังพัฒนาสังคม จึงควรได้รับการส่งเสริมและเกื้อกูลครอบครัว ชุมชน และรัฐ ให้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพ และความเป็นอยู่ให้ดีและนานที่สุด ให้สมกับคำว่า “ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม” อย่างแท้จริง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29-31 มี.ค. 2561 หน้า 09
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หนุนงบ 900 ล้านให้กองทุนสุขภาพและท้องถิ่นรองรับสังคมผู้สูงอายุ
มธ. ผุดแอพตรวจอัลไซเมอร์ด้วยเสียงพูด รับสังคมผู้สูงอายุ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว