สระแก้วแซงหน้าแม่สอด การนิคมอุตฯตอกเสาเข็มผุดนิคมฯเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษกลางปีนี้

25 ม.ค. 2559 | 02:00 น.
กนอ.ขยับแผนผุดนิคมอุตสาหกรรมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สระแก้ว-สงขลา-แม่สอด เร็วขึ้น 6 เดือน-1 ปีรับเปิดเออีซี เผยเล็งตอกเสาเข็มสร้างนิคมอุตสาหกรรม-โรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจแห่งแรก ที่ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้วกลางปีนี้ ส่วนแม่สอด-สะเดา ยังติดปัญหาเจรจาผู้บุกรุก ชี้เจรจาลูกค้าเก่า ทั้ง ปตท. และเอสซีจี รวมถึงกลุ่มทุนจีน ญี่ปุ่น ปักธงลงทุน พร้อมเตรียมเดินสายโรดโชว์ 2 เดือนข้างหน้า เน้นโลจิสติกส์-โรงงานสีเขียว-ภาคบริการ

[caption id="attachment_27753" align="aligncenter" width="600"] ที่ดินที่รัฐจัดหาให้เอกชนเช่าพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ที่ดินที่รัฐจัดหาให้เอกชนเช่าพัฒนาในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ[/caption]

ดร.วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ กนอ.ต้องปรับแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนให้เร็วขึ้น 6 เดือน- 1 ปีจากแผนเดิม หรือมีเป้าหมายเริ่มลงมือตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม โรงงานในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดสระแก้ว ที่ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ ได้ในราวกลางปี 2559 นี้ จำนวนพื้นที่ 679-2-88 ไร่ ติดกับทางหลวงชนบทสก.3085 ซึ่งเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร (อุตสาหกรรมสีเขียว) โดยพื้นที่จังหวัดสระแก้วมีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากไม่ติดปัญหาบุกรุก

อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ ขณะเดียวกันได้ออกแบบรายละเอียดไปพร้อมๆกับการยื่นขออนุญาตจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) คาดว่า ทั้งการออกแบบรายละเอียดนิคมอุตสาหกรรมและอีไอเอน่าจะเรียบร้อยกลางปีนี้ และสามารถลงมือก่อสร้างได้ทันที โดยที่ดินดิบมีราคา 4 หมื่นบาทต่อไร่ต่อปี และเมื่อพัฒนาแล้วราคา 1.6 แสนบาทต่อไร่ต่อปี

สำหรับผังพื้นที่ กนอ.ได้กันพื้นที่ 40 % จากกว่า 600 ไร่ จัดทำระบบสาธารณูปโภค อาทิ ถนน ระบบบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ ใช้งบลงทุน 1.2 ล้านบาทต่อไร่ พื้นที่ 60% จัดสรรเช่าสร้างโรงงาน คาดว่า ผู้เช่าสามารถก่อสร้างโรงงานได้ราวปลายปีนี้ ส่วนที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เนื่องจากต้องรอให้กรมธนารักษ์ และทางจังหวัดเจรจากับผู้บุกรุกให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งขั้นตอนทราบว่ายังต่อรองเกี่ยวกับค่าเยียวยา ส่งผลให้กนอ.ยังไม่สามารถออกแบบรายละเอียดของผังเพื่อเป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน กับสาธารณูปโภค และการยื่นขออนุญาตอีไอเอเพื่อสร้างนิคมไว้ล่วงหน้าเหมือนจังหวัดสระแก้วได้ เพราะเกรงว่า หากผลการเจรจา ชาวบ้านไม่ยินยอมออกจากพื้นที่ หรือมีบางส่วนต้องคืนแปลงที่ดินให้กับผู้ครอบครอง จะทำให้ต้องกลับมาปรับแบบกันใหม่ แต่เบื้องต้นทำได้เพียงวางผังที่ดินคร่าวๆไว้ก่อน คาดว่าภายในปีนี้น่าจะได้รับมอบที่ดินจากกรมธนารักษ์ และปี 2560 น่าจะดำเนินการได้ ซึ่งค่าเช่าหลังจัดทำสาธารณูปโภคแล้ว แม่สอด จังหวัดตาก จะอยู่ที่ 1.6 แสนบาทต่อไร่ต่อปี และที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ค่าเช่า 2.2 แสนบาทต่อไร่ต่อปี

ส่วนกรณีนักลงทุนที่จะเข้าพื้นที่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งในระยะแรก คือ สระแก้ว ตาก และสงขลานั้น ผู้ว่าการ กนอ.ระบุว่า ได้เจรจานักลงทุนฐานเก่าทั้งหมดให้เข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว ที่ตกลงแล้วอาทิ ปตท. และเอสซีจี เป็นต้น ส่วนนักลงทุนต่างชาติ จะเน้นลูกค้าฐานเก่าเช่นกัน เช่น จีน และญี่ปุ่น ซึ่งกนอ.จะออกเดินสายโรดโชว์อีกครั้ง 2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำการตลาดคู่ขนานกันไปกับการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นโลจิสติกส์ ภาคบริการ

ทั้งนี้ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีนโยบายให้ 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง มีนักลงทุนต้องการเข้าพื้นที่มากที่สุดและต้องเร่งรัดให้เกิดการลงทุนก่อน สำหรับระยะต่อไป คือ จังหวัดนราธิวาส นครพนม เชียงราย และกาญจนบุรีที่ กนอ.จะเลือกพื้นที่ลงทุน

แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจระยะที่ 2 กนอ.ได้ให้ความสนใจพื้นที่ที่โคกภูกระแต จังหวัดนครพนม ใกล้กับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) 1,300 ไร่ แต่ทราบว่าได้เพียง 800 ไร่ ซึ่งจะเน้นลงทุนด้านโลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์ โรงงานสีเขียว เกษตรแปรรูป พื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่อำเภอเชียงของ ที่บ้านทุ่งงิ้วกว่า 500 ไร่ คาดว่ากนอ.จะลงทุนร่วมกับเอกชนพัฒนาด้านโลจิสติกส์ ส่วนจังหวัดนราธิวาส ที่ดินเอกชน 2.2 พันไร่ ที่ประชุม กนพ.มอบให้กนอ.ลงพื้นที่ศึกษาและจัดซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว รวมถึงจังหวัดกาญจนบุรี อย่างไรก็ดีนายกรัฐมนตรียังได้มอบนโยบายช่วยเหลือชาวสวนยางโดยให้เข้ามาอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ โรงงานผลิตเกี่ยวยางทุกประเภท เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,125 วันที่ 24 - 27 มกราคม พ.ศ. 2559