นายกฯเร่งทุกฝ่ายใช้”วิทย์”สร้าง”ไทยเเลนด์ยุค4.0”

14 เม.ย. 2561 | 04:37 น.
นายกฯเร่งทุกฝ่ายใช้”วิทย์”สร้าง”ไทยเเลนด์ยุค4.0”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เราคงอยากจะเห็นประเทศไทยของเราเป็นอย่างไรนะครับ จะดีขึ้น จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น กับประเทศต่างๆ ได้อีกหรือไม่ ประชาชนยังคงใช้วิถีเดิมในการประกอบอาชีพ – ทำเกษตรกรรม หรือจะทำอย่างไรที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล “ยุค4.0” เพื่อมาช่วยในการขับเคลื่อนอนาคตประเทศของเรา

พวกเราต้องลงมือนะครับ ร่วมทำไปด้วยกัน เราจะหวังพึ่งพิงแต่เพียงนวัตกรรม เทคโนโลยี หรือสิ่งประดิษฐ์ “นำเข้า” โดยไม่พึ่งพาตนเองเลย เราคงไปไม่ถึงจุดหมายปลายทางที่เราตั้งเอาไว้อย่างแน่นอนนะครับ สิ่งที่ผมจะบอก ก็คือ รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาจจะพูดง่ายๆ นะครับ ได้ 4 ประการ ก็คือ...

1. “วิทย์แก้จน” ก็คือ การสร้างอาชีพให้คนรุ่นใหม่และชุมชน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิต และเพิ่มศักยภาพกลุ่มเกษตรกรเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาในอดีตที่ยั่งยืน อาทิ ผลิตภัณฑ์จากสารสกัดสำคัญจากข้าว ผัก และผลไม้เช่น “น้ำนมข้าวยาคู” ที่มีสรรพคุณป้องกันเหน็บชา ชำระล้างลำไส้ และมีคาร์โบไฮเดรตวิตามินบี 1บี 2 และอีกมากมาย

ซึ่งเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่แพ้นะครับ แพ้นมจากพืชตระกูลถั่วหรือนมวัวได้ สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้าระดับอุตสาหกรรม เป็นผลงานวิจัย “จากหิ้งสู่ห้าง” ทั้งนี้การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าวนั้น ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย ทั้งน้ำมันรำข้าว ทั้งอาหารเสริม ล้วนเริ่มจากภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย ที่มีข้าวเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต หากเราต่อยอดนำมาผลิตเป็นสิ่งดีๆ ให้ผู้บริโภค ก็จะช่วยให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นต่อไป

tu14-4

และเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตรนวัตกรรมขึ้นมา ก็จะทำให้การบริหารจัดการ ตั้งแต่วัตถุดิบทางการเกษตร “ต้นทาง” – การแปรรูป “กลางทาง” – การผลักดันและส่งเสริมด้านการตลาด “ปลายทาง” ให้กับสินค้าต่างๆ เป็นระบบมากขึ้น ขับเคลื่อนทั้งอุปสงค์ - อุปทานให้เหมาะสม ก็จะสามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทยต่อไปด้วย นะครับ

2. “วิทย์สร้างคน” ก็คือการพัฒนาทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยกลไก “ประชารัฐ” ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน ช่วยหนุนเศรษฐกิจ ให้เป็น “ศูนย์กลางการเรียนรู้” และการพัฒนากลุ่มคนทุกช่วงวัย อาทิ โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (FabricationLab) ที่ทั่วโลกรู้จักกันในนาม “FabLab” ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิศวกรรม ให้เด็กได้ฝึกทำการทดลอง และลงมือสร้างชิ้นงานจากความคิด ตามจินตนาการของเขานะครับ ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้และความภาค ภูมิใจ ทั้งนี้ ภายในปี พ.ศ.2565 ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักวิจัยเป็น “2 เท่า” ของที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือต้องเพิ่มอย่างน้อย 20,000 คนต่อปีนะครับ

เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 ที่ผ่านมาเราพบว่า ตลาดแรงงานของไทยยังขาดแคลน “วิศวกร” โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มวิศวกรวิจัย ที่เป็นตัวเชื่อมระหว่างภาควิจัยกับภาคอุตสาหกรรม เช่น “วิศวกรออกแบบ” ที่เป็นผู้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งนำไปสู่ “เศรษฐกิจสร้างสรรค์”

และ “วิศวกรปฏิบัติ” หรือ “นวัตกร”ที่สามารถนำความรู้เชิงช่างกับทฤษฎีมาผสมผสาน สร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม ที่มีมูลค่าเชิงเศรษฐกิจ ในการผลิตบุคลากรให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพนั้น เราเคยนำแนวคิดการเรียนรู้แบบ STEM มาใช้แต่อาจไม่พอแล้วนะครับในปัจจุบัน เราต้องเติมเต็มด้วยการสร้างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ หรือทักษะทางศิลปะคือ “Art” เรียกใหม่ว่า STEAM นะครับ

อีกทั้ง ต้องให้ความสำคัญกับการฝึกลงมือปฏิบัติ การมีโอกาสใช้เป็นเครื่องมือในการบ่มเพาะเด็ก ตั้งแต่ระดับประถม จนถึงมัธยม และมหาวิทยาลัย แต่ปัญหาที่พบคือโรงเรียนส่วนใหญ่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐาน ที่ผ่านมากระทรวง ศึกษาธิการ ก็ได้จัดให้มีหลักสูตร “ทวิภาคี” ในการขอความร่วมมือกับสถานประกอบการ ให้นักเรียนอาชีวะได้เรียนทฤษฎีในสถานศึกษาแล้ว ได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งฝึกปฏิบัติในสถานประกอบการด้วยนะครับ

ปัจจุบัน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ได้วางแผนดำเนินโครงการสร้าง “แฟ้บแล็บ” ต้นแบบที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร และพัฒนากิจกรรมสำหรับนักเรียนและครู ให้ได้เข้ามาเรียนรู้ ฝึกทักษะวิศวกรรม รวมทั้งจัดให้มี “แฟ้บแล็บ” ในโรงเรียนวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ และวิทยาลัยอาชีวะที่มีความพร้อม รวม 150 แห่ง

silk

พร้อมทั้งสนับสนุนให้นักเรียนส่งผลงานประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะมีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 15,000 คน และครู 1,000 คน ก็จะช่วยเพิ่มจำนวนวิศวกรและ นวัตกรให้กับประเทศได้ในอนาคตตามที่ตั้งเป้าไว้

3. “วิทย์เสริมแกร่ง” ก็ด้วยผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปเพิ่มประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์ได้จริงเพื่อพัฒนาขีดความ สามารถในการแข่งขันของประเทศ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพและสร้างมาตรฐาน ที่สากลยอมรับ

อันที่จริงนั้น ประเทศไทยเราก็มีหน่วย งานที่เกี่ยวกับมาตรวิทยา การกำหนดมาตรฐาน และการรับรองระบบต่างๆ อยู่แล้วนะครับ เพียงแต่ไม่เคยทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ไม่สอดคล้อง ไม่บูรณาการกัน และขาดความเป็นเอกภาพในทางนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนให้เป็น NQI เหมือนที่ประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ เขามี และเขาจัดให้เป็นระบบนะครับ

ทำให้เราเสียโอกาสในอดีต และหากไม่เร่งดำเนินการ “10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ของเรา ก็จะสูญเสียโอกาสในการแข่งขันต่อไปนะครับ เพราะนานาชาติอาจมองว่าไม่ได้มาตรฐานโลก โดย 80% ของการค้าโลกอยู่ภายใต้มาตรฐานและกฎระเบียบดังกล่าว ดังนั้น เราต้องเริ่มพัฒนาและส่งเสริมการนำมาตรฐานและกระบวนการ NQI ไปใช้ในด้านต่างๆ

เช่น การกำหนดกฎระเบียบการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ซึ่งวันนี้ รัฐบาลนี้ ก็ได้เริ่มต้นให้แล้ว และจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคต ครับ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

4. “วิทย์สู่ภูมิภาค” เป็นการกระจายองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ระดับภูมิภาคเพื่อให้เกิดการแข่งขันและการกระจายรายได้เพิ่มมากขึ้น อาทิ “หมู่บ้านวิทย์”ซึ่งเป็นแนวคิด “ศาสตร์พระราชา” เพื่อนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพัฒนาหมู่บ้าน ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้กับประชาชนทั่วประเทศ

เช่น(1) การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยววิถีวิทย์ โดยนำระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจท้องถิ่น การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบและได้มาตรฐาน

(2) การพัฒนาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นเมืองโดยการเพิ่มคุณสมบัติเป็นนวัตกรรม ที่มีรูปแบบที่ทันสมัย เป็นสากล แต่คงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ให้เกิด “ไทยนิยม” อย่างยั่งยืน

(3) การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์เกษตรครบวงจรโดยเน้นการผลิตให้ได้คุณภาพ เพื่อลดต้นทุน ครอบคลุมเกษตรพืชผัก ผลไม้ ปศุสัตว์ ประมง

และ (4) การพัฒนาหมู่บ้านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยบรูณาการหน่วยงานต่างๆ ให้เกิดการอนุรักษ์ สร้างความตระหนักด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยตั้งเป้าหมายปี 2561 นี้ ในการสร้าง “หมู่บ้านแม่ข่าย” 89 หมู่บ้าน ขยายผลใน 40 หมู่บ้านต่อปี พัฒนาผลิตภัณฑ์ มากกว่า 200ผลิตภัณฑ์ ผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี มากกว่า 5,000คนต่อปี สร้างนักวิทย์ชุมชน12,000คน เป็นต้น”

e-book-1-503x62