นายกฯชมหลายพื้นที่ รณรงค์สงกรานต์วิถีไทย 7 วันอันตรายวันที่สอง “ดื่มแล้วขับยังนำ”

13 เม.ย. 2561 | 12:00 น.
- 13 เม.ย. 61 - พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยากเห็นคนไทยเล่นน้ำสงกรานต์อย่างสร้างสรรค์ ด้วยการสืบสานคุณค่าประเพณีที่งดงามตามแนวทาง "สงกรานต์วิถีไทย ใช้น้ำคุ้มค่า ชีวาปลอดภ้ย" โดยแสดงความชื่นชมที่หลายพื้นที่ได้รณรงค์ให้มีการแต่งกายชุดไทยออกไปเล่นน้ำ ซึ่งนอกจากจะดูสวยงาม สะท้อนถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัย เพราะเป็นการแต่งกายที่ไม่ล่อแหลมหรือโป๊

"นายกฯ แนะให้ประชาชนนำวัฒนธรรมหรือการแต่งกายประจำถิ่น ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ มาประยุกต์ใช้กับการแต่งกายเพื่อเล่นน้ำหรือร่วมประเพณีสงกรานต์ และจัดกิจกรรมฉลองปีใหม่แบบไทยถิ่น ให้พี่น้องคนไทยภาคอื่นได้เรียนรู้วิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของแต่ละภาค ถือเป็นมิติใหม่ของเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย"

สำหรับตัวอย่างรูปแบบกิจกรรมที่แสดงถึงวิถีปฏิบัติแบบไทย เช่น การสรงน้ำพระ ทำบุญตักบาตร ฟังเทศน์ ปฏิบัติธรรม รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ แสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ เอื้ออาทรต่อญาติมิตร ทำความสะอาดบ้านเรือน ที่สาธารณะ และใส่ใจต่อทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนให้ใช้อุปกรณ์ที่ปลอดภัยและประหยัดน้ำ เช่น ขันขนาดเล็ก ไม่ใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง เล่นน้ำอย่างสุภาพในพื้นที่ที่กำหนด หากใช้รถใช้ถนนต้องเมาไม่ขับและมีน้ำใจให้แก่กัน รวมทั้งขอให้ภาคเอกชน ผู้จัดกิจกรรม สถานบันเทิงกำหนดเวลาเปิดปิดกิจกรรม และงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย

"นายกฯ อวยพรให้คนไทยมีความสุข แข็งแรง และปลอดภัย ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้และตลอดไป"

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในฐานะ รองประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ คนที่สอง ในฐานะประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 7 วันอันตรายว่า สถิติอุบัติเหตุในรอบ 24 ชั่วโมง ของวันที่ 12 เม.ย. (วันที่ 2 ของการรณรงค์) เกิดอุบัติเหตุ รวม 579 ครั้ง เมือเปรียบเทียบกับวันที่ 12 เม.ย. 60 เกิดอุบัติเหตุ 586 ครั้ง ยอดรวมลดลง 7 ครั้ง จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ บุรีรัมย์ (21 ครั้ง) รองลงมา คือ เชียงราย (20 ครั้ง) และเชียงใหม่ (19 ครั้ง)

นายอาคมกล่าวว่า  สำหรับผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในวันที่ 12 เม.ย. ที่ผ่านมา มีจำนวน 60 ราย เปรียบเทียบกับวันเดียวกันของปี 60 มีผู้เสียชีวิต 55 ราย ในภาพรวมมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5 ราย ซึ่งจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา และสกลนคร (4 ราย) รองลงมาได้แก่ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ อุดรธานี และประจวบคีรีขันธ์ (จังหวัดละ3 ราย) ในส่วนผู้บาดเจ็บมีจำนวน 624 คน เปรียบเทียบกับวันเดียวกันของปี 60 มีผู้บาดเจ็บ 623 คน เพิ่มขึ้น 1 คน โดยจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (23 คน) รองลงมาได้แก่ เชียงใหม่ (21 คน) บุรีรัมย์ และตาก (จังหวัดละ 20 คน)

นายอาคมกล่าวว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็วเกินกำหนด ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร ขับรถย้อนศร แซงรถผิดกฏหมาย และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถ เป็นต้น โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ดื่มแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ไม่มีใบขับขี่ และขับรถเร็วเกินกำหนด