ศก. ติดเครื่อง! ไทยแห่นำเข้าเครื่องจักรจีน

12 เม.ย. 2561 | 12:25 น.
120461-1913

บาทแข็งเอื้อ! ผู้ประกอบการแห่นำเข้าเครื่องจักร 2 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้าจีนพุ่ง 1.15 แสนล้าน แบงก์ชาติโชว์ตัวเลขการใช้กำลังผลิตของผู้ประกอบการโงหัว จับตา ‘ทรัมป์’ ดึง 2 ผู้นำอียู ร่วมวงอัดจีน

แม้ภาคการส่งออกของไทยจะมีปัจจัยเสี่ยงจากสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน แต่การส่งออกภาพรวม 2 เดือนแรก ขยายตัวถึง 4.04 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.7% แต่ตัวเลขการเกินดุลการค้ากลับลดลงอย่างมาก


003

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า การส่งออกในรูปเงินบาทของไทยในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ มีมูลค่า 1,296,217 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.1% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 1,290,875 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9% ส่งผลให้ไทยยังเกินดุลการค้าเพียง 5,342 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่เกินดุลการค้า 7.14 หมื่นล้านบาท หรือ ลดลงถึง 6.61 หมื่นล้านบาท

การเกินดุลการค้าที่ลดลงดังกล่าว มีสาเหตุสำคัญจากไทยส่งออกสินค้าไปจีนได้ลดลง ขณะที่ มีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น โดยช่วง 2 เดือนแรก ไทยส่งออกไปจีนมูลค่า 1.50 แสนล้านบาท นำเข้า 2.66 แสนล้านบาท ส่งผลไทยขาดดุลการค้าจีน 1.15 แสนล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ขาดดุล 7.14 หมื่นล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 4.36 หมื่นล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขาดดุลการค้าจีนข้างต้นของไทย มีส่วนสำคัญจากการนำเข้าสินค้า สินค้าทุนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก เช่น เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักร และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลจากผู้ประกอบการของไทยมีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตรองรับการแข่งขัน และส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าเอื้อต่อการนำเข้าสินค้าในราคาที่ต่ำลง ซึ่งจากข้อมูล ประเทศที่ไทยนำเข้าสินค้าทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย เยอรมนี และสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบการขาดดุลการค้าของไทยช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ พบ 5 อันดับแรกที่ไทยขาดดุลการค้ามากสุด ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย ตามลำดับ ส่วน 5 อันดับแรกที่ไทยเกินดุลการค้ามากสุด ได้แก่ ฮ่องกง สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เวียดนาม และกัมพูชา


GP-3356_180412_0007

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การนำเข้าเครื่องจักรและสินค้าทุนของไทยในเดือนที่เหลือของปีนี้ จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร คงต้องจับตาผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ว่า จะกระทบกับเศรษฐกิจการค้าโลกหรือไม่ รออีก 2 เดือน ภาพน่าจะชัดเจนขึ้น

สอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย ที่รายงานว่า ในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ขยายตัวในทุกหมวด นอกจากนี้ หากพิจารณาจากอัตราการใช้กำลังการผลิต จะพบว่า ในหลายอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตเกิน 70% จำเป็นต้องนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 67.77% ในเดือน ม.ค. เป็น 68.24% ในเดือน ก.พ. โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเลียมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิต 88.18% การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร 74.38% กลุ่มการผลิตยานยนต์ 92.53% การผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี 79.64%


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ด้าน การเผชิญหน้าทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน มีแนวโน้มอาจจะขยายวงกว้างอย่างที่หลายฝ่ายวิตก เนื่องจากในเดือน เม.ย. นี้ 2 ผู้นำจากประเทศใหญ่ในสหภาพยุโรป (อียู) คือ นายเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี มีกำหนดเดินทางเยือนสหรัฐฯ และพบปะ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สื่อต่างประเทศรายงานว่า ผู้นำสหรัฐฯ มีแนวโน้มใช้การพบปะหารือครั้งนี้หว่านล้อมอียู เข้ามาเป็นแนวร่วมในการกดดันจีน

โดยทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และอียูนั้น มีประเด็นทางการค้าที่จำเป็นต้องเจรจาต่อรอง เพื่อแสวงประโยชน์ร่วมกันอยู่ เนื่องจากระยะเวลาที่อียูได้รับการยกเว้นขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมจากสหรัฐฯ นั้น กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 1 พ.ค. นี้ นั่นหมายความว่า หากทั้ง 2 ฝ่าย ไม่สามารถตกลงกันได้ สหรัฐฯ ก็อาจจะเริ่มเก็บภาษีฝ่ายอียูในอัตราสูงขึ้นตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับการค้าของทั้ง 2 ฝ่าย ที่มีมูลค่าสูงถึง 7.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มูลค่าการค้าสหรัฐฯ-อียู) ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหมายว่า ผู้นำสหรัฐฯ อาจใช้โอกาสพบปะครั้งนี้หาแนวร่วม โดยเจรจาให้ 2 ผู้นำประเทศมหาอำนาจในอียู ร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาลจีนเป็นการแลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน อียูเองก็มีประเด็นพิพาททางการค้ากับจีนเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้ว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,356 วันที่ 12-14 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"อย.-ประมง" เปิดทางนำเข้า 'ปลาฟุกุชิมะ'
สหรัฐฯ บีบคู่ค้าเจรจาเปิดตลาด-เพิ่มนำเข้า!


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว