แผนกำลังผลิตไฟสะดุด! ปิดทางเอกชนลงทุน 5 ปี

12 เม.ย. 2561 | 08:43 น.
120461-1512

แผนพีดีพีรวน เหตุ ‘ศิริ’ ปรับนโยบายใหม่ชะลอถ่านหินและรับซื้อไฟจากพลังงานทดแทน ปิดทางนักลงทุน 5 ปี ... พพ. ลุ้นเพิ่มสัดส่วนเป็น 30% ทดแทนใช้ถ่านหินลดลงเหลือแค่ 20% ... สมาคมการค้าพลังงานขยะเตรียมยื่นหนังสือเปิดผนึกค้านรัฐ

การสั่งชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนออกไป 5 ปี รวมถึงการชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ ของ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งผลให้การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพีฉบับใหม่ ต้องสะดุดลงด้วยจากเดิมที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีกรอบการดำเนินงานจะแล้วเสร็จในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา


appKBB
ทั้งนี้ เนื่องจากจะต้องมาทบทวนการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของแต่ละภูมิภาคใหม่และการกำหนดสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแต่ละชนิด ที่คาดว่าการใช้ถ่านหินจะลดลงมาอยู่ที่ 20% จากแผนเดิมที่ตั้งไว้ 25% ซึ่งจะไปกระทบกับการจัดหาไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น โดยยังมีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่ แผนการพัฒนาพลังงานทดแทนในระยะสั้น ที่นักลงทุนอยากเห็นอาจจะยังไม่ถูกบรรจุอยู่ในพีดีพีตามนโยบายของนายศิริ

นายประพันธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า พพ. อยู่ระหว่างรอความชัดเจนแผนพีดีพีฉบับใหม่ ว่า จะกำหนดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนเท่าไร เทียบกับแผนพีดีพี 2015 (ฉบับเดิม) อยู่ที่ระดับ 20% เพื่อนำตัวเลขดังกล่าวมาจัดทำแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (เออีดีพี) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (อีอีพี) ซึ่งจะเร่งจัดทำแผนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยเบื้องต้น คาดว่าสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มสูงขึ้น แม้ว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีนี้ก็ตาม

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดทำแผนดังกล่าวเป็นระยะยาว 20 ปี การพัฒนาพลังงานทดแทนอาจจะไปบรรจุอยู่ในช่วงกลางแผนพีดีพีก็ได้ ซึ่งคาดว่าการพัฒนาเทคโนโลยีอาจจะทำให้สัดส่วนขยับไปถึง 30% ได้ ในขณะเดียวกัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็เปิดทางรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่สามารถแข่งขันกับราคาขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.40 บาทต่อหน่วย ได้ ดังนั้น ยังมีพลังงานทดแทนบางชนิดที่มีต้นทุนลดลงอย่างมาก อาทิ โซลาร์เซลล์ แต่ก็ยอมรับว่า ในช่วงเวลานี้จะยังไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนออกมา

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ จะยังคงมีสัดส่วนพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันอยู่ที่ 20% แม้ว่าในช่วง 5 ปีนี้ ยังไม่เห็นความจำเป็นต้องเร่งรับซื้อไฟฟ้า เพราะยังมีราคาแพง ประกอบกับ ปัจจุบันมีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้วเกือบ 1 หมื่นเมกะวัตต์ กระทบกับค่าไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องร่วมกันจ่ายประมาณ 10% ของค่าไฟฟ้า

 

[caption id="attachment_275169" align="aligncenter" width="371"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องซื้อไฟฟ้าในราคาสูงต่อไปอีก เพราะเวลานี้มีเอกชนที่สามารถลงทุนโครงการโซลาร์ลอยน้ำขายไฟฟ้าในราคา 2.40 บาทต่อหน่วย ได้แล้ว

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การผลิตไฟฟ้าไม่สามารถพึ่งพาก๊าซได้ทั้งหมด จะต้องมีเชื้อเพลิงอื่น พลังงานทดแทน และรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาเสริม หากแผนพีดีพีมีความชัดเจน กลุ่ม ปตท. ก็เตรียมแผนดำเนินงาน เพราะหากมีนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะที่ พลังงานทดแทนก็มีการลงทุนเช่นกัน


appsolar

“กระทรวงพลังงานยังไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วงนี้ แต่ก็เปิดทางสำหรับผู้ที่สามารถขายในราคาต่ำ 2.40 บาทต่อหน่วย เข้าระบบได้ ซึ่งบริษัทสามารถทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่า กระทรวงพลังงานจะมีการเปิดรับซื้อ หรือ ไม่เท่านั้น”

ด้าน นายมนตรี วิบูลย์รัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ เปิดเผยว่า สมาคมเตรียมยื่นหนังสือเปิดผนึกไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอข้อคิดเห็นของสมาชิกผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขยะ โดยเห็นว่า ไม่ควรชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะในช่วง 5 ปีนี้ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อชุมชน กระทบต่อการบริหารจัดการขยะของประเทศ เพราะสุดท้ายแล้ว ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งไม่ควรปรับลดราคารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนลงมาอยู่ที่ 2.40 บาทต่อหน่วย เทียบกับราคาปัจจุบัน ระดับ 5.08-6.34 บาทต่อหน่วย เนื่องจากมีต้นทุนอยู่ที่ 200 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เทียบกับเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนอื่น ๆ อยู่ที่ 60-70 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ โดยมองว่า นโยบายของรัฐที่ปรับเปลี่ยนไปมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,356 วันที่ 12-14 เม.ย. 2561 หน้า 11
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สมาคมการค้าขยะ วอน ”รมว.พลังงาน” รับซื้อไฟฟ้าขยะต่อเนื่อง
CK-STEC ลุ้นรับงาน รถไฟฟ้า 3 สนามบิน


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว