นิด้าโพลสำรวจ"“คนแก่” ในความคิดของคนไทย"

11 เม.ย. 2561 | 07:56 น.
เนื่องในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ตรงกับวันผู้สูงอายุ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” ร่วมกับ ศูนย์วิจัยสังคมสูงอายุ (Center for Aging Society Research – CASR) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ““คนแก่” ในความคิดของคนไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20 – 21 มีนาคม 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับคนแก่ ในความคิดของคนไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงกลุ่มอายุ (5 อันดับแรก) พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ส่วนใหญ่เห็นว่าสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา อันดับ 1 ร้อยละ 47.78 ระบุว่า เมื่อพบว่าสุขภาพของเขาเสื่อมลง/เลวลง รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 34.85 ระบุว่า เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี อันดับ 3 ร้อยละ 20.89 ระบุว่า เมื่ออายุย่างเข้า 75 ปี อันดับ 4 ร้อยละ 19.44 ระบุว่า เมื่อเกิดลืมชื่อที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (มักจะนึกชื่อคนรู้จักไม่ออกบ่อย ๆ) และอันดับ 5 ร้อยละ 17.58 ระบุว่า เมื่อเกษียณงาน (หยุดทำงาน)

old1

สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 59.36 ระบุว่า เมื่อพบว่าสุขภาพของเขาเสื่อมลง/เลวลง รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 31.45 ระบุว่า เมื่ออายุย่างเข้า 65 ปี อันดับ 3 ร้อยละ 28.27 ระบุว่า เมื่อมีปัญหาในการขึ้นบันได อันดับ 4 ร้อยละ 27.92 ระบุว่า เมื่อเกิดลืมชื่อที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (มักจะนึกชื่อคนรู้จักไม่ออก บ่อย ๆ) และอันดับ 5 ร้อยละ 16.96 ระบุว่า เมื่อเกษียณงาน (หยุดทำงาน)

ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุ มีความเห็นว่า สัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา คือ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและความทรงจำ ผู้ที่มีอายุย่างเข้า 65 ปี และผู้ที่มีสถานภาพทางครอบครัวสูงขึ้น (มีหลาน) เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่คิดว่าสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา คือ เมื่อพบว่าสุขภาพของเขาเสื่อมลง/เลวลง เมื่อมีปัญหาในการขึ้นบันได เมื่อเกิดลืมชื่อที่คุ้นเคยบ่อย ๆ (มักจะนึกชื่อคนรู้จักไม่ออกบ่อย ๆ)

เมื่ออายุย่างเข้า 85 ปี เมื่อมีหลาน (ตา-ยาย/ปู่-ย่า) และเมื่อไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างอิสระ (ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่น) ในขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดว่าสัญญาณ/สิ่งที่บ่งชี้ว่า คนคนนั้น คือ คนแก่ หรือ คนชรา คือ เมื่ออายุ ย่างเข้า 65 ปี เมื่อเกษียณงาน (หยุดทำงาน) เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการปัสสาวะ และเมื่อไม่อยากมีเซ็กส์

เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับ สิ่งที่ไม่ดี เมื่อแก่แล้ว คืออะไร (5 อันดับแรก) พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ส่วนใหญ่ เห็นว่าสิ่งที่ไม่ดี อันดับ 1 ร้อยละ 58.53 ระบุว่า เจ็บป่วยหนัก รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 55.53 ระบุว่า ความจำเสื่อม อันดับ 3 ร้อยละ 32.37 ระบุว่า เป็นภาระ (ต่อลูกหลาน/ครอบครัว/สังคม) อันดับ 4 ร้อยละ 29.37 ระบุว่า ซึมเศร้า และอันดับ 5 ร้อยละ 27.82 ระบุว่า เหงา สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 53.00 ระบุว่า ความจำเสื่อม และเจ็บป่วยหนัก ในสัดส่วนที่เท่ากัน รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 25.09 ระบุว่า เหงา อันดับ 3 ร้อยละ 22.26 ระบุว่า เซ็กส์เสื่อม อันดับ 4 ร้อยละ 21.55 ระบุว่า เป็นภาระ (ต่อลูกหลาน/ครอบครัว/สังคม) และอันดับ 5 ร้อยละ 19.43 ระบุว่า ซึมเศร้า

NIDA1

ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุมีความเห็นว่า สิ่งที่ไม่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การเจ็บป่วย ความจำเสื่อม เป็นภาระ ซึมเศร้า เหงา รู้สึกถูกทอดทิ้ง/ไม่มีความสำคัญ เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนน้อยกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ในขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดว่าสิ่งที่ไม่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ เจ็บป่วยหนัก ความจำเสื่อม เป็นภาระ (ต่อลูกหลาน/ครอบครัว/สังคม) ซึมเศร้า เหงา รู้สึกถูกทอดทิ้ง/ไม่มีความสำคัญ เซ็กส์เสื่อม

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับ สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คืออะไร (5 อันดับแรก) พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ส่วนใหญ่ เห็นว่าสิ่งที่ดี อันดับ 1 ร้อยละ 66.80 ระบุว่า มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 45.60 ระบุว่า มีเวลามากขึ้นสำหรับทำสิ่งที่สนใจ/งานอดิเรก อันดับ 3 ร้อยละ 38.88 ระบุว่า ได้รับความนับถือมากขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 31.85 ระบุว่า ท่องเที่ยวได้มากขึ้น และอันดับ 5 ร้อยละ 29.06 ระบุว่า มีความเครียดน้อยลง สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ร้อยละ 68.90 ระบุว่า มีเวลากับครอบครัวมากขึ้น รองลงมา อันดับ 2 ร้อยละ 46.29 ระบุว่า มีเวลามากขึ้นสำหรับทำสิ่งที่สนใจ/งานอดิเรก อันดับ 3 ร้อยละ 45.58 ระบุว่า ได้รับความนับถือมากขึ้น อันดับ 4 ร้อยละ 37.81 ระบุว่า มีความเครียดน้อยลง และอันดับ 5 ร้อยละ 31.10 ระบุว่า ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้

old2

ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุมีความเห็นว่า สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น ทำสิ่งที่สนใจหรืองานอดิเรก ได้รับความนับถือมากขึ้น ท่องเที่ยวได้มากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้ และมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่คิดว่า สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การมีเวลากับครอบครัวมากขึ้น มีเวลามากขึ้นสำหรับทำสิ่งที่สนใจ/งานอดิเรก ได้รับความนับถือมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้ และมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น ในขณะที่ความคิดเห็นของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่คิดว่า สิ่งที่ดี เมื่อแก่แล้ว คือ การท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งผู้สูงอายุ ที่คิดว่า ได้รับความนับถือมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ทำงานอาสาสมัคร/จิตอาสาได้ และมีความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น มีสัดส่วนมากกว่าผู้ที่ยังไม่สูงอายุอย่างแตกต่างกันมาก

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงระดับความสุข เมื่อเป็นคนแก่ หรือ คนชรา พบว่า กลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ร้อยละ 33.09 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 46.43 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างมาก ร้อยละ 15.82 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างน้อย ร้อยละ 1.76 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย และร้อยละ 2.90 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ สำหรับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 34.98 ระบุว่า มีความสุขมาก ร้อยละ 45.23 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างมาก ร้อยละ 14.13 ระบุว่า มีความสุขค่อนข้างน้อย ร้อยละ 5.30 ระบุว่า ไม่มีความสุขเลย และร้อยละ 0.35 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ซึ่งจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ทั้ง 2 กลุ่มอายุมีความเห็นว่า ระดับความสุข เมื่อเป็นคนแก่ หรือ คนชรา คือ จะมีความสุขในระดับค่อนข้างมากถึงมาก (ประมาณ 80 % ของผู้ตอบในแต่ละกลุ่มอายุ) เมื่อพิจารณาถึงความแตกต่างของความคิดเห็น พบว่า ความคิดเห็นของ กลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีสัดส่วนสูงกว่าของกลุ่มอายุ 18 – 59 ปี ที่คิดว่า ระดับความสุข เมื่อเป็นคนแก่ หรือ คนชรา คือ ไม่มีความสุขเลย
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 10.00 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 24.16 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 19.20 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 32.88 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.76 มีภูมิลำเนา อยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 52.24 อยู่ในเขตเมือง/ในเขตเทศบาล ร้อยละ 34.80 อยู่ในเขตชนบท/นอกเขตเทศบาล และร้อยละ 12.96 ไม่ระบุเขต ที่อยู่ ตัวอย่างร้อยละ 52.80 เป็นเพศชาย และร้อยละ 47.20 เป็นเพศหญิง

ตัวอย่างร้อยละ 77.36 มีอายุ 18 – 59 ปี และร้อยละ 22.64 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 93.28 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.60 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.80 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 2.32 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.96 ระบุว่า สถานภาพโสด ร้อยละ 69.20 สมรสแล้ว ร้อยละ 5.44 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 2.40 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่าง ร้อยละ 1.28 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 30.08 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.16 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 6.32 จบการศึกษาอาชีวะศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 31.04 จบการศึกษาอุดมศึกษาหรือเทียบเท่า และร้อยละ 3.12 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 11.28 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.76 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.80 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 13.84 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.88 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.00 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.24 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่างร้อยละ 16.16 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 20.88 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.76 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 15.92 ไม่ระบุรายได้

e-book-1-503x62