สหรัฐฯ ฟัดจีน! ทุบส่งออกไทย 6 กลุ่มสินค้าวูบ

10 เม.ย. 2561 | 11:11 น.
100461-1741

สงครามการค้าสหรัฐฯ - จีน เพิ่มอุณหภูมิเดือด! หลัง ‘ทรัมป์’ สั่งยูเอสทีอาร์ขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกระลอกใหญ่ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านดอลล์ ... ทูตพาณิชย์ชี้ 6 หมวดสินค้าส่อกระทบส่งออกไปจีนได้ลดลง ... สรท. ฟันธง! เหล็ก เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า จีนทะลักตีตลาดไทย-อาเซียนแน่ ตลาดทุนประเมิน 3 ทางออก

สงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีน เพิ่มความร้อนขึ้นทุกขณะ โดยหลังจากที่กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงขึ้น 128 รายการ (15-25%) วงเงินรวม 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2561 เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ที่ขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมเมื่อต้นเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา วันที่ 3 เม.ย. สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ก็ตอกกลับด้วยการประกาศจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% จำนวน 1,300 รายการ มูลค่ารวม 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ครอบคลุมสินค้าไฮเทคหลากประเภท อาทิ เซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่ลิเทียม โดยให้เหตุผลว่า จีนมีนโยบายและพฤติกรรมการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา


02-3351

ทั้งนี้ แม้สหรัฐฯ จะยังไม่ประกาศใช้มาตรการ เพราะอยู่ในกระบวนการเปิดรับฟังข้อร้องเรียนและเสนอแนะ รวมทั้งกำลังจะมีการทำประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้ในช่วงกลางเดือนหน้า (15 พ.ค.) แต่รัฐบาลจีนก็ไม่รีรอที่จะตอบโต้ทันทีด้วยการประกาศว่า กำลังพิจารณามาตรการเพิ่มเติม โดยจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่ม 25% จากสินค้าอีก 106 รายการ วงเงิน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับที่สหรัฐฯ ขู่จะเก็บภาษีจีนเพิ่ม ซึ่งคราวนี้จีนพุ่งเป้าไปที่สินค้าที่มีความสำคัญในภาคการส่งออกของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น ถั่วเหลือง ฝ้าย เนื้อโค เคมีภัณฑ์ รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ แต่ยังไม่กำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ เท่ากับยังเปิดช่องให้มีการเจรจาต่อรอง

แต่ล่าสุด วันที่ 5 เม.ย. โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ปิดช่องทางนั้น ด้วยการออกคำสั่งให้ยูเอสทีอาร์ไปพิจารณาขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีกระลอก คราวนี้วงเงินรวม 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 3.2 ล้านล้านบาท


100461-1744

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุด ทาง สรท. อยู่ระหว่างการทำวิเคราะห์รายกลุ่มสินค้าของสมาชิกถึงผลกระทบด้านลบและด้านบวกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เบื้องต้น สินค้าไทยที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีนได้เพิ่มขึ้น กรณีผู้นำเข้าสหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากจีนลง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยางพารา ปิโตรเคมี สิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ส่วนผลกระทบด้านลดบที่คาดว่า “จะเกิดขึ้นแน่นอน” หากสินค้าจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง จะส่งมาจำหน่ายในอาเซียน เอเชีย รวมถึงในไทยเพิ่ม ซึ่งจะส่งผลทั้งแง่บวกและแง่ลบต่อผู้ประกอบการของไทย

“สินค้าจีนที่จะทะลักเข้ามาแน่นอน ได้แก่ เหล็ก อะลูมิเนียม เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า สิ่งทอ เป็นต้น ซึ่งสินค้าที่ได้รับผลกระทบคงร้องเรียนภาครัฐฯ ให้ใช้มาตรการป้องกัน หรือ ตอบโต้”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ขณะที่ สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้ทำบทวิเคราะห์ ระบุว่า เบื้องต้น ที่ยูเอสทีอาร์ได้ประกาศรายการสินค้าที่จะเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มจากจีนครอบคลุม 14 หมวดสินค้า ตามพิกัดศุลกากร 2 หลัก รวม 1,300 รายการ (ตามพิกัดศุลกากร 8 หลัก) จะมีผลต่อไทย ทั้งด้านบวกและด้านลบ โดยสินค้า 6 หมวด คาดจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกไปจีนที่ลดลง ได้แก่ หมวดเคมีภัณฑ์, หมวดผลิตภัณฑ์ยาง, ยางรถยนต์, สายพาน, หมวดเครื่องจักร, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องจักรสิ่งทอ, หมวดเครื่องจักรไฟฟ้า, โทรทัศน์, เครื่องเสียง, วิดีโอ, หมวดยานยนต์ และหมวดเลนส์และกล้องจุลทรรศน์

ซึ่งทั้ง 6 หมวด เป็นสินค้าพิกัดเดียวกันกับสินค้าที่จีนถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ดังนั้น จะมีผลต่อการลดการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยในหมวดดังกล่าว แต่มีสินค้าอีกหลายรายการที่ไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีนได้เพิ่มขึ้น เช่น โทรทัศน์ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ, รถมอเตอร์ไซค์, ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น


GP-3355_180410_0016

ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่า การขึ้นภาษี หรือ เตรียมขึ้นภาษีสินค้าตอบโต้กันเพิ่มเติม ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน มองว่า จะไม่บานปลาย ที่สุดแล้วจะสามารถเจรจาต่อรองกันได้ ดังนั้น ผลกระทบไม่น่ารุนแรงกับการส่งออกของไทย แต่หากบานปลาย ไทยคงได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ทำการค้ากับสหรัฐฯ และจีนมากกว่าไทย ดังนั้น ขอให้ผู้ประกอบการของไทยตั้งรับอย่างมีสติ ส่วนหนึ่งให้หาตลาดใหม่เพิ่มเติมด้วย

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินผลจากการตอบโต้ทางการค้าสหรัฐฯ-จีน ว่า แบ่งเป็น 3 กรณี คือ 1.ถ้าต่อรองกันได้จะลดความผันผวนในตลาด โดยไม่กระทบภาคส่งออก 2.หากเจรจาหาทางออกไม่ได้ คงต้องพึ่งองค์การการค้าโลก (WTO) ไกล่เกลี่ย เพราะไม่เช่นนั้น จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัว และ 3.กรณีตกลงกันไม่ได้ แต่อาจนำไปสู่ดีลใหม่ของการเจรจา แต่โอกาสเกิดกรณีนี้มีประมาณ 10%

 

[caption id="attachment_274851" align="aligncenter" width="416"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย จิติพล พฤกษาเมธานันท์
นักกลยุทธ์ตลาดเงิน ตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย[/caption]

“สำหรับทางออกนั้น จีนควรมุ่งนำเข้าสินค้าและซื้อสินทรัพย์ในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ หรือ เหล็ก แทนการซื้อเทคโนโลยีชั้นสูง หรือ บริษัทด้านไอที ซึ่งแนวทางนี้จะดีกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะอานิสงส์ต่อการค้าโลกที่จะกลับมาฟื้นตัวปกติ”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สหรัฐฯ จ่อใช้แผนจะเก็บภาษี 25% โทษฐานจีน “ขโมยทรัพย์สินทางปัญญา”
'ทรัมป์' เล่นไม่เลิก! สั่งเก็บภาษีสินค้าจีน เพิ่ม 1 แสนล้านดอลล์


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว