ขวางอุ้มมือถือ! ดอกถูกกว่ารัฐกู้

09 เม.ย. 2561 | 11:53 น.
090461-1845

คลัง-นักวิชาการ กังขาข้อเสนอ กสทช. ยืดชำระค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 ให้ 2 ค่ายมือถือ จ่ายดอกเบี้ยแค่ 1.5% ต่ำกว่าต้นทุนดอกเบี้ยที่รัฐบาลไปกู้เงินมาลงทุน รัฐสูญรายได้จากดอกเบี้ย 3 หมื่นล้านบาท หลัง ‘เอไอเอส-ทรู’ พร้อมใจร่อนหนังสือ จี้ ‘คสช.’ ให้เร่งใช้ ม.44 อุ้มแบบเดียวกับทีวีดิจิตอล พร้อมขอยกเว้นดอกเบี้ย

เป็นครั้งแรกที่ 2 ค่ายมือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือ ‘เอไอเอส’ และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี ในเครือ ‘ทรู’ ออกแถลงการณ์ร่วมกันกรณีที่ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพื่อขอผ่อนผันมาตรการจ่ายค่างวดใบอนุญาตคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ในงวดที่ 4 ออกไปจำนวน 7 งวด และยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการผ่อนผันชำระเงินดังกล่าวด้วยตั้งแต่เดือน ก.ย. 2560


true



ยึดโมเดลทีวีดิจิตอล
ในคำแถลงการณ์ ระบุว่า เหตุผลที่ขอผ่อนผันชำระค่างวดเงินประมูลงวดที่ 4 ทั้ง 2 บริษัท ได้ชี้แจงว่า ไม่ได้ขอลดจำนวนเงินค่าประมูล แต่ขอความช่วยเหลือเพื่อขยายจำนวนงวดชำระงวดสุดท้าย โดยมีหลักประกันธนาคารให้แก่ กสทช. ครบถ้วน ตามมูลค่าคลื่นที่ต้องชำระ

ดังนั้น การขอแบ่งชำระไม่ได้ผิดนัดการชำระแต่อย่างใด จนต้องคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ 15% หรือ ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการผิดนัด นอกจากนี้ หากบริษัทต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาชำระค่าคลื่นดังกล่าว ภาระดอกเบี้ยกู้เงินจะอยู่ที่ประมาณ 3-4% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1.5%) ไม่ได้เป็นตัวเลขความเสียหายของรัฐจำนวนสูงตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์



ทีดีอาร์ไอค้านอุ้มมือถือ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า เห็นด้วยหาก กสทช. และรัฐจะมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล แต่ไม่เห็นด้วย หาก กสทช. จะเสนอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง 2 ค่ายมือถือ ด้วยการยืดชำระค่างวด เพราะทรูและเอไอเอสมีผลประกอบการที่ดีอยู่แล้ว โดยมีกำไรเติบโตแบบก้าวกระโดดต่างจากกรณีของทีวีดิจิตอล หากมีการอุ้มทั้ง 2 ค่ายมือถือ จะถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมถึงความเชื่อมั่นของประเทศไทยในภาพรวมด้วย เนื่องจากเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไขตั้งแต่แรก บริษัทผู้ประมูลย่อมรับรู้ถึงความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจอยู่ก่อนแล้ว จึงตัดสินใจที่จะเข้าร่วมประมูล


090461-1851



รัฐสูญดอกเบี้ย 3 หมื่นล้าน
นายสมเกียรติ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ให้นโยบายมาว่า การจะกระทำอันใดจะต้องไม่ทำให้ผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนเสียหาย หากยืดระยะเวลาชำระออกไป มองว่า เป็นการกระทำที่ขัดต่อนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์ คือ ผู้ประกอบการทั้ง 2 ค่ายมือถือ ขณะที่ รัฐจะสูญเสียในส่วนของเงินดอกเบี้ยที่จะได้รับมากถึง 30,000 ล้านบาท


ชำแหละส่วนต่างดอกเบี้ย
นายพิภพ อุดร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การขยายเวลาชำระเงินเท่ากับเป็นการให้ประโยชน์ทางการเงินแก่ผู้ประกอบการทั้ง 2 ราย โดยอัตโนมัติ อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มีความสมเหตุสมผล คิดง่าย ๆ หากผู้ประกอบการนำเงินที่จะต้องจ่ายให้รัฐไปปล่อยกู้ โดยคิดดอกเบี้ย 4% แล้วนำดอกเบี้ยที่ได้มาจ่ายให้รัฐ 1.5% เท่ากับผู้ประกอบการมีกำไรทันที 2.5% ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายให้รัฐ


62656

นอกจากนี้แล้ว หาก 2 ค่ายมือถือ นำเงินไปลงทุนในเรื่องอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่านี้ กำไรยิ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกัน การที่รัฐไม่ได้รับเงินที่ควรได้รับทันที รัฐอาจต้องไปกู้ยืมเงินมาทำโครงการต่าง ๆ โดยต้องจ่ายในอัตรา 4% แต่รัฐได้เงินจากผู้ประกอบการในอัตรา 1.5% แปลว่า ต้นทุนรัฐเพิ่มสูงขึ้นทันที 2.5% เท่ากับว่า รัฐกำลังจ่ายค่าดอกเบี้ยแทนเอกชน ด้วยเหตุผลอะไร ยิ่งหากรัฐสามารถนำเงินไปลงทุนให้เกิดผลงอกเงยได้มากกว่า 4% ยิ่งแปลว่า รัฐกำลังนำเงินไปสนับสนุนผู้ประกอบการในมูลค่าเท่ากับ “อัตราผลตอบแทนคูณกับเงินที่รัฐ ยอมให้ผ่อนจ่ายในอนาคต”


ห่วงบิดเบือนกลไกดอกเบี้ย
ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากมีการออกมาตรา 44 ให้เอไอเอสและทรู ยืดชำระค่างวดออกไป โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 1.5% อาจทำให้กลไกการตลาดบิดเบือน เพราะอัตราดอกเบี้ย 1.5% ที่กำหนดให้เอไอเอสและทรูจ่ายนั้น ใกล้เคียงหรือต่ำกว่าต้นทุนในการกู้ยืมของกระทรวงการคลังที่มีต้นทุนการกู้เงินเฉลี่ย 1.5-2% รวมทั้งยังต่ำกว่าต้นทุนของธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารในตลาดกรุงเทพฯ อยู่ที่ 1.51-1.96%


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังออกจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 2 จำนวน 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 รุ่น คือ รุ่นอายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ย 1.85% ต่อปี และรุ่นอายุ 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 2.45% ต่อปี


15-3355

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"สมเกียรติ" จวก "ฐากร" มโนอุ้มมือถือ!
เตือนวิกฤติศรัทธารัฐ เดินตามกสทช.อุ้มมือถือ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว