ไฟเขียว! ร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ จูงใจเอกชนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์

08 เม.ย. 2561 | 14:47 น.
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 3 เม.ย. 2561 ว่า ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... หรือ ร่าง พ.ร.บ. PPP เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสม รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ และสามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ระบุว่า การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Facilitation) ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน หรือ PPP Promotion และให้ ครม. สามารถพิจารณาแก้ไขปัญหาอุปสรรค หรือ ความล่าช้า เกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมาย หรือ ระเบียบ ยกระดับกองทุน PPP ให้สามารถสนับสนุนโครงการ PPP ได้มากขึ้น ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ (Alignment) และเป็นไปตามหลัก PPP สากล อาทิ การจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่น ประเภทโครงการ แหล่งเงินที่ชัดเจน


appmanop

“เบื้องต้น ได้กำหนดประเภทกิจการส่งเสริมจำนวน 12 กิจการ ได้แก่ ถนน รถไฟ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ การบริหารจัดการน้ำ ชลประทาน โทรคมนาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงพยาบาล โรงเรียน ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ศูนย์ประชุม”

ส่วนการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุน นายเอกนิติ กล่าวว่า จะทำให้กระชับ (Streamline) ชัดเจน มีการนำเอาหลักการของมาตรการพีพีพีฟาสต์แทร็ค (PPP Fast Track) มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้เกิดความรวดเร็ว มีคณะกรรมการ PPP กำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้ สำหรับหน่วยงานที่จะกำหนดว่า โครงการใดควรเข้ามาตรการ PPP Fast Track ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และสำนักงบประมาณ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“ขณะนี้ โครงการที่อยู่ภายใต้มาตรการ PPP Fast Track ที่สำเร็จไปแล้ว 5 โครงการ และอยู่ในแผนยุทธศาสตร์การให้เอกชนร่วมลงทุนในการกิจการของรัฐ (Pipe Line) ปีนี้ มีจำนวน 11 โครงการ ซึ่งสามารถดำเนินการต่อไปได้ภายใต้หลักเกณฑ์ของกฎหมายร่วมทุนฉบับปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในร่าง พ.ร.บ. กำนหดให้มีการเปิดเผยข้อมูล ตรวจสอบได้ (Transparency) และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชนและหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ครม. เห็นชอบร่าง พ.ร.บ. PPP ฉบับใหม่ ยกระดับร่วมลงทุนรัฐ-เอกชนพ้องสากล
ครม. ไฟเขียวรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 220 กม. รูปแบบ PPP Net Cost


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว