กมธ. ชงสภาฯ โหวต 'พ.ร.บ.น้ำ' สิ้นเดือนรู้ผล

08 เม.ย. 2561 | 08:52 น.
080461-1545

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับหลักการมาตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2560 และได้ขยายเวลาการพิจารณาตามลำดับ

ล่าสุด ครั้งที่ 7 จะครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ค. 2561 ถือเป็นร่างกฎหมายที่มีการพิจารณามานานมาก (รวม 398 วัน นับถึงวันที่ 3 เม.ย. 61) และยังไม่แน่ใจว่า ทางคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างฯ ที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน จะขยายเวลาอีกหรือไม่ และจะไปสิ้นสุดเมื่อใดนั้น

 

[caption id="attachment_274474" align="aligncenter" width="317"] สุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... สุรจิต ชิรเวทย์
กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ...[/caption]

นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นับตั้งแต่รับหลักการมา ทาง กมธ. ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. หรือ ร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ ซึ่งมี 100 มาตรา ครบถ้วน และได้ทบทวนร่างกฎหมายมา 2 รอบแล้ว กำลังเข้าสู่การทบทวนรอบที่ 3 ซึ่งขณะนี้ ได้มีการพิจารณาอยู่ในมาตรา 75 คาดจะเสร็จสิ้นเดือน เม.ย. นี้ หากพิจารณาเสร็จแล้ว จะนำเข้าสู้ที่ประชุม สนช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 หากที่ประชุมเห็นชอบและไม่มีการแก้ไข นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

“ยังไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า ร่างกฎหมายนี้ ทุกคนจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีผลกระทบกับหลายฝ่าย ปัจจุบัน ทางคณะได้ลงไปรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียแล้ว ใน 57 จังหวัด และได้นำความเห็นในมาตราต่าง ๆ มาพิจารณาประกอบ ยืนยันว่า ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง ซึ่งหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 258 ช. ด้านอื่น ๆ (1) ที่ได้บัญญัติไว้ว่า ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพเป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

นายสุรจิต กล่าวอีกว่า จาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นกฎหมายกลางในการบริหารจัดการน้ำของประเทศ ดังนั้น จะต้องมีการแก้ไขโครงสร้างขององค์กรในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนประเด็นการแบ่งประเภทการใช้น้ำนั้น ได้แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามร่างเดิมที่เสนอมา (โดยกรมทรัพยากรน้ำ) ซึ่ง กมธ. เห็นว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องให้ระยะเวลาสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ที่จัดตั้งโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 46/2560 (ซึ่งภายหลัง คสช. ให้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ไปดำเนินการออกกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการจัดเก็บค่าใช้น้ำ เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากขึ้น และให้รับฟังความคิดเห็นจาก 25 ลุ่มน้ำ ก่อนจัดแบ่งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตรงนี้ กมธ. เขียนกำกับไว้ในร่างกฎหมายชัดเจน โดยย้ำว่า จะต้องปฏิบัติก่อนที่จะมีกฎหมายลูก ดังนั้น ให้ระยะเวลา 2 ปี ไปดำเนินการ ทั้งนี้ ยังยืนว่า การใช้น้ำสาธารณะสำหรับการเกษตร หรือ เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำ

ด้าน พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ กล่าวว่า หากพิจารณาทบทวนร่าง พ.ร.บ. เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะส่งร่างฯ ไปยังรัฐบาล เพื่อให้ความเห็นในการขอแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในสิ้นเดือน เม.ย. นี้ สำหรับร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ปี 2554 ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาตั้งแต่ปี 2556 ก่อนที่ คสช. จะเข้ามาบริหารประเทศในเดือน พ.ค. 2557 และในปี 2558 มีแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ เรียกว่า ฉบับของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ที่ปัจจุบัน เป็นรองนายกรัฐมนตรี

 

[caption id="attachment_274475" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์  ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์
ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯ[/caption]

“ร่างฯ ฉบับเดิม ที่ให้กรมทรัพยากรน้ำ มีงานทั้งกำกับและปฏิบัติด้วย ผิดหลักการ ซึ่งทางกรรมาธิการได้สอบถามความคิดเห็นไปยังรัฐบาล ก็เงียบไม่ได้ตอบอะไร แต่ปรากฏว่า มีคำสั่ง คสช. ที่ 2/2561 ตั้งหน่วยงานใหม่ คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ขึ้นมา ให้ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับการบริหารน้ำทั้งประเทศ แสดงว่า คสช. มีอำนาจที่จะบอกว่า เอาหรือไม่เอา ที่จะให้กรมทรัพยากรน้ำทำหน้าที่นี้หรือไม่ ทางกรมจะไปอ้างว่า ร่างฉบับนี้แก้ไขผ่าน ครม. มาแล้ว รัฐบาลเสนอเข้า สนช. แล้วถามว่า คสช. กับรัฐบาล ใครใหญ่กว่ากัน ณ วันนี้ ภายในคณะฯ ไม่ได้ขัดแย้ง ยกเว้นบางคนที่ไม่ค่อยได้เข้าประชุม จากประชุมร่วมกว่า 100 ครั้ง เข้าร่วม 40 ครั้ง ถามว่า ยังเป็นเจ้าหน้าที่รัฐอยู่หรือเปล่า”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ฐานเศรษฐกิจวาระพิเศษ | ชำแหละ พ.ร.บ.น้ำ ประชาชนรับกรรม?
ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ : เดินหน้า พ.ร.บ.น้ำ-เก็บเงินผู้ใช้


e-book-1-503x62