นายกฯชี้ ไทยพร้อมจับมือนานาชาติพัฒนาอนาคตร่วมกัน

07 เม.ย. 2561 | 06:07 น.
เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2561 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ“ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”ว่า “ ช่วงสุดสัปดาห์ก่อน ผมได้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 6 ประเทศ GMS น่ะนะครับ ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม

กลุ่มอนุภูมิภาค GMS นี้ มีสมาชิกประกอบไปด้วย ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ยูนนานและกวางสี นะครับ ในเชิงภูมิศาสตร์ กลุ่มประเทศ GMSถือเป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมโยงติดต่อระหว่างภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ความร่วมมือที่สำคัญโดยเฉพาะในเรื่องการค้าการลงทุน

ซึ่งในภูมิภาคส่วนนี้ มีพื้นที่รวมกันประมาณ 2 ล้าน 3 แสน ตารางกิโลเมตร มีประชากรรวมกันประมาณ 250 ล้านคน และอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากร ธรรมชาติ ซึ่งความร่วมมือนี้ก็เพื่อจะพัฒนาภูมิภาคนี้ จะเพิ่มประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่เอง และพื้นที่อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงโดยรอบด้วย

กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาค GMS นี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยมีธนาคารพัฒนาเอเชีย ADB เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลัก เพื่อดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรกรรม และบริการ สนับสนุนการจ้างงานและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน

ตลอดจนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถรวมทั้งโอกาสทางเศรษฐกิจในเวทีการค้าโลก ตามยุทธศาสตร์ 3 C ได้แก่Connectivity หรือ การเพิ่มความเชื่อมโยง Competitiveness หรือ การยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และ Community หรือการทำงานแบบประชาสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้อนุภูมิภาค GMS เป็นภูมิภาคที่มั่งคั่งและยั่งยืน นะครับ

ตลอด 25 ปี ที่ผ่านมา ความร่วมมือในอนุภูมิภาค GMS มีความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมโดยเฉพาะการเชื่อมโยงแบบ “ไร้รอยต่อ” ทั้งความเชื่อมโยงด้านกายภาพระหว่างกัน เช่น สะพาน 80 แห่ง เส้นทางถนนกว่า 10,000 กิโลเมตร เส้นทางรถไฟกว่า 500 กิโลเมตร สายส่งไฟฟ้ากว่า 3,000 กิโลเมตร และความสามารถในการผลิตพลังงานไฟฟ้ากว่า 1,570 เมกะวัตต์

และความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพด้วยนะครับ ซึ่งทั้งนี้จำเป็นต้องมี “จุดร่วม” ระหว่างกัน ทั้งความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ และผลประโยชน์ “ต่างตอบแทน” ซึ่งกันและกัน

ที่ผ่านมา ก็ได้มีการให้สัตยาบันร่วมกันในการปฏิบัติภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้าโขง เพื่อให้สามารถเดินหน้าดำเนินการได้ รวมถึงมีพัฒนาการในสาขาพลังงาน ที่ได้ปรับปรุงหลักการและระบบซื้อขายให้เอื้อต่อการสนับสนุนการจัดตั้งตลาดพลังงานของภูมิภาคโดยเร็วด้วยนะครับ

ในการประชุมครั้งนี้ ผมในฐานะผู้แทนประเทศไทย ก็ได้นำเสนอต่อที่ประชุมถึงแนวปฏิบัติเป็นเลิศ (best practice) ของประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจ รวมถึงนำเสนอประสบการณ์ของไทยในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรกรรม สร้างสมดุลการใช้น้ำตามหลักการสากล

และความตั้งใจที่จะสร้างความเข้มแข็งในประชาคมอนุภูมิภาค โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง นอกจากนี้เรายังได้แสดงท่าทีในการผลักดัน เน้นย้ำและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมตามแผนงานของ GMS อย่างต่อเนื่องใน 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

1. การผลักดันและสนับสนุนให้หน่วย งานที่เกี่ยวข้องของไทยเร่งรัดการดำเนินงานตามกรอบการลงทุนในภูมิภาค ปี 2565 ให้เป็นรูปธรรมตามกำหนดเวลา ซึ่งในส่วนของประเทศไทยประกอบด้วยโครงการลงทุน เช่น เส้นทางรถไฟ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ

และโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการจำนวน 79 โครงการ นอกจากนี้ ไทยจะเดินหน้าสนับสนุนให้เอกชนมีส่วนร่วมหรือเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และมีการจัดตั้งกลไกการระดมเงินทุนใหม่ ๆ เพื่อการพัฒนาแผนงานโครงการลงทุนให้ก้าวหน้าอีกด้วย

2. เน้นย้ำการขยายและเชื่อมต่อโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และการอำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

3. เน้นย้ำความสำคัญของนโยบาย EEC และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจใน GMS เพื่อจะเพิ่มโอกาสการพัฒนาฐานการผลิตเชื่อมโยง และการลงทุน เพื่อสร้างและเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่า ทั้งภายในและภายนอกอนุภูมิภาค และเชื่อมโยงเครือข่ายอุตสาหกรรมต่อเนื่องในลักษณะคลัสเตอร์ได้ดีขึ้น เพื่อปรับ เปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภายใต้ Thailand 4.0 ด้วย

4. สนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าในอนุภูมิภาค GMSโดยมุ่งอำนวยความสะดวกเชิงกฎระเบียบให้ผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าถึงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าในอนุภูมิภาค GMS เพื่อนำไปสู่การเปิดตลาดซื้อขายไฟฟ้า และเพิ่มการมีส่วนร่วมระหว่างหลายภาคส่วนในอนาคต

5. สนับสนุนการปรับปรุงสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนในภูมิภาค ผ่านการดำเนินการต่างๆ เช่น พิจารณากลไกการค้ำประกันสินเชื่อ แก่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)การปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน และสนับสนุนการเพิ่มบทบาทของสมาคมขนส่งอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

และ 6. เน้นย้ำการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและการบริหารจัดการภัยพิบัติ เพื่อจะก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงสีเขียวร่วมกัน หรือ Green Mekong นะครับ ระยะต่อไป ประเทศสมาชิกในภูมิภาคจะเพิ่มการสนับสนุนการร่วมมือระหว่างรัฐกับภาคเอกชนมากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ยังจะพัฒนาความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น กรอบอาเซียน ACMECS และ BIMSTECให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพลังขับเคลื่อนในอนุภูมิภาค ในการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบให้เป็นระบบเดียวกัน จาก GMS ถึงอาเซียน ถึงเอเชีย และถึงโลก เพื่อจะวางรากฐานในการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งไทยยินดีที่จะใช้หลักการส่งเสริมการลงทุนที่เรียกว่า Thailand บวกหนึ่ง ควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสหารือทวิภาคีกับนายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และนายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

โดยไทยและ สปป. ลาว มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น และมีกลไกความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพ และยังมีความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงที่สำคัญ เช่น สะพาน และถนนสายต่าง ๆ ซึ่งไทยและลาวจะร่วมกันพัฒนาความเชื่อมโยงให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ 2 ประเทศ และภูมิภาค รวมทั้งเส้นทางรถไฟด้วยนะครับ

สำหรับเวียดนามนั้นมีมูลค่าการค้าที่สูงขึ้นระหว่างกันต่อเนื่องนะครับ ผมเองก็ได้หยิบยก ขอให้เวียดนามดูแลสนับสนุน นักลงทุนจากไทยในสาขาต่างๆ เช่น ธนาคาร พลังงานลม การปิโตรเคมี และเร่งกระบวนการนำเข้ารถยนต์จากไทย อีกทั้งได้กำชับนักลงทุนไทยตลอดว่าให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ กติกา กฎหมายในการดูแลสิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชนของเวียดนาม ในการประกอบการธุรกิจอีกด้วยนะครับ

นอกจากนี้ ผมและนายกรัฐมนตรีเวียดนามได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในพิธีมอบใบอนุญาตการลงทุนในโครงการอมตะ ซิตี้ ฮาลอง (AMATA City Halong) ที่นักลงทุนไทยกลุ่มอมตะฯ ได้เข้าลงทุนที่เวียดนาม ที่เมืองฮาลอง จังหวัดกว่างนิงห์ ซึ่งเป็นโครงการในการยกระดับนิคมอุตสาหกรรม สู่ผู้นำเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บนพื้นที่การลงทุนใหม่ประมาณ 36,200 ไร่
เสริมเรื่องเวียดนาม

ก็มีข้อสังเกตนะครับในการลงทุนในประเทศเวียดนามนั้น จะเห็นได้ว่ามีการลงทุนในพื้นที่ขนาดใหญ่นะครับ สามหมื่นกว่าไร่นะครับ (สามหมื่นกว่าตารางกิโลเมตร..น่าจะผิด) แล้วเขาทำได้นะครับ ของเรานี่ เราทำแบบของเรานี่ ก็ลองดูซิว่า สิทธิประโยชน์ แรงจูงใจต่างๆ จะทำได้อย่างไร ที่จะสามารถจะเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศได้นะครับ

ผมไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำแบบเขาทั้งหมดนะครับ เพราะเราก็คือบ้านเรา คนของเรา พื้นที่ของเรา ก็ต้องหาวิธีการว่าทำอย่างไร เราถึงจะชดเชยความต่างเหล่านี้นะครับ อันนี้ก็ฝากคิดไว้ด้วยกัน ด้วยก็แล้วกัน นะครับ เป็นเรื่องของการทำเพื่ออนาคตนะครับ เพราะว่าประเทศไทยที่ดินทั้งหมดเป็นของเอกชนเกือบทั้งสิ้นนะครับ

หลายอย่างที่เราทำมากว่าจะขับเคลื่อนในเรื่อง EEC ออกมาได้ก็ยากลำบากพอสมควรนะครับ อันนี้แหละคือความแตกต่าง เพราะฉะนั้นไม่อยากให้คนเอาไปบิดเบือนนะว่าเราทำเศรษฐกิจไม่ได้ ทำไม่ดี สู้เขาไม่ได้ทำนองนี้นะครับ ก็ลองดูเหตุ ดูผลด้วยแล้วกัน อันนี้ผมเป็นข้อสังเกตเฉยๆ นะครับ

ซึ่งก็ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนในสองประเทศเพื่อต่อยอดการค้าการลงทุนระหว่างกันต่อไปด้วย นะครับ ทั้งนี้ผมอยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความมุ่งมั่น จริงใจ ตั้งใจในการทำงานเพื่อพวกเราทุกคน และเพื่อบ้านเมืองของเราในอนาคตนะครับ

นอกจากการประเมินในมิติต่างๆ เช่น การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือการอำนวยความสะดวกในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ Ease of doing business นะครับ และการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อพลิกฟื้นความเชื่อมมั่นในเวทีระหว่างประเทศ ด้วยการดำเนินการตามสนธิสัญญา พันธะสัญญา กติกาสากลต่างๆ

เช่น เรื่องงาช้าง CITES การประมงผิดกฎหมาย IUU การค้ามนุษย์ TIP Report การบินพลเรือน ICAO เป็นต้น... ผมได้รับรายงานว่าองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจหรือ OECD นะครับ ซึ่งองค์กรต่างๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญ หรือให้น้ำหนักกับท่าที หรือรายงานต่างๆ ด้านเศรษฐกิจ

ประกอบด้วย ประเทศสมาชิก 30 กว่าประเทศ นะครับ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป มีประเทศในเอเชีย 2 ประเทศเท่านั้น คือ ญี่ปุ่นและเกาหลี ประเด็นสำคัญ คือ OECD มีท่าทีพึงพอใจอย่างมาก กับการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ และ คสช. โดยเฉพาะที่เราจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนการปฏิรูปประเทศ ที่รอบด้าน และมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ดีอย่างต่อเนื่อง

รวมถึงความมุ่งมั่นที่จะปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลสนับสนุน หรือ “ติดอาวุธ” ให้กับองค์กรปราบทุจริต ทั้งกำลังคนและอำนาจทางกฎหมาย โดยพึงพอใจที่มีการออกกฎหมายสำคัญๆ อาทิ กฎหมายเกี่ยวกับวินัยการเงิน การคลัง การจัดซื้อจัดจ้าง การคุ้มครองพยาน รวมทั้งมาตรการต่อต้านทุจริต ซึ่งเพิ่มความพยายามในด้านคน งบประมาณ กฎหมาย

และตั้งองค์กรป้องกันและปราบปรามทุจริต ที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดผลกระทบต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นภาพลักษณ์ที่ดี เป็นมาตรฐานสากล เป็นสายตาชาวโลกที่เฝ้ามองเราอยู่นะครับ และย่อมส่งผลย้อนกลับมาในทางบวก ทั้งในเรื่องความร่วมมือ การค้าการลงทุน ในทุกด้าน และในทุกระดับ ตามมาด้วยนะครับ และจะช่วยให้ความเป็นอยู่ และรายได้ของพี่น้องประชาชนสูงขึ้น “ทางอ้อม” เพราะเป็นความเชื่อมโยง ระหว่างห่วงโซ่ในประเทศ และระหว่างประเทศ”