ข้าพระบาท ทาสประชาชน : รัฐธรรมนูญ 2560 ความงามบนความอัปลักษณ์

06 เม.ย. 2561 | 09:47 น.
 

รธน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ได้ตราขึ้นและ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลปัจจุบัน อีกไม่กี่วันก็จะครบกำหนดเวลา 1 ปีแล้ว จึงขอกล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในมุมของความงามในสายตาผู้เขียนบ้าง เพราะนับตั้งแต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นชอบจนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของประเทศไทย หลังการรัฐประหารยึดอำนาจโดย คสช.เป็นต้นมา

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จากบรรดานักกฎหมาย นักการเมือง และประชาชนผู้รักและนิยมศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต่างตีค่าและให้ราคารัฐธรรมนูญ 2560 ไปในทางที่ไม่สู้จะดีนัก เช่น เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถอยหลังลงคลอง หรือฉบับเผด็จการสืบทอดอำนาจ, ฉบับอัปลักษณ์ทางการเมือง, กระทั่งเรียกว่าฉบับศรีธนญมีชัยรับใช้เผด็จการ และอื่นๆ อีกมากมาย สุดแต่จะสรรหาคำมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งก็เป็นไปในทางลบและเสียหายแก่คณะผู้ยกร่างและให้ความเห็นชอบ โดยตีกระทบชิ่งไปถึง คสช.ทั้งสิ้น

ซึ่งผู้เขียนเองก็เห็นว่ามีมูลอยู่ไม่น้อยว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกจะมีความพิกลพิการและแสดงอภินิหารเหาะเหินตีลังกาทางกฏหมายอยู่มากเช่นกัน แต่ขออนุญาตยังไม่วิพากษ์ใดๆ ณ ที่นี้ อยากจะพูดถึงมุมในความงามที่ปรากฎบนความอัปลักษณ์เสียก่อน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว-11 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ผู้เขียนและบุคคลสำคัญๆ ของบ้านเมืองหลายท่าน ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 212 และ 213 ซึ่งถ้าฟังเพียงเท่านี้คงมีคำถามและข้อสงสัยว่า เกี่ยวกับความงามอะไรของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นอยู่ตรงนี้ครับ เดิมรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา ล่าสุดคือปี 2550 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติของกฏหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” แต่เมื่อมาถึงปี 2560 ได้บัญญัติเรื่องนี้ขึ้นใหม่โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 5 ว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎหรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้...” นี่คือความงามอันหนึ่ง ซึ่งหากใครมิได้สังเกตก็จะไม่เข้าใจว่าต่างกันอย่างไร

สิ่งที่ต่างกันและมีนัยความสำคัญอย่างยิ่งคือ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 5 บัญญัติครอบคลุมไปถึงคำว่า หรือการกระทำใด....ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญด้วย โดยมิได้จำกัดอยู่แต่เพียง กฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับเท่านั้นที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ที่จะใช้บังคับมิได้ แม้แต่การกระทำทั้งหลาย ถ้าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นก็เป็นอันใช้บังคับมิได้ด้วย ถือเป็นการเพิ่มเติมจากหลักการเดิมๆ ในทางที่เป็นคุณต่อประชาชนและบุคคลทั้งหลายภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากพบเห็นการกระทำใดของบุคคลใดๆ หน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการใดที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็สามารถหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นเป็นข้อต่อสู้ หรือข้อคัดค้านโต้แย้งสิทธิของตนได้ ประเด็นนี้ยังไม่เคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใด ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นเจตนาที่ดียิ่งของผู้ร่าง และเป็นคุณแก่ประชาชนอย่างยิ่ง

file_3733 เมื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าว ประกอบกับบทบัญญัติที่มีอยู่เดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 คือบทคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ ที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ รัฐธรรมนูญ 2560 ก็นำมาบัญญัติไว้ในมาตรา 25 ด้วยว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชน นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้และได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้น ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่น

สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับบุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้ บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ”

14440109021444010965l
จากบทบัญญัติดังกล่าว ประชาชนหรือบุคคลใดๆ ถูกการกระทำใดอันเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญก็ดี หรือถูกการกระทำอ้นเป็นการละเมิดต่อสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ทุกประการ สามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในทางศาล และเรียกให้รัฐเยียวยาค่าเสียหายได้อีกด้วย เพื่อการใช้สิทธิของประชาชนดังกล่าว

นอกจากนี้ เดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็ได้มีประกาศราชกิจจาบังคับใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีศาลรัฐธรรมนูญ 2560 มารองรับการใช้สิทธิต่างๆ ดังกล่าวของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากเป็นการร้องว่า กฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ก็ยื่นต่อศาลนั้นได้ หากกรณีเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน ก็ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นเรื่องให้ ผู้ร้องที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ก็สามารถยื่นคำร้องได้เองต่อศาลรัฐธรรมนูญ
14150082341415008244l ด้วยเหตุนี้ จึงมีการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น จากบุคคลที่ถูกกลั่นแกล้งยัดเยียดข้อหา เพราะผู้ยื่นคำร้องเห็นว่า พนักงานสอบสวน และอัยการ กระทำการอันเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน ในกรณีที่ประชาชนชุมนุมทางการเมืองเท่านั้น แต่ตั้งข้อหาที่เป็นเท็จและร้ายแรงเกินความเป็นจริง เช่น ก่อการร้าย เป็นกบฎ และข้อหาร้ายแรงอื่น ๆ โทษถึงประหารชีวิต ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ อาจพลิกประวัติศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรมได้เลยทีเดียว

นี่แหละคือความงามของรัฐธรรมนูญ 2560 บนความอัปลักษณ์ที่ใครๆ รังเกียจ ประชาชนยังมีที่พึ่งสุดท้ายตามรัฐธรรมนูญ

..........................
คอลัมน์ :ข้าพระบาท ทาสประชาชน|หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3354 ระหว่าง วันที่ 3-5 เมษายน 2561
e-book-1-503x62