คุมสหกรณ์ขนาดใหญ่! รัฐเร่งผลักดันกฎหมาย มีผลในปีนี้

06 เม.ย. 2561 | 04:21 น.
060461-1106

จากการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ กรณีให้จัดตั้ง “หน่วยงานอิสระ” ขึ้นมากำกับสหกรณ์ออมทรัพย์ (สอ.) และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน (สค.) สอดคล้องกับมติ ครม. (7 มี.ค. 2560) ที่คณะกรรมการขับเคลื่อนด้านกฎหมาย ซึ่งมี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ และได้มีมติที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ครั้งที่ 2/2561 (7 มี.ค. 2561) ให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัด เสนอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ พ.ศ. .... เสนอต่อ ครม. ให้ได้ภายใน 3 เดือน หรือในเดือน มิ.ย. ปีนี้

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ กล่าวว่า หลังจัดรับฟังความเห็นจากตัวแทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนขนาดใหญ่ ที่มีทุนดำเนินงานเกิน 5,000 ล้านบาท เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า มีความเห็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเห็นควรมีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่แยกออกไปต่างหาก อีกกลุ่มเห็นว่า ควรอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ซึ่งยังสามารถดูแลสหกรณ์ได้ดีอยู่ อีกทั้งกระทรวงเกษตรฯ กำลังจะเสนอปรับแก้ไขอยู่แล้ว อยู่ในขั้นตอนที่เลขานุการ ครม. เตรียมจะเสนอ ครม.

 

[caption id="attachment_274165" align="aligncenter" width="503"] วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์  ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อร่วมพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้[/caption]

ขณะที่ บางกลุ่มเห็นว่า ควรจะแยกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนทั้งหมด 2,000 แห่ง ไปอยู่ภายใต้หน่วยงานการกำกับของกฎหมายใหม่ ไม่ควรแยกเฉพาะรายใหญ่ 134 แห่ง ที่ทุนดำเนินการเกิน 5,000 ล้านบาท เท่านั้น โดยสหกรณ์ที่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ให้อยู่กระทรวงเกษตรฯ

เรื่องการเก็บรายได้เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับฯ ให้กำหนดรูปแบบเดียวกับ ก.ล.ต. โดยที่สหกรณ์ขนาดใหญ่ต้องนำมาส่งเงิน เพื่อเป็นทุนดำเนินงานของสำนักงานในอัตราที่พระราชกฤษฎีกา มาตรา 27 กำหนดไม่เกินร้อยละ 1 ของกำไรสุทธิ โดยระยะแรกจะใช้เงินอุดหนุน หรือ งบประมาณจากรัฐบาล

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“กำไรสุทธิของสหกรณ์ขนาดใหญ่รวมกันอยู่ที่ 70,000 ล้านบาทต่อปี ถ้านำส่งร้อยละ 1 ก็ประมาณ 700 ล้านบาท แต่ประเด็นนี้สหกรณ์ไม่เห็นด้วย”

ส่วนเรื่องคณะกรรมการสรรหา สหกรณ์เสนอว่า ตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ 7 คน อยากให้มีตัวแทนจากสหกรณ์ หรือ กำหนดตัวแทนจากสหกรณ์ หรือ กำหนดในกฎหมายตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิให้มาจากสหกรณ์ 3 คน จากที่ร่าง พ.ร.บ.เดิม ไม่ระบุ พร้อมได้เสนอให้เปลี่ยนชื่อร่างกฎหมายนี้ โดยใช้ชื่อว่า ‘ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการกำกับสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยน’ และเปลี่ยนชื่อคณะกรรมการกำกับกิจการสหกรณ์การเงินขนาดใหญ่ เป็น ‘คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน’ เพื่อให้มีความชัดเจน


MP24-3335-A-1

สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. นี้ จะมีเรื่องการตั้ง ‘กองทุนคุ้มครองเงินฝาก’ ของ ‘สมาชิกสหกรณ์’ โดยจะเก็บจากสหกรณ์ร้อยละ 0.7 ของเงินรับฝาก รองรับกรณีหากมีสหกรณ์ใดต้องล้ม หรือ เลิกกิจการ สมาชิกจะได้รับความคุ้มครองบัญชีละไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่จะไม่รวมการลงทุนในหุ้นสหกรณ์ของสมาชิก อย่างไรก็ดี จะไม่คุ้มครองสมาชิกของสหกรณ์ที่มีทุนดำเนินการต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสนอว่า ไม่ควรแยกสหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตยูเนี่ยนเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น

“พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะให้อำนาจคณะกรรมการในการกำกับสหกรณ์ขนาดใหญ่, การกำหนดนโยบายการให้สินเชื่อแก่สมาชิก รวมถึงการออกหลักเกณฑ์ให้สมาชิกต้องเข้าเครดิตบูโร จากที่ พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ. 2542 ไม่ได้ให้อำนาจแก่นายทะเบียนในการกำหนดนโยบาย ทำให้บางสหกรณ์ปล่อยกู้ให้สมาชิกรายละ 6-7 ล้านบาท บ้าง ทั้งที่ความสามารถในการชำระหนี้ไม่ถึงทำให้เกิดหนี้เสีย”


16303985430885488748

นายวิศิษฐ์ กล่าวมั่นใจว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะออกบังคับใช้ทันภายในปี 2561 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งมีรัฐบาลชุดใหม่ โดยจะจัดรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง รอบต่อไปในปลายเดือน เม.ย. นี้ และในเดือน มิ.ย. จะต้องมีข้อยุติทั้งหมดจากคณะทำงานฯ รวมถึงเกณฑ์กำกับที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ได้แก่

1.การจัดสรรกำไรสุทธิเป็นเงินปันผล ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี และต้องไม่เกินร้อยละ 80 ของกำไรสุทธิ
2.ด้านการลงทุน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง
3.เรื่องการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่น้อยกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากบวกเงินกู้ยืมผ่อนปรนใน 3 ปีแรก ซึ่งเกณฑ์กำกับทั้ง 3 ด้าน ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป


TP15-3311-1

ปัจจุบัน สหกรณ์ที่มีเงินลงทุนเกินกว่าร้อยละ 20 ของทุนเรือนหุ้นรวมกับทุนสำรอง มีประมาณ 30 แห่ง เป็นวงเงินลงทุนเกิน 1.8 แสนล้านบาท จำนวนนี้เป็นสหกรณ์ที่ลงทุนเกินตั้งแต่ 104-383% จำนวน 8 แห่ง อาทิ ชุมนุมสหกรณ์ตำรวจแห่งชาติ, สหกรณ์โรงพยาบาลตำรวจ, สหกรณ์ ปตท., สหกรณ์มหาวิทยาลัยเกษตร ฯลฯ เป็นกลุ่มสหกรณ์ที่นำเงินฝากสมาชิกมาลงทุนกับสหกรณ์ที่เน้นลงทุน โดยซื้อหน่วยลงทุน สหกรณ์ประเภทหลังนี้ไม่น่าห่วง


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : วิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,354 วันที่ 5-7 เม.ย. 2561 หน้า 24

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปลดฟ้าผ่า!! กรรมการสหกรณ์สโมสรรถไฟ
สหกรณ์ชาวนาเกลือ 3 จังหวัด จัดประมูลเกลือทะเลยกระดับราคา


e-book-1-503x62