สงกรานต์คนกรุงฯ ปี’61 คาดเม็ดเงินสะพัด 24,140 ล้านบาท

05 เม.ย. 2561 | 09:05 น.
สงกรานต์คนกรุงฯ ปี’61: คาดเม็ดเงินสะพัด 24,140 ล้านบาท ... ผู้ประกอบการเร่งจูงใจคนกรุงฯ ที่วางแผนอยู่ในกรุงเทพฯ มากขึ้น

ประเด็นสำคัญ

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 คนกรุงเทพฯ จะมีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงิน 24,140 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.0 จากจำนวนวันหยุดที่มากกว่าและบรรยากาศที่ผ่อนคลายขึ้นกว่าปีก่อน

•คนกรุงฯ ร้อยละ 53.0 เลือกทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ประเด็นที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมคนกรุงฯ เริ่มเปลี่ยน จากเดิมที่นิยมกลับบ้านต่างจังหวัดหรือวางแผนเดินทางท่องเที่ยว เปลี่ยนมาเป็นเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีที่แล้ว สะท้อนว่า น่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในการจับตลาดผู้บริโภคคนกรุงฯ ที่เลือกอยู่กรุงเทพฯ ในช่วงสงกรานต์ปีนี้และปีต่อๆไป เพราะน่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ในกิจกรรมหลายๆ อย่างที่คนกรุงฯ สนใจจะทำในช่วงสงกรานต์จะเป็นกิจกรรมที่ทำภายในบ้าน อาทิ จัดปาร์ตี้นัดเลี้ยงสังสรรค์ภายในบ้าน หรือหากเป็นกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะเป็นการท่องเที่ยวระยะใกล้ๆ ซึ่งจังหวัดยอดนิยมคือ อยุธยา หรือถ้าทำกิจกรรมภายในกรุงเทพฯ จะยังนิยมไปห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

•ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผู้ประกอบการที่พร้อมตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องของการอำนวยความสะดวกทางด้านบริการต่างๆ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่เชื่อมโยงระหว่างช่องทาง Offline และ Online น่าจะจูงใจหรือกระตุ้นให้คนกรุงฯ เกิดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์ในช่วงสงกรานต์ปีนี้ น่าจะเป็นธุรกิจที่สอดรับกับพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่คนกรุงฯ จะเลือกทำ อาทิ ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery Service) ห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารในห้างฯ ร้านค้าออนไลน์ รวมถึงธุรกิจจัดส่งสินค้า (ที่สนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์วันที่ 12-16 เมษายน 2561 คนกรุงฯ จะมีการจับจ่ายใช้สอยคิดเป็นเม็ดเงิน 24,140 ล้านบาท  ขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว ซึ่งในปีนี้ภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยน่าจะให้มุมมองที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนจากบรรยากาศที่ผ่อนคลายขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ในช่วงของการไว้อาลัย ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ทั้งการเพิ่มวันหยุดและมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง  อย่างไรก็ดี ผลจากความไม่สะดวกในการเดินทาง (การจราจรที่ติดขัด/การเดินทางที่ต้องใช้เวลานานในช่วงเทศกาล) สภาพอากาศที่ร้อนมากและแปรปรวน ยังเป็นปัจจัยกระทบต่อการวางแผนตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมและการจับจ่ายใช้สอยในช่วงสงกรานต์ปีนี้ นอกจากนี้ ค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือน ก็ยังเป็นอีกประเด็นที่อาจจะทำให้คนกรุงฯ บางส่วนยังคงระมัดระวังกับการใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ไม่สูงมาก ซึ่งคนกลุ่มนี้เลือกที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น ลดการช็อปปิ้งในสินค้าที่ไม่จำเป็น เลือกที่จะพักผ่อนอยู่บ้านในช่วงสงกรานต์ที่หยุดยาว หรือเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ แทนการกลับบ้านต่างจังหวัด (กรณีคนที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ) เป็นต้น kb05-1 ทั้งนี้ เม็ดเงินค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2561 แยกเป็นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงสังสรรค์ (อาหารและเครื่องดื่ม) 9,200 ล้านบาท ค่าที่พัก/เดินทาง 6,300 ล้านบาท ช็อปปิ้ง 4,500 ล้านบาท ทำบุญไหว้พระ 2,040 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ อาทิ ให้เงินผู้ใหญ่ในครอบครัว ค่าเที่ยวสถานที่ต่างๆ/ดูหนังฟังเพลง/เล่นน้ำ 2,100 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายในทุกกิจกรรมมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในบางกิจกรรมอย่าง การช๊อปปิ้งและทำบุญไหว้พระ ก็พบว่า มีอัตราการขยายตัวที่น้อยกว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนยังระมัดระวังกับการใช้จ่ายอยู่ ทำให้งบประมาณที่จัดสรรไว้สำหรับการใช้จ่ายในส่วนนี้อาจจะไม่เพิ่มจากปีที่แล้วมากนัก kb05-2 คนกรุงฯ กว่าร้อยละ 53.0 เลือกวางแผนทำกิจกรรมในกรุงเทพฯ ช่วงสงกรานต์ปีนี้ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาคือ กลับบ้านต่างจังหวัด (ร้อยละ 27) และท่องเที่ยว (ร้อยละ 20) ประเด็นที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมคนกรุงฯ เริ่มเปลี่ยน จากเดิมที่นิยมกลับบ้านต่างจังหวัดหรือวางแผนเดินทางท่องเที่ยว เปลี่ยนมาเป็นเลือกอยู่ในกรุงเทพฯ ต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่งเหตุผลหลักน่าจะมาจากความแออัดของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในช่วงเทศกาลที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ความไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นทั้งสนามบิน สถานีขนส่ง ตลอดจนการจราจรบนท้องถนนที่คับคั่งและหนาแน่น  ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มที่คนกรุงฯ จะหันมาทำกิจกรรมต่างๆ ในกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลสงกรานต์น่าจะเพิ่มขึ้น และน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการในปีนี้และปีต่อๆ ไป ในการวางแผนจับตลาดผู้บริโภคคนกรุงฯ ที่เลือกอยู่กรุงเทพฯ ในช่วงสงกรานต์ เพราะน่าจะมีจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ เป็นที่สังเกตว่าในกิจกรรมหลายๆ อย่างที่คนกรุงฯ สนใจจะทำในช่วงสงกรานต์ปีนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมที่ทำภายในบ้าน หรือหากเป็นกิจกรรมนอกบ้าน ก็จะเป็นการท่องเที่ยวในระยะใกล้ๆ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

การนัดเลี้ยงสังสรรค์ เป็นกิจกรรมที่คนกรุงฯ ส่วนใหญ่วางแผนจะทำมากที่สุด รองลงมาคือ พักผ่อนอยู่บ้านและทำบุญตักบาตร ซึ่งในส่วนของการนัดเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมนั้น จากผลการสำรวจพบว่า คนกรุงฯ ร้อยละ 41 สนใจซื้ออาหารและเครื่องดื่มมาจัดสังสรรค์หรือปาร์ตี้ที่บ้านมากที่สุด รองลงมาคือ สั่งบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ (Food Delivery Service) ส่วนหนึ่งเพราะความนิยมในบริการของ Food Delivery ที่สั่งซื้อง่าย ไม่ต้องออกจากบ้านก็มีอาหารส่งตรงถึงบ้าน ส่วนในกิจกรรมรองลงมาอย่าง พักผ่อนอยู่บ้าน คนกรุงฯ ส่วนใหญ่ก็เลือกดูทีวี/ดูหนัง/ฟังเพลง สั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านช่องทางเดลิเวอรี่มารับประทานและเล่น Social Media (แชทพูดคุยกับเพื่อน/อัพรูป/ เช็คข่าวสารโปรโมชั่นสินค้าและบริการต่างๆ)

คนกรุงฯ ที่เลือกอยู่ในกรุงเทพ บางส่วนมีแนวโน้มหันมาท่องเที่ยวจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถเช้าไปเย็นกลับเพิ่มมากขึ้น โดยจังหวัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ อยุธยา ซึ่งส่วนหนึ่งคาดว่าน่าจะได้รับอิทธิพลจากละครย้อนยุคเชิงประวัติศาสตร์ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ รวมถึงการเลือกท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ซึ่งสถานที่ยอดนิยมที่คนกรุงฯ ยังให้การตอบรับมากก็คือ ห้างสรรพสินค้าต่างๆ และย่านสีลม (ที่มีกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงสงกรานต์)

สำหรับโอกาสทางธุรกิจและการปรับตัว เนื่องจากปีนี้ คนกรุงฯ ส่วนใหญ่เน้นทำกิจกรรมอยู่ที่บ้าน (เช่น เลี้ยงสังสรรค์หรือจัดปาร์ตี้ที่บ้าน สั่งอาหารเดลิเวอรี่มาทาน รวมถึงช็อปปิ้งออนไลน์) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เพื่อกระตุ้นให้คนกรุงฯ เกิดการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์ บรรดาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค้าปลีก ร้านอาหารเดลิเวอรี่ รวมถึงธุรกิจจัดส่งสินค้า (ที่สนับสนุนธุรกิจค้าปลีกออนไลน์) จะต้องมีการเตรียมความพร้อมต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การเพิ่มบริการที่หลากหลายและครอบคลุม เช่น การจัดเซตอาหารเพื่อเลี้ยงสังสรรค์ตามจำนวนคน มีเมนูอาหารที่หลากหลายให้เลือก รวมถึงการบริหารจัดการหลังร้าน ตั้งแต่การประกอบอาหารไปจนถึงการบริการจัดส่งที่รวดเร็ว เนื่องจากคาดว่า ในช่วงเทศกาลจะมีออเดอร์เข้ามามากกว่าปกติ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ลูกค้าต้องรอนาน ผู้ประกอบการจำเป็นต้องบริหารจัดการหลังร้านให้ดี ตั้งแต่ปริมาณอาหาร พนักงานและตารางการจัดส่งเดลิเวอรี่ หรือถ้าเป็นช็อปปิ้งออนไลน์ก็อาจมีบริการจัดส่งสินค้าเพิ่มในช่วงวันหยุด เป็นต้น

ในขณะที่คนกรุงฯ บางส่วนยังคงเลือกทำกิจกรรมในห้างสรรพสินค้า ซึ่งรวมถึงร้านอาหารภายในห้างฯ ก็อาจจะต้องปรับกลยุทธ์เพื่อจูงใจให้คนตัดสินใจใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังคงกังวลในเรื่องของกำลังซื้อ ผู้ประกอบการอาจจะต้องเน้นไปที่การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกในด้านบริการต่างๆ เพราะคาดว่าคนน่าจะเข้ามาใช้บริการมากกว่าปกติในช่วงเทศกาล เช่น ที่จอดรถ จุดชำระเงิน การต่อคิวร้านอาหาร เป็นต้น  โดยรูปแบบของการทำการตลาดก็ยังคงให้ความสำคัญกับการลดราคาสินค้า การชูความคุ้มค่าคุ้มราคา และการผ่อนชำระ 0% ที่นานขึ้น ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมร่วมสนุกที่เชื่อมโยงกับช่องทางออนไลน์ เช่น ถ่ายรูปสินค้าหรือแบรนด์และโพสต์ลง Social Media เพื่อลุ้นรับของรางวัลหรือส่วนลด หรือร้านอาหารอาจจะมีการเพิ่มเมนูสุดคุ้มหรือเมนูพิเศษในช่วงเทศกาล นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าก็อาจมีการจัดงานอีเว้นท์ต่างๆ เพื่อช่วยสร้างบรรยากาศภายในห้างฯ และกระตุ้นหรือจูงใจให้คนเข้ามาใช้จ่ายภายในห้างฯ มากขึ้น สะท้อนจากผลสำรวจกิจกรรมทางการตลาดที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของคนกรุงฯ มากที่สุด ยังคงเป็น กลยุทธ์ลด แลก แจก แถม (ร้อยละ 29) ตามมาด้วยการจัดโซนถ่ายรูปที่ระลึก เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าสนใจแวะชมสินค้า (ร้อยละ 19) การจัดอีเว้นท์ร่วมสนุก/ชิงรางวัล (ร้อยละ 15) และการให้สิทธิพิเศษกับลูกค้าที่ร่วมกิจกรรมของทางร้าน เช่น แต่งกายชุดไทยตามละครมาใช้บริการ ให้ส่วนลดเมนูอาหารดังในละคร (ร้อยละ 14)

นอกจากนี้ การที่คนกรุงฯ บางส่วนวางแผนท่องเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ ก็น่าจะเอื้อต่อผู้ประกอบการในละแวกสถานที่ท่องเที่ยวนั้นๆ หรือตามจุดแวะพักอย่างสถานีบริการน้ำมัน/แก๊ส ร้านอาหาร ร้านของขวัญ/ของฝาก เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงควรเตรียมความพร้อมในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย โปรโมทแทรกอีบุ๊ก