ไทยพร้อมร่วมมือปท.สมาชิกลุ่มน้ำโขงบริหารจัดการทรัพยากรให้มั่งคั่งยั่งยืน

05 เม.ย. 2561 | 08:25 น.
ไทยพร้อมร่วมมือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง บริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำโขงให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืน

วันนี้ (5 เมษายน 2561) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 แบบเต็มคณะ (Plenary) ณ ห้องบอลรูม 2 สกขารีสอร์ท แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ (Sokha Siem Reap Resort & Convention Center) โดยภายหลังการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

prim

นายกรัฐมนตรีกล่าวขอบคุณรัฐบาลกัมพูชา ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและจัดการประชุมในครั้งนี้ และชื่นชมต่อความสำเร็จและความก้าวหน้าในพันธกิจของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่เป็นผลมาจากความพยายามร่วมกัน อาทิ การปฏิรูปองค์กรและระบบการเงิน นายกรัฐมนตรีหวังว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงจะพัฒนาประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายในการรักษาความสมดุลของระบบนิเวศแม่น้ำโขงและแรงกดดันจากการพัฒนาในด้านต่างๆ มากยิ่งขึ้น

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิด 3 ประการ ต่อประเด็นที่ท้าทายการพัฒนาความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในอนาคต ดังนี้ ประการที่หนึ่ง นโยบายด้านความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขง นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารจัดการภัยทางธรรมชาติที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

prim1

ประเทศไทยได้น้อมนำปรัชญาและหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตามศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินงานและจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระยะยาวที่ครอบคลุม และสนับสนุนการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับน้ำในทุกมิติให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศตลอดจนเป้าหมายของ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ปี ค.ศ. 2030” โดยการบูรณาการการแก้ไขปัญหาที่ครอบคลุมเรื่องน้ำแล้งน้ำท่วม และน้ำเสียทั้งระบบ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกระดับการดูแลผู้ด้อยโอกาส เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชน ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืน

ประการที่สอง การดำเนินความพยายามในการผลักดันให้แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยง และยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของลุ่มน้ำ จากโครงการพัฒนาต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง การพัฒนาทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง จึงต้องยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสมดุลระหว่างระบบนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน สำหรับไทยมีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

prim2

นายกรัฐมนตรีหวังว่าจะเกิดความร่วมมือและความเชื่อมโยง ระหว่างกรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง(GMS) รวมทั้งกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาค ให้มีความใกล้ชิดและทำงานอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารและองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำอย่างแท้จริง

ประการที่สาม การพัฒนาบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มุ่งเน้นการนำผลการศึกษาและองค์ความรู้ แปลงสู่แผนการดำเนินงานที่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และข้อมูลในอนุภูมิภาคต่อไป

e-book-1-503x62