ขอรัฐ 2 พันล้าน อุ้ม SME เพิ่ม! หวั่นผลกระทบค่าแรง ขอขยายเวลาลดหย่อนภาษี 3 ปี

04 เม.ย. 2561 | 14:15 น.
040461-2049

1 เม.ย. ปรับค่าแรงขั้นต่ำ ห่วงมาตรการช่วย ‘เอสเอ็มอี’ ไม่เพียงพอ แนะขยายเวลาลดหย่อนภาษีให้เอสเอ็มอี 2-3 ปี พร้อมเสนอ ก.แรงงาน ผลักงบ 2,000 ล้าน พัฒนาขีดความสามารถเอสเอ็มอี

นับตั้งแต่ภาครัฐประกาศปรับ ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ตั้งแต่ 5-22 บาท ทั่วประเทศ หรือมีอัตราค่าจ้างตั้งแต่ 308-330 บาทต่อวัน ตามแต่พื้นที่ในแต่ละจังหวัดที่ทุกจังหวัดให้ความเห็นชอบ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป


app-P40-1

“ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจปฏิกิริยากลุ่มนายจ้าง ก่อนปรับขึ้นค่าแรงโค้งสุดท้าย พบว่า ส่วนใหญ่พร้อมเดินหน้าปรับค่าแรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอัตราจ้างระดับสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลประกาศออกมาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังมีข้อกังวลในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มีจำนวนมากกว่า 90% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ และส่วนหนึ่งก็เป็นซัพพลายเชนให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่อาจแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไม่ไหว เนื่องจากยังอยู่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจรากหญ้ายังไม่ดี และมีปัญหาสภาพคล่อง

ต่อเรื่องนี้ นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานงานแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นห่วงผู้ประกอบการกลุ่มเอสเอ็มอี และมองว่า มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มนี้ยังไม่พอเพียง และมีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐว่า ควรจะพิจารณาขยายเวลาลดหย่อนภาษี โดยให้ผู้ประกอบการที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท และมีลูกจ้างไม่เกิน 200 คน นำรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าแรงให้ลูกจ้างมาลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.15 เท่า หรือ 15% ของค่าจ้าง โดยเดิมให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ไปจนถึงสิ้นปี 2561 นั้น ควรจะขยายเวลาไปอีก 2-3 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ปรับตัว หลังจากที่มีปัญหาด้านการเงิน ผลกำไรก็ยังไม่ดี อีกทั้งเข้าถึงแหล่งเงินทุนยาก


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

“มาตรการที่รัฐให้ลดหย่อนภาษีเป็นระยะเวลาที่สั้นเกินไป จึงควรจะรอให้ผู้ประกอบการมีกำไรเข้ามาก่อน”

นอกจากนี้ ยังมองอีกว่า กระทรวงแรงงานควรผลักดันงบประมาณก้อนใหม่ จำนวน 2,000 ล้านบาท นำมาพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการเสริมสร้างประสิทธิภาพแรงงาน โดยจัดสรรงบประมาณก้อนนี้ลงมาช่วย เพื่อให้เกิดการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขณะนี้มีสัดส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในไทย 97% ของผู้ประกอบการทั้งหมดในประเทศ เมื่อมีประสิทธิภาพพัฒนาสินค้าจนมีกำไร ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้


09-3353

นายธนาวัฒน์ โพธิ์เผื่อนน้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.พี.เอ็น.ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตน้ำพริกสำเร็จรูปในแบบทานพอดีมื้อ ตามแบบฉบับน้ำพริกมินิสำเร็จรูป ภายใต้แบรนด์ ‘รุ่งเจริญ’ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทใช้แรงงานรวมประมาณ 50 คน อยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จ่ายค่าแรงต่อวัน 325 บาท การปรับค่าแรงนี้แต่ละครั้งก็ต้องยอมรับสภาพในการแบกภาระเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทก็ปรับตัวโดยนำเครื่องจักรที่ทันสมัย สามารถสร้างผลผลิตได้มากขึ้น เพื่อช่วยลดภาระในการจ่ายค่าแรงล่วงเวลาลง และสามารถจ่ายค่าแรงได้ตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่บริหารจัดการต้นทุนรวมได้ และบริหารจัดการให้มีผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงน้อยที่สุด

อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังไม่กระทบต่อแผนที่ประกาศว่า จะขยายตลาดส่งออกให้เต็มรูปแบบมากขึ้นในปี 2561 โดยรุกเข้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLMV ผ่านตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ ที่ยังเดินหน้าต่อไป จากที่ปัจจุบัน น้ำพริก ‘รุ่งเจริญ’ มีการส่งออกไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ ออสเตรเลีย และบางประเทศในตลาด CLMV อยู่ก่อนแล้ว แต่ยังไปไม่ได้ไม่เต็มที่


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 09
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“สมคิด” ตรวจงาน ก.อุตสาหกรรม กำชับดัน SME สู่ 4.0
เกาะติดอีอีซี : เอ็กซอนโมบิลจ่อลงทุน - จับมืออียูพัฒนาSMEs


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว