"กฤษฎา" กำชับงบไทยนิยม 2.4 หมื่นล้านโปร่งใสคุ้มค่า

04 เม.ย. 2561 | 02:32 น.
"กฤษฎา" กำชับงบไทยนิยม 2.4 หมื่นล้านโปร่งใสคุ้มค่า

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ ว่า ในเรื่องการดำเนินงานตามแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ที่กระทรวงได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 20 โครงการเป็นเงินงบประมาณกว่า 2.4 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ซึ่งในเบื้องต้นได้จัดทำแผนภูมิภาพ (Infographic) เพื่อให้เห็นวิธีการดำเนินงานตามแผนปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรให้ส่วนราชการต่างๆ ของไปแล้ว นั้น

การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรหมายถึง การขับเคลื่อนการผลิตด้านเกษตรกรรม 2 ประการคือการผลิตเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการค้าหรือพาณิชย์ ภายใต้หลักคิดการตลาดนำการผลิตกับการเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนให้เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภคหรือเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของเกษตรกร โดยการเกษตรเพื่อการผลิตทั้ง 2 ประการ มีเป้าหมายเดียวกันเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรที่ดีขึ้นและมีรายได้เพียงพอพ้นความยากจน เพื่อให้การดำเนินงานทั้ง 20 โครงการ โครงการตามแผนปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขอเน้นย้ำให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ ในสังกัด โดยเฉพาะหน่วยงานเจ้าของโครงการ ที่เป็นหน่วยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รวมทั้งระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ต้องคำนึงถึงความต่อเนื่อง คุ้มค่า และความโปร่งใสในการดำเนินโครงการ อย่าทำแบบไฟไหม้ฟางหรือเพียงเพื่อการใช้งบประมาณให้หมดไปตามระยะเวลาที่กำหนดเท่านั้น การดำเนินงานตามโครงการครั้งนี้ ควรมีความเชื่อมโยง สอดคล้องหรือต่อยอดกับโครงการตามนโยบายสำคัญต่าง ๆ ของ กษ.ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้ว เช่น เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์ การพัฒนากลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ (Smart Farmers) หรือการพัฒนาสถาบันเกษตรกรรูปแบบประชารัฐ เป็นต้น

kdd

"ผมจึงขออธิบายคำแนะนำ (Coaching Tips) ในการดำเนินการตามโครงการข้างต้นต่างๆดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ให้คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ โดยจะต้องคัดเลือกเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (Farmer Book)ไว้แล้วและจะต้องคำนึงถึงความพร้อม /ศักยภาพ หรือความสามารถของเกษตรกรด้วย เช่น มีความตั้งใจ และกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมโครงการหรือประสงค์จะประกอบอาชีพเกษตรกรรม หรืออาจคัดเลือกจากกลุ่มเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เกษตรอินทรีย์หรือเกษตรกรที่มีต้นทุนการผลิตอยู่แล้ว เช่น มีที่ดิน โรงเรือน แต่ยังขาดองค์ความรู้สมัยใหม่ในการผลิตหรือการแปรรูปหรือการตลาด ทั้งนี้ อาจคัดเลือกคนหนุ่มสาวซึ่งเป็นบุตรหลานของเกษตรกรที่มีอายุมากแล้ว ไม่สามารถประกอบอาชีพได้เต็มศักยภาพมารับการอบรมซึ่งจะทำให้สามารถนำไปต่อยอดโครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ (Smart Farmers or Young Smart Farmers)ได้ตามนโยบายของกระทรวงด้วย"

ส่วนขั้นตอนที่ 2 การกำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมและวิทยากร จะต้องกำหนดสาระสำคัญของการอบรมให้ครอบคลุมทั้งการปรับความคิด ความเชื่อ และการปลูกฝังความรู้ใหม่ๆ ในการทำการเกษตร เช่น การเกษตรแม่นย้ำสูง(Precision Agriculture) การเกษตรแบบประณีต โดยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต แปรรูป หรือการตลาดซึ่งอาจขัดกับความรู้ดั้งเดิมของเกษตรกร ที่มักจะปลูกหรือผลิตตามความคุ้นเคยมากกว่าการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมหรือความต้องการของตลาด

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องหาวิทยากรที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ตรงในการถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าว โดยอาจใช้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้วมาเป็นวิทยากรควบคู่กับวิทยากรจากหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนหรืออาจใช้ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกรรมประจำศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.)จำนวน 882 แห่งและเครือข่ายซึ่งประชาชนในหมู่บ้าน ชุมชนเชื่อถือศรัทธาและให้การยอมรับอยู่แล้วมาเป็นวิทยากรด้วยก็ได้
kdd1 ขั้นตอนที่ 3 แหล่งทุนและการตลาด เมื่อเกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการทำการเกษตรแผนใหม่แล้ว เกษตรกรต้องมีปัจจัยหรือทุนในการผลิตรวมทั้งมีตลาดแหล่งรับซื้อผลผลิตด้วย จึงจะประสบความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายของแผนปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ดังนั้น หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องประสานงานกับหน่วยงานที่สนับสนุนทุนและการตลาดมาร่วมโครงการด้วย โดยอาจทำบันทึกข้อตกลง(MOU) ร่วม 3 ฝ่าย ระหว่างหน่วยงานเจ้าของโครงการกับหน่วยงานสนับสนุนทุนและหน่วยงานสนับสนุนการตลาด

โดยให้ ธ.ก.ส.ในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีประสบการณ์ในการประเมินศักยภาพเกษตรกรมาเป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนแก่เกษตรกรที่ผ่านการอบรม และมอบหมายให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดได้ประสานงานกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือบริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด หรือร้านมินิ อ.ต.ก.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงมาเป็นหน่วยจัดการตลาดให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการด้วย

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริมการทำเกษตรกรรม ในโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานจะเป็นปัจจัยเสริม และสนับสนุนที่สำคัญในการทำการเกษตรให้แก่เกษตรกร เช่นสร้างฝายชะลอน้ำ ทำเขื่อนหรืออ่างกักเก็บน้ำ ทำร้านค้าผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่ม การสนับสนุนทุนในรูปเงินอุดหนุนให้แก่ สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน เพื่อช่วยเหลือในการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เช่น โรงเรือนหรืออาคาร สถานที่เก็บหรือโรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โครงการจัดทำข้อมูลการเกษตรด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ(Big Data) เพื่อการวางแผนการผลิตหรือเพิ่มช่องทางการตลาด หรือหาข้อมูลต่างๆ

ทั้งนี้เพื่อให้โครงการที่กล่าวมาข้างต้นมีความยั่งยืนและต่อเนื่อง หน่วยงานเจ้าของโครงการควรเน้นการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในพื้นที่โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน หรือกลุ่มเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการดำเนินงานต่างๆ อาทิ การมอบหมายให้กลุ่มเกษตรกรคัดเลือกสมาชิกกันเองเข้าร่วมโครงการ หรือการให้กลุ่มเกษตรกรหรือสถาบันเกษตรกรเป็นผู้กำหนดพื้นที่ดำเนินการที่เหมาะสม หรือการให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เป็นผู้นำชักชวนเกษตรกรอื่นๆในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชประเภทหนึ่งไปปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้ทุนน้อยในการผลิตน้อยกว่าเดิมและเป็นที่ต้องการของตลาดมากกว่าเดิม หรือการจ้างแรงงานเกษตรกรในพื้นที่เข้าร่วมโครงการหรือการมอบหมายให้เกษตรกรร่วมกับข้าราชการเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ/ครุภัณฑ์ ในโครงการที่มีการจัดซื้อหรือการจ้างตามกฎหมาย การซื้อ การจ้างฯ เป็นต้น
โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 นายกฤษฏา กล่าวต่อว่า จึงขอให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดจัดประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เพื่อนำแนวทางข้างต้นเข้าพิจารณากำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานเกษตรอำเภอ เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานเกษตรอื่นๆที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีพ.ศ. 2561 ไปดำเนินการตามแนวทางทั้ง 4ประการข้างต้นและหากมีความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างสูงสุดจากโครงการดังกล่าวข้างต้น

หน่วยงานเจ้าของโครงการสามารถขอปรับเปลี่ยนพื้นที่ดำเนินการได้ตามความเหมาะสม โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงวงเงินงบประมาณ และไม่ขัดกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการที่รับอนุมัติจากสำนักงบประมาณแล้ว ขอให้สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดทำหน้าที่เป็นหน่วยกลางในการประสานในระดับจังหวัดกับราชการส่วนกลางในเกษตรโดยให้ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งคณะทำงานประสานระดับกระทรวงกับสำนักงบประมาณหรือส่วนราชการอื่นๆในส่วนกลาง ไว้รับผิดชอบแก้ไขปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างดำเนินการให้หน่วยปฎิบัติในพื้นที่ไว้ด้วย รวมทั้งมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกตรวจ แนะนำการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆแก่หน่วยงานปฏิบัติในพื้นที่รวมทั้งให้ติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานแต่ละโครงการทุกระยะ เพื่อรายงานให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบด้วย

e-book-1-503x62