อพท. ดึงผู้เชี่ยวชาญร่วมพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

03 เม.ย. 2561 | 09:05 น.
อพท. ผุดโครงการ CT Brain Bank เชิญผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ร่วมคิดต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ใน 6 พื้นที่พิเศษก่อนผลักดันเข้าสู่ตลาด หวังเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยวเพิ่มวันพัก ช่วยกระจายรายได้ลงชุมชน ขณะที่ 2 กูรูจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกชื่นชมกิจกรรม ลั่นยินดีหนุน อพท. ช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน

พ.อ. ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เผยว่า ได้จัดทำโครงการ Creative Tourism Brain Bank หรือ CT Brain Bank เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว 30 คนจากหลากหลายสาขาอาชีพ ได้แก่ นักออกแบบ ครีเอทีฟ นักเขียน นักเดินทาง ผู้ให้บริการทางการเงิน (บัตรเครดิต) นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสาร ผู้เชี่ยวชาญด้านการโรงแรม นักการตลาดท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว มาร่วมระดมสมอง และร่วมคัดเลือกทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของ อพท. เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะก่อนนำไปปรับปรุงและนำเสนอขายทางการตลาดตามลำดับ โดยโครงการนี้จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561 เมื่อสิ้นสุดโครงการ อพท. จะได้ชุดความรู้จากการพัฒนา เป็นคู่มือการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์แบบครบวงจร (Creating Creative Tourism) เล่มแรกของโลก ที่รวบรวมรูปแบบการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่คุณค่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

สำหรับ CT Brain Bank เป็นโครงการที่ขยายผลมาจากการที่ อพท. ได้สืบค้นวิถีชีวิตของชุมชนใน 6 พื้นที่พิเศษ และคัดเลือกได้ 39 กิจกรรมที่น่าสนใจและมีศักยภาพพอ ที่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เช่น กิจกรรมวิถีประมง กิจกรรมทอผ้า ปักผ้า การปั้นและวาดลายสังคโลก การทำอาหารถิ่น การทำของที่ระลึกจากสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น

apt2

“ในโครงการ CT Brain Bank อพท. จะนำผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ นำร่อง 2 จังหวัด คือ จังหวัดสุโขทัย ทดลองทำกิจกรรมเกี่ยวกับการปั้น การวาดลวดลายสังคโลก การทอผ้า และจังหวัดน่าน ทดลองทำตุงค่าคิง โคมมะเต้า การปักผ้าหน้าหมอน เป็นต้น โดยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือการนำวิถีชีวิตของชุมชนมาต่อยอดเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยว ให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือทำโดยการมีส่วนร่วมกับเจ้าของวัฒนธรรมนั้น ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน นักท่องเที่ยวจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ เกิดความประทับใจ และเกิดความคิดนำไปสร้างสรรค์ให้เป็นผลงานอื่นๆ ที่สำคัญการมีกิจกรรมการท่องเที่ยวจะช่วยให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาเที่ยวและพำนักนานวันขึ้น เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น”

การพัฒนาต่อยอดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ครั้งนี้ เพื่อให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวทางเลือกใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่น ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม อย่างลึกซึ้ง ผ่านการลงมือทำ เพราะทุกกิจกรรมมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิต งานศิลปะ หัตถกรรม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ซึ่งในโครงการ CT Brain Bank ผู้เชี่ยวชาญ จะมาร่วมออกแบบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อยกระดับคุณภาพสู่ตลาดสากล

“ทีมผู้เชี่ยวชาญจะร่วมให้คำปรึกษาเพื่อให้ข้อเสนอแนะ และร่วมปรับโฉมเพื่อให้มีเสน่ห์และร่วมสมัย บนฐานอัตลักษณ์ของชุมชน โดยพัฒนาภายใต้แนวคิด 3 S คือ 1) Story Telling มีการสืบค้นเรื่องราวศิลปะ และสร้างศิลปิน 2) Senses มีการออกแบบให้ได้อรรถรสของกิจกรรมครบทั้ง 5 ประสาทสัมผัส และ 3) Sophistication นำเสนอผ่านรูปแบบการตลาดใหม่ๆ ร่วมกับผู้ประกอบการนำเที่ยวรุ่นใหม่ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนความร่วมมือที่ได้รับจาก บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC คือหนุนเสริมการตลาดให้เข้มแข็ง จากทีมพันธมิตร เช่น สายการบิน โรงแรมบูติก มาร่วมปั้นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป” ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า โครงการ CT Brain Bank อพท. ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก นายแรนดี้ เดอร์แบนด์ (Mr. Randy Durband) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council หรือ GSTC) และ ดร. มีฮี คัง (Dr. Mihee Kang) ผู้อำนวยการหลักสูตรภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค GSTC เดินทางลงพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ทดลองทำกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ การทำโคมมะเต้า ทดลองปั้นเครื่องปั้นดินเผาบ่อสวก ทดลองสานตะแหลว ทำสวยดอกไม้ ทำตุงค่าคิง และแกะสลักพระไม้

“การนำผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนทั้งสองร่วมทดสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อ อพท. จะได้ขอคำแนะนำ สำหรับเป็นข้อมูลที่จะใช้ปรับปรุงให้กิจกรรมสามารถนำเสนอต่อนักท่องเที่ยว และตอบสนองต่อตลาดการท่องเที่ยวในระดับสากลได้อย่างเป็นรูปธรรม”

เบื้องต้นผู้เชี่ยวชาญแสดงความชื่นชอบในกิจกรรมที่ อพท. นำเสนอ พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ โดยให้ความเห็นว่า รูปแบบกิจกรรมในแต่ละอย่างมีจุดขายของตัวเองดี โดยได้เสนอแนะให้ อพท. พัฒนาเพิ่มเติมคือ ให้มีเรื่องเล่าที่น่าสนใจ เช่น เรื่องเล่าในแต่ละกิจกรรมที่สะท้อนวิถีชีวิตอัตลักษณ์ที่จริงแท้ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการทำกิจกรรม การลำดับโปรแกรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างความน่าสนใจให้กับกิจกรรม และการมุ่งเน้นเรื่องการกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชน

apt1

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร GSTC กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่และร่วมทำกิจกรรมครั้งนี้ทำให้เข้าใจบทบาทการทำงานและความสำคัญของ อพท. มากยิ่งขึ้น และขอชื่นชมแนวทางการทำงานของ อพท. ที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้บริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และให้ความสำคัญกับความอยู่ดีมีสุขของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถรับรู้ได้จากการสัมผัสกับชุมชนตลอดการลงพื้นที่ที่ทดสอบกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ทั้งนี้ GSTC ยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับ อพท. อย่างใกล้ชิดต่อไป เพื่อร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงพัฒนาองค์ความรู้ให้หน่วยงานภาคีต่างๆ มีความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

e-book-1-503x62