ฐานโซไซตี : อุทาหรณ์ “เจ้าหน้าที่รัฐ” เอื้อค่ายมือถือ

03 เม.ย. 2561 | 06:03 น.
5685 นับเป็น “อุทาหรณ์” อย่างดีสำหรับ “ข้าราชการ” และ “เจ้าหน้าที่รัฐ” จากกรณี “สุธรรม มลิลา” อดีตผอ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) เมื่อปี 2544 ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด เมื่อถูกศาลอุทธรณ์สั่งจำคุก 6 ปี กรณีใช้อำนาจทุจริตเอื้อประโยชน์บริษัทมือถือค่าย AIS พร้อมกับถูกศาลสั่งให้ชดใช้เป็นเงินกว่า 46,000 ล้านบาท

กรณีดังกล่าว สุธรรม ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฐานแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ 6) ให้ บริษัท แอด วานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด หรือ AIS ได้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์มือถือในแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือ Prepaid Card ในชื่อ “วันทูคอล” โดยมิชอบ
1522735579319 โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกฟ้อง สุธรรม  เป็นว่า สุธรรม มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ, ทำ , จัดการหรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต เป็นการสร้างความเสียหายแก่รัฐ จึงให้จำคุก 9 ปี แต่พยานหลักฐานที่จำเลย นำเข้าไต่สวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกรวม 6 ปี และให้จำเลยชำระเงินกว่า 46,855 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.2559 ให้แก่ บริษัท ทีโอที ผู้เสียหายคดีนี้

ศาลอุทธรณ์ฯ ได้ระบุถึงพฤติการณ์ความผิดสรุปความว่า สุธรรม ได้มีความเห็นและลงนามในสัญญา กรณี AIS ขอลดส่วนแบ่งรายได้จาก 25% เหลือ 20% ซึ่ง “ศาลฎีกานักการเมือง” เคยวินิจฉัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัท AIS ไม่ใช่การทำเพื่อประโยชน์ของราชการ และทำให้ทีโอทีเสียหาย
1522735362144 เมื่อพูดถึง AIS ขณะนี้ก็มีกรณีที่กำลังผนึกกับค่ายมือถือ TRUE เรียกร้องไปยัง “คสช.” ให้ใช้ ม.44 ช่วยยืดชำระค่าประมูลสัมปทานคลื่น 4G ในงวดที่ 4 วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท ออกไปเป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ก็แทงเรื่องไปยัง กสทช. โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาฯ กสทช.ได้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุม คสช. ก่อนที่ คสช.จะตีกลับข้อเสนอดังกล่าว ด้วยเป็นห่วงอย่างที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ทักท้วงว่าการยืดระยะเวลาชำระค่าคลื่นให้กับผู้ประกอบการค่ายมือถือจะเป็นการ “เอื้อเอกชน”

ฐากร บอกว่า ได้พยายามตอบคำถามต่างๆ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยวาจาให้ดีที่สุดแต่ท่านให้เวลาอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้กลับมาตอบคำถามต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนอีกครั้งโดยให้เน้นเรื่องของผลประโยชน์ของรัฐกับประชาชนให้มากที่สุด

เรื่องการอุ้ม “AIS-TRUE” มีข้อมูลเห็นๆ ว่า จะทำให้รัฐต้องสูญเสียผลประโยชน์มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท และจะเข้าทาง “เอกชน” ด้วยมูลค่าหุ้นที่จะเพิ่มขึ้น หาก กสทช.โดย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ ที่เป็น “ตัวชง” และ คสช.ที่เป็น “ตัวตบ” ยังดันทุรังเอื้อประโยชน์เอกชนต่อไป ก็ขอให้ดู “อุทาหรณ์” จากคดีของ สุธรรม มลิลา ไว้ก็แล้วกัน... แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

สนับสนุนเต็มที่กับกรณีที่ขณะนี้ 4 แบงก์ใหญ่ทั้ง “ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย-กรุงเทพ-กรุงไทย” ยกเลิกค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้กับลูกค้าของธนาคารที่ทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้บริการ

รายละเอียดแต่ละธนาคารประกอบด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ ยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมการเงิน 5 ประเภท ที่ลูกค้าใช้บริการบ่อยๆ ได้แก่ 1.โอนข้ามเขต 2.โอนต่างธนาคาร 3.เติมเงินต่างๆ 4.จ่ายบิล 5.กดเงินโดยไม่ใช้บัตรข้ามเขต  บนการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นเอสซีบีอีซี่ (SCB Easy) ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.นี้เป็นต้นไป

ธนาคารกสิกรไทย  ยกเลิกค่าธรรมเนียม สำหรับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการที่ใช้บริการช่องทางดิจิทัล 4 ช่องทาง ได้แก่ K PLUS, K PLUS SME, K-Cyber, K-Cyber SME และฟรีค่าธรรมเนียมบริการยอดนิยมที่ลูกค้าใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ โอนข้ามเขต/ข้ามธนาคาร จ่ายบิลค่าสินค้า และบริการ เติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค.เป็นต้นไป
15-3353 ธนาคารกรุงเทพ ยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม ทั้งช่องทางบริการผ่านโทรศัพท์มือถือ บัวหลวง เอ็มแบงก์กิ้ง และช่องทางบริการทางอินเทอร์เน็ต บัวหลวง ไอแบงก์กิ้ง สำหรับลูกค้าที่โอนเงินข้ามเขต โอนเงินต่างธนาคารแบบทันที โอนเงินพร้อมเพย์ การชำระบิล ค่าสินค้าและบริการ และบริการเติมเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2561 เป็นต้นไป ทั้งยังยกเว้นค่าธรรมเนียมเอทีเอ็มถอนเงินข้ามเขตและโอนเงินข้ามเขตจากบัญชีภายในธนาคาร และโอนเงินไปยังบัญชีต่างธนาคาร ตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย.2561

ธนาคารกรุงไทย ไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินข้ามเขต หรือโอนต่างธนาคารแบบทันที จ่ายบิล ค่าสินค้าและบริการ บริการเติมเงิน ผ่าน แอพพลิเคชั่น  KTB netbank  และออนไลน์แบงกิ้ง ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค.จนถึงสิ้นปี 2561

นอกจาก 4 ธนาคาดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าเดี่ยวคงมีธนาคารอื่น ๆ ทำตามมาด้วย ไม่อย่างนั้น “ลูกค้า” คงหนีหายไปหมด ส่วนประชาชนทั่วไปก็ต้องศึกษาและมาใช้บริการ “ออนไลน์” ในการทำธุรกรรมกับธนาคารมากขึ้น เพราะจะได้ไม่ต้องเสีย “ค่าธรรมเนียม” ต่าง ๆ ทั้งการโอนเงิน หรือแม้แต่การจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าผ่อนบ้านต่าง ๆ ...อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ต้องปรับตัวเข้าสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” กันแล้ว

......................
คอลัมน์ :ฐานโซไซตี หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 ระหว่างวันที่ 1-4 เม.ย. 2561
e-book-1-503x62