'วิจัยกรุงศรี' ประเมินผลกระทบต่อ 'เศรษฐกิจไทย' กับการ 'ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ' ปี 61

02 เม.ย. 2561 | 16:38 น.
ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ของไทย จะปรับขึ้นทั่วประเทศ เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี หรือนับจากปี 2556 ซึ่งมีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำสู่ระดับ 300 บาทต่อวัน ค่าแรงขั้นต่ำรายวันในปี 2561 จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 308-330 บาท จาก 305-310 บาท ในปี 2560 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.4 ... ‘วิจัยกรุงศรี’ ประเมินว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (SME) อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมยังค่อนข้างจำกัด ทั้งในแง่ต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ

ค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ปรับเพิ่มในอัตราที่ใกล้เคียงกับแนวโน้มในอดีต

ค่าแรงขั้นต่ำรายวันของไทยในปีนี้จะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 308-330 บาท ทั่วประเทศ ขณะที่ ในปี 2560 มี 8 จังหวัด ที่ไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ สำหรับในปี 2561 นี้ ค่าแรงขั้นต่ำรายวันจะปรับเพิ่มในอัตราสูงสุดที่ร้อยละ 7.0 ใน จ.ระยอง ชลบุรี และนครปฐม ขณะที่ กรุงเทพฯ มีการปรับเพิ่มร้อยละ 5.0 เมื่อพิจารณาข้อมูลค่าแรงขั้นต่ำย้อนหลังในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำรายวันในปี 2561 จะใกล้เคียงกับอัตราการเพิ่มขึ้นของแนวโน้มระยะยาวในอดีต ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าการปรับขึ้นค่าแรงสู่ระดับ 300 บาท ในปี 2556 แม้กระนั้นก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ยังนำมาซึ่งประเด็นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าจ้าง ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศ


Screen Shot 2561-04-02 at 23.23.37

ในภาพรวมการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ ค่อนข้างสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในแง่ของเวลา สาขาการผลิต และพื้นที่

หากพิจารณาจากส่วนต่างระหว่างการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงาน (ผลผลิตต่อแรงงานหนึ่งหน่วย) กับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง จะพบว่า ในช่วงก่อนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสู่ 300 บาท การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของค่าแรงที่แท้จริง หรือส่วนต่างมีค่าเป็นลบ ในขณะที่ สถานการณ์ปัจจุบัน (ข้อมูลล่าสุด ณ ปี 2560 ไตรมาส 3) ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าแรงที่แท้จริง หรือส่วนต่างมีค่าเป็นบวก ซึ่งสะท้อนว่า ยังมีช่องว่างให้ปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถในการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้น หากพิจารณาในแต่ละสาขาการผลิต พบว่า ในปัจจุบัน ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าแรงที่แท้จริงในทุกสาขาการผลิต สอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ และหากประเมินในแง่ของพื้นที่ พบว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละจังหวัด ดังนั้น การปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำครั้งนี้จึงสะท้อนความสามารถด้านการผลิตของแรงงานที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา


Screen Shot 2561-04-02 at 23.27.42 Screen Shot 2561-04-02 at 23.28.19

ผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ จะทำให้ต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 1

‘วิจัยกรุงศรี’ ประเมินว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้ ที่เฉลี่ยร้อยละ 3.4 จะส่งผลให้ค่าจ้างของแรงงานในระดับอื่น ๆ ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยรวมแล้วจะทำให้ต้นทุนค่าแรงทั้งประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.1 และจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตทั้งประเทศเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตสามารถจำแนกผลกระทบเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ ผลกระทบทางตรง ร้อยละ 0.13 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉพาะปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน ส่วนที่ 2 คือ ผลกระทบทางอ้อม ร้อยละ 0.82 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาปัจจัยการผลิตอื่น ๆ หรือเป็นการเพิ่มขึ้นของต้นทุนค่าแรงที่แฝงอยู่ในราคาสินค้าขั้นกลางและวัตถุดิบ นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตดังกล่าว คาดว่าจะส่งผ่านมายังราคาสินค้าผู้บริโภค ร้อยละ 0.62 ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำในปัจจุบัน ให้ทยอยเข้าสู่กรอบเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ในช่วงกลางปีนี้ (อ่านต่อ : www.krungsri.com)


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สสว. ชี้ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ SME ยุค 4.0 ต้องปรับตัว
เคาะค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มทุกจังหวัด 5-22 บาท  ภูเก็ต-ชลบุรี-ระยองสูงสุด 330 บ.


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว