ผ่า "นโยบายอุตฯ เหล็ก 4.0"!! ชง 6 มาตรการระยะสั้น เชื่อมทุกมิติ

02 เม.ย. 2561 | 11:19 น.
020461-1756

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2561 กลุ่มเหล็ก นำโดย ตัวแทนจาก 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก ที่มีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 472 บริษัท เสนอร่างนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ถึง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีสาระสำคัญ 2 ช่วง คือ มาตรการระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาเหล็กทั้งระบบ


ชง 6 มาตรการระยะสั้น
ในร่างนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 มาตรการระยะสั้น จะต้องรีบดำเนินการ 6 มาตรการ คือ 1.การแก้ไขปัญหากำลังการผลิตเหล็กในประเทศ ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตเหล็กบางประเภทเกินกว่าปริมาณความต้องการใช้ เช่น ห้ามจัดตั้งหรือขยายการผลิตส่วนเกิน โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และนโยบายระงับการส่งเสริมการลงทุนสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้กำลังผลิตต่ำ


appWR1

2.การสร้างอุปสงค์การใช้สินค้าเหล็กภายในประเทศ สำหรับใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานรัฐและรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดสัดส่วนการใช้เหล็กในประเทศ ส่งเสริมใช้สินค้าเครื่องหมาย มอก.
3.มาตรการเยียวยาทางการค้า ได้แก่ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน, มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น, มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยงมาตรการทางการค้า มาตรการกำจัดหรือควบคุมการนำเข้าสินค้าเหล็กบางรายการ และมาตรการเซอร์ชาร์จจากบีโอไอ

4.มาตรการสนับสนุนด้านต้นทุน เช่น นโยบายอุดหนุนราคาพลังงานสำหรับอุตสาหกรรมเหล็ก การจัดหาแหล่งเงินกู้และผู้ร่วมทุน
5.การเจรจาเพื่อลดผลกระทบทางการค้าด้านภาษี โครงสร้างภาษีที่ยังลักลั่นของสินค้าเหล็กบางประเภท เช่น ภาษีนำเข้าเหล็กเคลือบสังกะสี ภายใต้ FTA อาเซียน-จีน แต่เหล็กแผ่นรีดเย็นที่เป็นวัตถุดิบภาษี 5-12% รวมถึงผลกระทบจากมาตรา 232 ของสหรัฐฯ ต่อเหล็กไทย ที่กำลังเป็นวาระที่ต้องจับตามองอยู่ในขณะนี้
6.มาตรการควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์เหล็ก ที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ควบคุมติดตามการผลิตสินค้าเหล็กให้เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) อย่างเข้มงวด


08-3353

เน้นความมั่นคงวัตถุดิบ
ส่วนมาตรการระยะกลาง-ระยะยาว จะเป็นการแก้ปัญหาอุตสาหกรรมเหล็กระยะยาว เช่น การสร้างความมั่นคงของแหล่งวัตถุดิบต้นน้ำ โดยพิจารณาทางเลือกสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก รัฐกำหนดนโยบายจัดตั้งอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นในประเทศ โดยใช้แนวทางพัฒนาแบบยั่งยืน อาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แนวที่ 2 ส่งเสริมการร่วมทุนกับอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้นที่มีอยู่แล้วในต่างประเทศ โดยรัฐบาลช่วยให้คำแนะนำเรื่องสรรหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพเข้ามา

รวมถึงการส่งเสริมการใช้เหล็กสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง การสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต การให้ความสำคัญกับคุณภาพและมาตรฐานสินค้า ประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน นอกจากนั้น จะเป็นเรื่องการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การสนับสนุนและยกระดับผลิตภาพของผู้ประกอบการเหล็ก รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมเหล็กเหล่านี้ เป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

เหล็กจะเชื่อมโยงอุตฯ ใหม่
การขับเคลื่อนทั้ง 2 ช่วงนี้ จะต้องเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจการค้าโลกที่เปลี่ยนไป และความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะเศรษฐกิจยุคดิจิตอล การพัฒนาเหล็กเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ได้ เช่น ยานยนต์ในอนาคต ที่โฟกัสถึงระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและเทคโนโลยีไร้คนขับ การผลิตหุ่นยนต์แทนคน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นการต่อยอด หรือ เชื่อมโยงไปสู่ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (เช่น อากาศยาน เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์ ฯลฯ) รวมไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่จะเอื้อต่ออุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ซึ่งแปลว่า เหล็กต้นน้ำจะต้องมีคุณภาพ จะต้องพัฒนายกระดับจนสามารถป้อนสู่ตลาดอุตสาหกรรมที่ทันสมัย มีมูลค่าสูงขึ้นและมีความปลอดภัยได้

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์มาตรการต่าง ๆ นี้ บางส่วนเคยพูดถึงมาก่อนแล้ว พร้อมมีการเสนอให้รัฐบาลพิจารณามาแล้วหลายรอบ แต่สุดท้ายก็จบที่วังวนเดิม คือ ผลักดันไม่สำเร็จ โดยเฉพาะการสนับสนุนให้เกิดเหล็กต้นน้ำ ปัญหาเหล่านี้กลายเป็นประเด็นต้นเหตุที่ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยยังไม่เข้มแข็ง ไม่มีกำลังพอที่จะไปแข่งขันกับผู้ผลิตเหล็กในต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า อีกทั้งความล่าช้าในการรับมือปกป้องโดยภาครัฐ


APPUSsteel

จากปัญหาโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการเหล็กในประเทศต่างเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างตามมา ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาเหล็กเส้นล้นตลาดจำนวนมาก ปัญหาสินค้าที่มีกำลังผลิตเพียงพอ แต่มีอัตราการใช้กำลังผลิตต่ำ และมีปริมาณการนำเข้ามา เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี รวมถึงเหล็กชนิดต่าง ๆ จากจีน ถือเป็นเส้นทางวิบากที่ไม่สิ้นสุดของอุตสาหกรรมเหล็กไทย

การขับเคลื่อนเหล่านี้ ยังต้องจับตาดูต่อไป แม้ล่าสุด ร่างนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ถึงมือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว พร้อมกับเสียงตอบรับที่ให้ 7 สมาคมอุตสาหกรรมเหล็ก กลับไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมมา ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี!


……………….
รายงาน โดย งามตา สืบเชื้อวงค์
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 08

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'7 สมาคม' ชง 'อุตตม' คุมกำเนิดโรงเหล็ก
“กฤษฏา”ย้ำกฎเหล็ก"ไทยนิยม"งบ2.4 หมื่นล.สั่งจ่ายตรงอุดช่องทุจริต


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว