หุ้นโรงไฟฟ้าฝ่าวิกฤติ! จับตา TPIPP-PSTC ลุ้นผลิตเชิงพาณิชย์

01 เม.ย. 2561 | 04:31 น.
010461-1116

GUNKUL ยัน! ไม่กระทบจากแผนรัฐเบรกซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5 ปี เหตุขยายลงทุนต่างประเทศ และรายได้อื่น ๆ ทดแทน ... โบรกเกอร์แนะนำ BGRIM-GUNKUL กำไรเติบโตแข็งแกร่ง กังวล TPIPP-PSTC มีความเสี่ยงผลิตเชิงพาณิชย์

จากนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ออกมาระบุว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เป็นโครงการใหม่ ๆ เพิ่มเติม ทั้งในรูปแบบโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) เพราะเห็นว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนไฟฟ้าและมีไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการใช้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

[caption id="attachment_273315" align="aligncenter" width="335"] น.ส.โศภชา ดำรงปิยุวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL น.ส.โศภชา ดำรงปิยุวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL[/caption]

น.ส.โศภชา ดำรงปิยุวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เปิดเผยว่า เชื่อว่านโยบายดังกล่าวเป็นการชะลอแผนระยะสั้น เพื่อเคลียร์โครงการเดิมที่มีสัญญาอยู่แล้ว แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ให้เรียบร้อยก่อน เพราะแม้แต่บริษัทเองมีสัญญาไว้ 500 เมกะวัตต์ แต่ก็ทำออกมาได้เพียงกว่า 200 เมกะวัตต์ เท่านั้น เพราะต้องยอมรับว่า ยังมีปัญหาเรื่องสายส่งไม่เพียงพอ ทำให้การรับส่งไฟฟ้าไม่เสถียร ขณะที่ ผู้ประกอบการรายเล็กจะลงทุนสายส่งเอง ก็ไม่คุ้มค่าอยู่แล้ว ขณะที่ บริษัทใหม่ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรอเปิดประมูลให้ได้สัญญาซื้อขายไฟนั้น เชื่อว่าไม่รอดอยู่แล้ว และคงไม่มีทำเช่นนั้น แต่แผนระยะยาว 25 ปี ยังคงอยู่

อย่างไรก็ตาม บริษัทเองได้ประมาณการปัญหานี้อยู่แล้วว่า การไฟฟ้าจะไม่รับซื้อไฟใน 3-4 ปี เพราะไม่มีสายส่งรองรับ จึงได้สร้างโครงการสายส่งเอง 30-40 กิโลเมตร ดังนั้น คนที่จะลงทุนโรงไฟฟ้า 4-5 เมกะวัตต์ ก็จะไม่คุ้ม เพราะกว่าที่รัฐจะเข้ามาซื้อไฟก็อาจจะ 2-5 ปี ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ขยายการลงทุนไปต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ โดยที่ญี่ปุ่นเป็นโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่ง 2 โครงการ รวม 80 เมกะวัตต์ จะสร้างรายได้ในปี 2561 ประมาณ 700 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังหันไปเน้นงานรับเหมาก่อสร้างวางระบบและติดตั้ง (EPC) มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น งานโครงการสร้างสถานีโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก งานระบบสายส่ง สายจำหน่าย งานวางระบบสายเคเบิลลงใต้ดินและงานวางสายเคเบิลใต้น้ำ


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

“เราไม่ได้รับผลกระทบจากการชะลอรับซื้อไฟของทางการ เพราะจะทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เตรียม COD ในปี 2561 อีกทั้งยังมีแผนเข้าประมูลงานใหม่ ๆ เพิ่มอย่างต่อเนื่องด้วย”


17-3353

BGRIM-GUNKUL น่าซื้อเก็บ
ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซียพลัสฯ ระบุว่า ที่ผ่านมา ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นปีละ 3.5% แม้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อในอนาคตตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโต แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าความต้องการใช้ไฟ ทำให้สถานการณ์ไฟฟ้าในปัจจุบันอยู่ในภาวะ Oversupply โดยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่สูงกว่า 30% (เทียบกับระดับปกติ 15%) หากพิจารณาแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2579 คาดว่าในช่วงปี 2562-2567 ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะสูงถึง 36-39% แต่จะค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ 15% ซึ่งเป็นระดับปกติภายหลังปี 2569 เป็นต้นไป

กลุ่มโรงไฟฟ้า บล.เอเซียพลัสฯ ให้น้ำหนักลงทุน “เท่าตลาด” โดยเลือกหุ้นของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เป็นหุ้นเด่นแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 34 บาท จากแนวโน้มกำไรที่เติบโตเหนือกลุ่มในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คาดกำไรปีนี้ 2.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีก่อน ปี 2562 กำไรยังเติบโตต่อเนื่องอีก 23.4% จากการรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า SPP ใหม่ 3 โรง, โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาว และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

กลุ่มพลังงานทดแทนให้น้ำหนักลงทุน “เท่าตลาด” โดยเลือกหุ้นของบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL เป็นหุ้นเด่น แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 5.00 บาท จากอัตรากำไรที่เติบโตโดดเด่น ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า คาดกำไรปีนี้ 959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% กำไรปี 2562 เติบโตอีก 43.7% ... บล.เอเซียพลัส ยังแนะนำ “ซื้อ” หุ้นของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ราคาเป้าหมาย 25 บาท แต่ราคาหุ้นขึ้นมาใกล้มูลค่าที่เหมาะสม

สำหรับหุ้นของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ให้ราคาเป้าหมาย 8.80 บาท โดยมองว่า แม้จะมีกำไรก้าวกระโดด 123% ในปี 2561 ภายใต้สมมติฐานโรงไฟฟ้าจากขยะ ทั้ง 3 โครงการ เดินเครื่องได้ตามแผน โดยปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ จึงยังมีความเสี่ยงที่โครงการใหม่ทั้ง 3 โรง จะไม่สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตามแผน รวมถึงปัจจุบัน TPIPP ไม่มีโครงการใหม่ในมือที่จะต่อยอดการเติบโตในระยะยาว


Screen Shot 2561-04-01 at 11.22.18

บริษัท เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ PSTC มีความเสี่ยงเช่นเดียวกับ TPIPP เนื่องจากเกิดการล่าช้าในการผลิตเชิงพาณิชย์ในหลายโครงการช่วงที่ผ่านมา ซึ่งหากเกิดขึ้นอีกจะทำให้ประมาณการต่ำกว่าคาดการณ์ได้ สำหรับหุ้นของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA ให้ราคาที่เหมาะสม 40 บาท


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 17
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ศิริ” ลงพื้นที่จังหวัดยะลาดูศักยภาพตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล
TPCH ตุนกำลังผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวล - ขยะเป้าแตะ 200 MW ใน 3 ปี


e-book-1-503x62