พลังงานทดแทนช็อก! ส.อ.ท. ฮึดสู้ 'ศิริ' จี้ทบทวนแผนงดซื้อไฟ - โยน 'ลุงตู่' ชี้ขาด

01 เม.ย. 2561 | 03:24 น.
010461-0959

ส.อ.ท. นัดหารือสมาชิกด่วน! โวย ‘ศิริ’ ปิดฉากส่งเสริมพลังงานทดแทน อ้างราคาแพง สำรองล้น ... เอกชนเฉ่ง! ทำลายห่วงโซ่เกษตรกร กระทบผู้ประกอบการ 200 ราย เสียโอกาสลงทุน เปิดช่องปั่นราคาโครงการที่มี PPP แล้ว

กลุ่มได้สัญญาขายไฟรับส้มหล่น!
จากที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีจากนี้ ระบุ กำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบมีเพียงพอ ประกอบกับ ที่ผ่านมาภาครัฐมีการส่งเสริม ทั้งรูปแบบการอุดหนุนราคารับซื้อ จนมีผลกระทบต่อค่าไฟแล้ว 20-25 สตางค์ต่อหน่วย อีกทั้งต้องการรอดูทิศทางเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่มีแนวโน้มต้นทุนปรับตัวลดลง จะทำให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงไปกว่าการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล ยกเว้น โครงการที่มีความสามารถที่จะขายไฟฟ้าไม่แพงกว่าราคาขายส่ง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ 2.40 บาทต่อหน่วย ที่ยังพร้อมจะรับซื้อ


02-3353



ส.อ.ท. ประชุมด่วน!
การเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้ ภาคธุรกิจมีปฏิกิริยาแล้ว นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายในสัปดาห์นี้ ส.อ.ท. จะหารือกับสมาชิกกลุ่มพลังงานทดแทนราว 200 ราย เพื่อแสดงจุดยืนให้ทบทวน และหลังจากนั้นจะยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมข้อเสนอแนะและทางเลือกในการพัฒนาฯ เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในธุรกิจได้รับผลกระทบ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มองว่า การหยุดรับซื้อดังกล่าว เป็นการยุติการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่เคยมีมาต่อเนื่อง แม้จะยกเว้นโครงการที่สามารถขายไฟฟ้าได้ในราคาต่ำเพียง 2.40 บาทต่อหน่วย จะมีเพียงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสดงอาทิตย์เท่านั้น ที่ทำได้ แต่ภาครัฐก็ไม่เปิดรับซื้อ ขณะที่ พลังงานทดแทนประเภทอื่นทำได้ลำบาก อีกทั้งไม่เพียงกระทบกับผู้ประกอบการพลังงานทดแทนแล้ว ยังส่งผลถึงห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร เช่น โรงงานไม้สับ โรงงานปาล์มน้ำมัน โรงงานแป้งมัน จะไม่สามารถขายวัตถุดิบหรือลงทุนขยายงานต่อไปได้ รวมไปถึงเกษตรกรจะขาดเงินทุนหมุนเวียนด้วย


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ดังนั้น การชะลอรับซื้อไฟฟ้าในช่วง 5 ปี สะเทือนแน่นอน ผู้ประกอบการที่เตรียมดำเนินโครงการไว้ อาจต้องล้มหายตายจากไป โดยเฉพาะธุรกิจที่ต้องมีพลังงานทดแทนเป็นตัวเสริม ก็ไม่สามารถทำได้

หวั่นกระทบลามเกษตรกร!
นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายกับประเทศ หากกระทรวงพลังงานมีนโยบายนี้ออกมา ในฐานะผู้ประกอบการ จึงอยากให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทบทวนใหม่ ภาพรวมของพลังงานทดแทนไม่ใช่มองเพียงต้นทุนเท่านั้น แต่ต้องมองถึงการใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรที่นำมาเป็นเชื้อเพลิง อาทิ อ้อย ยาง มันสำปะหลัง และปาล์ม เงินทุนหมุนเวียนสู่ภาคเกษตรกรโดยตรง หากรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญ ตัดทิ้งไป ก็นับว่าน่าเสียดาย


app26074083_s

โดยนโยบายดังกล่าว เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการนับ 100 ราย ที่ไม่สามารถขยายโอกาสทางธุรกิจในประเทศได้ ขณะที่ ภาคเกษตรเป็นหลัก 10 ล้านราย หรือ 1 ใน 3 ของประเทศ ย่อมรับผลกระทบแน่นอน เนื่องจากปัจจุบัน มีเงินหมุนเวียนในภาคการเกษตร 4-5 เท่าต่อปี ซึ่งที่ผ่านมา ข้าราชการพยายามผลักดัน เพราะต้องการลดการนำเข้าพลังงาน ต้องการให้เกิดเงินหมุนเวียนในประเทศ หากกระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน บริษัทคงไม่มีโครงการใหม่ในประเทศเกิดขึ้น และหันไปขยายงานในต่างประเทศแทน

“ค่าไฟฟ้าที่รับซื้อ 2.40 บาทต่อหน่วย ถือว่าเป็นราคาต้นทุนไม่ได้บวกกำไร ทำให้การลงทุนเกิดขึ้นไม่ได้ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอ้างถึงการประมูลรับซื้อไฟฟ้าจาก ‘เอสพีพี ไฮบริด’ 300 เมกะวัตต์ ในรอบที่ผ่านมา ทำให้ค่าไฟฟ้าต่ำได้ แต่ต้องมาดูภายหลังว่า ผู้ประกอบการที่ชนะไปจะสามารถก่อสร้างและจ่ายไฟฟ้าในปี 2562 ได้หรือไม่”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

รอ พล.อ.ประยุทธ์ เคาะ
ด้าน นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน คงต้องนำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) (มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธาน) เห็นชอบ รวมถึงต้องรอความชัดเจนของแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) และพีดีพีฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ว่าจะออกมาอย่างไร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้สั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนโครงการ VSPP Semi-Firm รวม 268 เมกะวัตต์ ไปแล้ว ที่แต่เดิมมีแผนจะเปิดรับซื้อในปีนี้ ดังนั้น จะมีเพียงการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะมูลฝอยใน 12 โครงการ ปริมาณ 77.9 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 เท่านั้น


apphigh-voltage-1290375

กลุ่ม PPA ส้มหล่น
แหล่งข่าวสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยว่า การชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน เชื่อว่าจะส่งผลให้โครงการที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ไปแล้ว ได้โอกาสปั่นราคาเพิ่มขึ้น แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ โครงการที่ดำเนินการแล้ว แต่ขาดทุน จะถูกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กว้านซื้อ เพื่อใช้ปั่นราคาหุ้น ขณะที่ โครงการที่มี PPA แล้ว แต่ยังไม่ก่อสร้าง ก็จะถูกซื้อในราคาที่สูงขึ้นเช่นกัน เพื่อหวังผลในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากการไม่มีนโยบายรับซื้อไปอีก 5 ปี

นายสหรัฐ บุญโภธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า การพัฒนาพลังงานทดแทนที่ กฟผ. ยื่นขอไปยังกระทรวงพลังงาน จำนวน 2,000 เมกะวัตต์นั้น คงต้องรอการปรับปรุงแผน AEDP และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่แล้วเสร็จก่อน เนื่องจากเป็นแผนระยะยาว 20 ปี ทั้งนี้ กฟผ. ยังคงมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ กฟผ. สามารถเข้าไปทำได้ เช่น โซลาร์เซลล์ลอยน้ำในเขื่อนต่าง ๆ บนสถานะที่ค่าไฟฟ้าต้องแข่งขันได้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ แม้ว่านโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะชะลอออกไป แต่ กฟผ. ก็จำเป็นต้องสร้างสายส่ง เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงระบบไฟฟ้า เนื่องจากการสร้างสายส่งต้องใช้เวลานานในการขออนุญาตต่าง ๆ ในส่วนนี้ มีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อเนื่อง เพราะหากมีความต้องการใช้งานสายส่งนั้นอาจจะดำเนินการไม่ทัน

‘ศิริ’ ยัน! ไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้า
ล่าสุด นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ยืนยันว่า ยังไม่มีความจำเป็นต้องรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในช่วง 5 ปีนี้ เนื่องจากสำรองไฟฟ้ายังมีปริมาณมากพอ จึงไม่จำเป็นต้องมีการรับซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงเพิ่มเติม รวมทั้งต้องการยืดหยุ่นระยะเวลาในการศึกษา EHIA ให้ครบถ้วนด้วย พร้อมทั้งทำความเข้าใจกับชุมชนให้มากที่สุด ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงเปิดรับซื้อเพียงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 12 โครงการ 77.9 เมกะวัตต์เท่านั้น

 

[caption id="attachment_273307" align="aligncenter" width="503"] ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน[/caption]

ขณะที่ การลงนามเอ็มโอยู ทั้งกลุ่มคัดค้านและกลุ่มสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยืนยันว่า ทั้ง 2 ฉบับ ไม่ขัดแย้งกัน แต่จะเป็นการศึกษา SEA เพื่อหาความเหมาะสมในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ คาดว่าจะชัดเจนภายในปลายปีนี้

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1-4 เม.ย. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ล้มโรงไฟฟ้าถ่านหิน ลดแรงต้าน-หันพึ่งพลังงานทดแทน
ไม่ต้องรีบซื้อแบงก์ รอย่อหลังแจ้งกำไรไตรมาส1 พลังงานทดแทนแพง

e-book-1-503x62