“ศิริ”ลงพื้นที่จังหวัดยะลาดูศักยภาพตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล

30 มี.ค. 2561 | 11:27 น.
[caption id="attachment_273185" align="aligncenter" width="503"] นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์[/caption]

-30 มี.ค.61-นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 31 มีนาคมนี้ กระทรวงพลังงานเตรียมลงพื้นที่จ.ยะลา เพื่อรวบรวมข้อมูลในพื้นที่จัดทำโครงการ “พลังงานเพื่อความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่จะรองรับโรงไฟฟ้าชีวมวล 300 เมกะวัตต์ เพื่อเตรียมรายงานข้อมูลต่อนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนลงพื้นที่จ.ปัตตานีในสัปดาห์หน้า เพื่อวางแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) เพื่อวางแผนร่วมกันเดินหน้าโครงการนี้ จากนั้นจะเสนอนายกฯ และ ครม.อนุมัติต่อไป

สำหรับรูปแบบโครงการยังอยู่ระหว่างศึกษารายละเอียด คาดว่าจะมีความชัดเจนใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จ.ชายแดนภาคใต้ จะมี กฟผ. กฟภ. และวิสาหกิจชุมชนจะเข้ามามีบทบาท ร่วมบริหารจัดการทั้งระบบผลิต สายส่ง ระบบจำหน่าย รวมทั้งด้านการบริการประชาชน ซึ่งได้รับรายงานจาก พพ. ว่ามีวัตถุดิบเพียงพอ ใช้เศษไม้จากพื้นที่ สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพิ่ม 200-250 เมกะวัตต์ ปัจจุบันภาคใต้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลแล้ว 50 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 50 เมกะวัตต์ จะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า โดยพบว่าต้องการไฟฟ้าภาคใต้อยู่ที่ 275 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะพร้อมรองรับต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า 3 จังหวัด ในช่วง 10 ปีข้างหน้า

ขณะที่การลงนามข้อตกลงร่วมเครือข่ายคนเทพาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา จะไม่ขัดแย้งกับการลงนาม MOU กับเครือข่ายปกป้องสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 เพราะทั้งสองฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าจะรอผลการศึกษารายงานการประเมินผลกระทบทางยุทธศาสตร์หรือ SEA ที่จะเสร็จสิ้นภายใน 1 ปี และจะมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ SEA ที่เป็นกลาง และเป็นที่ยอมรับจากทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตามยืนยันว่าประเทศไทยยังจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติที่มีสัดส่วนสูงกว่า 60% ดังนั้นการกระจายเชื้อเพลิงเพื่อมีถ่านหินเพิ่มขึ้นจึงยังมีความจำเป็นในแผนพีดีพี แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องก่อสร้างในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซียและญี่ปุ่น ก็ยังให้ความสำคัญกับการใช้เชื้อเพลิงถ่านหินในสัดส่วน 30-40% ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว