‘ประธานAOC’ตอกยํ้า เครื่องตรวจระเบิด CTX ใช้ทั่วโลก

01 เม.ย. 2561 | 02:28 น.
กรณีที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT (ทอท.) เตรียมจัดซื้อสายพานและเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดใหม่สำหรับใช้ในสนามบินสุวรรณภูมิ หลายฝ่ายแสดงความกังวลพร้อมตั้งข้อสังเกตว่า โครงการนี้ส่อว่าอาจจะมีการล็อกสเปกเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจาก CTX ยี่ห้อเดิมที่ใช้อยู่ 26 เครื่อง ทอท.จะนำออก แล้วดำเนินการจัดซื้อยี่ห้ออื่นมาใส่แทน 16 เครื่อง ด้วยเหตุผลว่ามีประสิทธิภาพดีและประหยัดกว่ายี่ห้อเดิมนั้น

นายหลุยส์ มอเซอร์ ประธานคณะกรรมการผู้ดำเนินงานธุรกิจการบินประเทศไทย (Airline Operators Committee: AOC) ในฐานะตัวแทนของสายการบินที่ประกอบกิจการธุรกิจ อยู่ในประเทศไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษผ่าน “รายการคุยนอกรอบ” ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ช่อง 19 ดำเนินรายการโดย ผกามาศ สหดิฎฐกุล แสดงความกังวลต่อเรื่องนี้

“ปกติเวลาทำประชาพิจารณ์โครงการอื่นของ ทอท. ไม่เคยเสนอความเห็นเข้าไป ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็พูดคุย ประชุม และหารือกัน นับเป็นครั้งแรกที่ทำจดหมายถึงทอท.โดยข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้จากสื่อ เมื่อเปิดประชาพิจารณ์จึงถือโอกาสใช้ช่องทางนี้ทำหนังสือเข้าไป ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการที่สุวรรณภูมิ CTX ที่ปัจจุบันมี 26 เครื่องและน่าจะครบ 12 ปีของการใช้งานระบบ CTX In-Line Screening ในเดือนกันยายนนี้นั้นก็ยังไม่เคยมีการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหานี้เข้ามาที่ AOC แต่อย่างใด

++เวิลด์คลาสทั่วโลกใช้
ประธาน AOC ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นการเลือกใช้ CTX เมื่อ 12 ปีก่อนว่า จากเหตุการณ์ 9/11 ทำให้จำเป็นต้องพัฒนาเรื่องการ Screening กระเป๋าในระบบที่เข้มข้นกว่าเดิมโดยขณะนั้น CTX เป็นเทคโนโลยีในการตรวจจับมวลสารระเบิด และเป็นยี่ห้อเดียวที่ได้รับการรับรองจาก TSA : Transportation Security Administration หน่วยงานด้านความปลอดภัยในการเดินทางของสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมการเดินทางทั้งทางบก ทางนํ้า และทางอากาศ

“CTX น่าจะเป็นระบบเดียวที่ได้ Qualified ขณะที่เครื่องอื่นนั้นได้รับเพียง Certified ถ้าไม่เคยใช้มาก่อนพอจะเข้าใจได้ว่า เราจะตัดสินใจซื้ออะไรดี แต่นี่เราใช้ของดีเป็นผลิตภัณฑ์ที่ 80- 90% ของสนามบินทั่วโลกใช้ ขณะที่ CTX ของเราก็ได้อัพเกรดทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาตลอด โดยสามารถเปลี่ยนบนแท่นเดิมได้ด้วยการยกเครื่องรุ่นเก่าออก แล้วเอาเครื่องใหม่มาสวมแทน ซึ่งไม่กระทบต่อระบบสายพาน ดังนั้น ถ้าจะต้องเปลี่ยนเลือกตัวอื่น จำเป็นต้องไปโมดิฟาย ระบบสายพานทั้งหมดให้เข้ากับตัวใหม่จึงเป็นเรื่องที่แปลกมาก

อยากยํ้าว่า เรามาในทิศทางที่ถูกต้องและดีที่สุด ได้รับการรองรับโดยสหรัฐฯแล้ว ถ้าเปลี่ยนเป็นตัวอื่นที่อาจจะได้รับการ Verify Certified ไม่ได้ Qualified เราจะกลายเป็นสนามบินที่มาทดลองเครื่องไป

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ทำประชาพิจารณ์ส่งไป เพราะเรื่อง Security เป็นเรื่องสำคัญมากและส่งผลระยะยาว ถ้าระบบของเราไม่เป็นสากลไม่เป็นที่ยอมรับ สายการบินก็ต้องมานั่งตอบปัญหา เวลากระเป๋าไปถึงปลายทาง และมีปัญหาด้าน Security แน่นอนถ้ายืนยันทางด้านเทคนิคหรือมีข้อมูล มีรายละเอียดยืนยันว่า เครื่องใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ตัวใหม่ดีกว่าก็น่าจะรับฟังได้ เพียงแต่คณะทำงานเรามองง่ายๆว่า คนอื่นเขาทำอย่างนี้ สหรัฐฯอัพเกรดโละ CTX9400 ก่อนอายุขัย 5 ปี เป็น CTX9800 อัพ เกรด 100% อีกยี่ห้อหนึ่งเท่าที่ทราบผลิตในสหรัฐฯเหมือนกันเขายังไม่ใช้เลย ปัจจุบันสนามบินระดับ World Class ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อังกฤษ และญี่ปุ่นรวมถึงฮ่องกง ได้อัพเกรดจาก CTX9400 เป็น CTX9800 แล้ว

++กระทบผู้ประกอบการ
สิ่งที่เป็นห่วง คือ ผลกระทบต่อผู้ประกอบการต้องปิดสายพาน ถามว่า แล้วสายการบินเขาจะอยู่อย่างไร จะทำอย่างไรกับผลที่ตามมา เอาเป็นว่ามันไม่ต้องโมดิฟายอะไร เอาเครื่องเก่าออก เครื่องใหม่มาแทนที่ ไม่กระทบกับระบบต่างๆ ต้องเอามาคิดด้วย ไม่ต้องไปรีโมดิฟาย ไม่ต้องไปเสียเงิน ปรับโครงสร้างสายพานเดิมที่มีอยู่ ไม่ต้องมีผล กระทบกับ Airline ที่ยังไม่รู้ว่าผลกระทบนี่คิดเป็นเม็ดเงินออกมาจะเท่าไร สายการบินต้องดีเลย์เท่าไร เครื่องต้องลดเที่ยวบินไปหรือไม่ แทนที่จะรับลูกค้าใหม่ๆก็รับไม่ได้ เพราะ Counter ไม่พอที่เราต้องปิดไปเป็นเวลากี่ เดือนกี่ปี เป็นรายได้ที่จะสูญเสีย และมีผลกระทบทั้งรายได้ของ ทอท. และผลประกอบการของสายการบินเอง

กรณีที่ ทอท.อ้างว่า เปลี่ยนเหลือแค่ 16 เครื่องกับบางยี่ห้อซึ่งมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่านั้น เขาไม่ขอออกความเห็นเพราะไม่มีข้อมูลแต่ให้แง่คิดว่า เครื่องทั้ง 26 ตัวนั้นอยู่ในระบบและมีแท่นอยู่แล้ว ถ้าถอด 26 ตัวนี้ออกแล้วเอาเวอร์ชัน CTX9800 มาวาง ทุกอย่างเดินได้ปกติ วันแรกเมื่อ 12 ปีที่ตัดสินใจเดินเส้นทางนี้ได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดโดย Protocol ของสหรัฐฯก็ดีไซน์แท่นให้เปลี่ยนรุ่นไปได้เรื่อยๆ และที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร เราเดินมาถูกทางแล้วไม่ควรที่จะเปลี่ยนทาง และทั้ง 26 เครื่องก็สามารถรองรับผู้โดยสารได้เกินความจำเป็นอยู่แล้ว

TP14-3353-1A ถ้าต้องเปลี่ยนจริงๆ จากข้อมูลที่มีอยู่ เราจะต้องปรับระบบและอาจต้องปิดสายพาน ปิด Check-In Counter ซึ่งการปิดแต่ละครั้งอาจนานหลายเดือน หรืออาจปิดเป็นปี ถามว่า ทำไปเพื่อรองรับอะไรยังไม่ทราบ ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถทำได้เพราะ Check-In Counter ทำงานเต็ม 24 ชั่วโมง ยิ่งมีเที่ยวบินเพิ่มขึ้นมาตลอดก็ต้องการ Check-In Counter ตลอดเวลา หากปิดไปสักไอแลนด์หนึ่ง ในแง่ผู้ประกอบการต้องส่งผลกระทบอย่างแน่นอน จะคุ้มหรือกับการที่รีโมดิฟายทั้งหมด นี่คือคำถามที่ผมได้มาจากสมาชิก ถ้าทอท.ยืนยันจะทำ เราเป็น End User สุดท้ายสนามบินเขาเป็นเจ้าของบ้าน เขาจะดีไซน์อะไรมาใช้ เราก็คงไปประ ท้วง หรือทำอะไรอย่างนั้นคงไม่ได้ นายหลุยส์ ประธาน AOC ระบุ พร้อมเน้นยํ้าว่า

“ใช้มาแล้ว 12 ปีไม่มีปัญหาเราเดินมาถูกทาง ไม่ต้องคิดมากครับ ดูเพื่อนบ้านดูสนามบิน World Class อื่น เขาก็ทำเหมือนเรา และพัฒนาไปโดยอัพเกรด เราแปลกไปหรือไม่กับสิ่งที่กำลังจะทำอะไรอยู่ในการเปลี่ยนระบบสายพานทั้งหมดเพื่อไปรองรับเครื่องอะไรก็ไม่รู้ แล้วลดจาก 26 เครื่องเป็น 16 เครื่องด้วย เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมาพูดไม่ต้องการให้ 5 ปี 8 ปีจากวันนี้ไปปิดสายพานแล้วมีปัญหาตามมา ตอนนั้นจะย้อนกลับมาว่า AOC ชุดนั้นปีนั้น ทำไมไม่พูดอะไรบ้าง

จากการติดตามสื่อมีการพูดถึงเรื่องของ Speed และเรื่องที่จะลดจาก 26 เป็น 16 ตัว เขาให้ความเห็นว่า ในเมื่อเรามีเยอะ คือ 26 ตัว แล้วมีผลดี สามารถที่จะมี Redundancy ได้เยอะ กล่าวคือ เครื่องเสียก็จะมีตัวสำรอง ไม่ต้องพูดถึงอะไหล่ เพราะเรามี 26 ตัว คิดว่าเดินเครื่องอยู่จริงไม่ได้รันทั้ง 26 ตัว สามารถพักเครื่องได้สบายๆ 26 ตัวสลับใช้กันได้ ถ้ามีจำนวนน้อย 16 ตัว เราอาจต้องมีเรื่องของการโมดิฟายสายพานให้เข้ากับ Speed ตัวใหม่ แล้วมีการไป Cross Over กันซึ่งเป็นเรื่องที่ผมว่ามันซับซ้อนและไม่เห็นประโยชน์เลย

นอกจากนี้ใน Protocol ของ TSA สามารถปรับเครื่องให้มีความเร็ว (Speed) ได้ถึง 0.5 เมตรต่อวินาที แต่ TSA แนะนำว่า จากการทดลองในสภาพแตกต่างกัน 0.2 เป็นค่าที่เหมาะสมที่สุด ถ้าเราอยากจะปรับเป็น 0.5 ถ้าอ่านค่าไม่แน่นอนมันก็จะตีตกต้องไปตรวจในขั้นตอนที่ 2 กันอีก ซึ่งเราได้พิสูจน์แล้วว่า ที่ 0.1 รองรับผู้โดยสารได้เกินเป้าของสนามบิน คือ 45 ล้าน คนต่อปี และตอนนี้ขยับไปที่ 55ล้านคน ใช้ 26 ตัวใน ความเร็วที่ 0.1 ก็ไม่มีปัญหาเรื่องความเร็วเลย ซึ่งตั้งเกณฑ์ไว้ให้ตั้งได้ที่ 0.2 ถ้าปรับจาก 0.1 เป็น 0.2 เราก็รับได้ 100 ล้านคน แต่จากสภาพทางกายภาพของสุวรรณภูมิทราบกันดีว่า รองรับไม่ได้เพราะคงไม่มีที่ยืนจึงไม่มีความจำเป็นที่จะไปเร่งความเร็ว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ++CTXมีอายุใช้งานได้อีก5ปี
นอกจากนี้ CTX9400 ยังเหลืออายุการใช้งานอีก 5 ปี ไม่ต้องรีบเปลี่ยนก็ยังได้ หรือถ้าถอด 26 เครื่องมาเปลี่ยนเป็นเวอร์ชันใหม่ 26 ตัวเดิมเอาไปใช้ที่สนามบินอื่นหรือไปใช้ในกิจกรรมอื่นได้อีก ประธาน AOC กล่าวให้แง่คิด พร้อมทั้งระบุว่า เวลาสายการบินจะเข้าไปประกอบการจะให้ความสำคัญอยู่ 2-3 เรื่อง คือ เรื่อง Foundation ของสนามบิน เรื่องของ Security และเรื่องของ Safety ที่ตอนนี้ขยับเข้ามาเรื่องการ Operate แล้ว การเอาเครื่องมาลงในรันเวย์ การเอาเครื่องวิ่งในแท็กซี่เวย์ พื้นผิว ที่ตอนนี้มีสภาพแตกร่อนซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกสนามบิน ซึ่งปัญหาที่สุวรรณภูมิ เรียกว่า Good Problem เพราะคนและเครื่องบินมาเยอะ ถือว่าดี รายได้เข้าประเทศ แต่การ Maintain เรื่องนี้สำคัญเพราะสุ่มเสี่ยงหรือมีเรื่อง Compliance ในเรื่อง Safety ต้องไม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น

สนามบินเป็นเหมือนประตูด่านแรก เป็นหน้าตาของประเทศ มันคือ ความประทับใจแรก Concept ที่สนามบินสมัยใหม่ควรจะมี คือ ต้องเร็ว ต้องเท่ทุกอย่างต้องเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ (Seamless) อาทิ ต่อจาก Domestic มาต่อ Inter และ Inter มาที่กระเป๋า เป็นต้น สุดท้ายเป็นเรื่องของราคา

ตอนนี้สนามบินเพื่อน บ้านกำลังไล่เรามาติดๆ เขาก็มี AOC เหมือนเรา ทุกคนก็ต้องการช่วงชิงความเป็นสนามบิน Hub ในโซนของอาเซียน เราอาจจะสูญเสียตรงนี้ในอนาคต ตอนนี้ต้องถือว่าจำนวนผู้โดยสาร ผู้มาใช้สนามบินเรา ยังทำได้ดีมาก ทอท.ประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มาก

ปัญหาตอนนี้ก็คือ ประคองไปแบบพยายาม จะรับคนเพิ่มเข้ามายังไง มาแล้วมี Counter มีที่จอดหรือไม่ รับมาแล้วแออัดแล้วลูกค้าเก่าๆที่อยู่ก็จะไม่ไหวก็ต้องคำนึงถึงลักษณะนี้ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,353 วันที่ 1 - 4 เมษายน พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว