เร่งเครื่อง ‘ประชารัฐ’ ดันเอกชนร่วมวางฐาน ‘เศรษฐกิจใหม่’

22 ม.ค. 2559 | 05:00 น.
หันหัวเรือเข้าโต้คลื่นปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่โหมใส่เป็นระลอกมาตั้งแต่ต้นปี ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความพยายามเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในระดับปฏิบัติที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างน้อย 2 กรณี ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ประชารัฐ" ของรัฐบาล "บิ๊กตู่" ทั้งเพื่อประคับประคองให้ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนัก คือ กลุ่มเศรษฐกิจระดับชุมชนและเอสเอ็มอีให้อยู่รอด และเป็นการวางรากฐานใหม่เศรษฐกิจไทยสู่เป้าหมาย "มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน"

ปั้น SMEs นักรบเศรษฐกิจใหม่

กรณีแรกคือมติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เดินหน้าโครงการ"GEF-UNIDO Cleantech Programme for SMEs in Thailand" เพื่อเป็นแหล่งทุนส่งเสริมวิจัยพัฒนาเอสเอ็มอี.กลุ่มเริ่มต้น หรือสตาร์ตอัพ เพื่อสนับสนุนให้คิดค้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสะอาด โดยเป็นเงินทุนร่วมระหว่างระหว่างกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กับรัฐบาลไทย 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปแบบเครดิต หรืออุปกรณ์
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานสร้างผู้ประกอบการเทคโนโลยีใหม่ ในเป้าหมาย 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี ซึ่งในภาพรวมรัฐบาลจะจัดตั้ง "National Startup Center"ขึ้นมา เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจและตลาด เป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในอย่างเป็นรูปธรรม

การสนับสนุนเอสเอ็มอี สร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพื่อให้เป็นนักรบเศรษฐกิจใหม่แล้ว สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานกลุ่มภาครัฐในคณะทำงานร่วมประชารัฐด้านส่งเสริมเอสเอ็มอี.และสตาร์ตอัพ ชี้ว่า อีกกลุ่มอีกกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต คือ กลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม(Social Enterprise) ซึ่งภาคเอกชนเสนอให้จัดตั้งกองทุนขึ้นมาสนับสนุน

โดยจะระดมทุนจากภาคเอกชนรายใหญ่ มาลงขันร่วมกับภาครัฐในสัดส่วน 50:50 อาจเป็นฝ่ายละ 5 หมื่นล้าน รวมเป็น 1 แสนล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งทุนไปสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม ที่มีอยู่ประมาณ 7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ โดยเริ่มต้นอาจจัดสรรให้กองทุนถือ 80% ผู้ประกอบการSMEs 20 % แล้วค่อยลดสัดส่วนกองทุนลงเรื่อยๆ เปลี่ยนถ่ายให้ชุมชนถือแทนใน 5 ปี เป็นการสร้างเครือข่ายการผลิตให้ภาคเอกชน

3 ประสานปั้นศก.ฐานราก

ถัดมาอีกวันได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู)สร้างเศรษฐกิจฐานราก หรือโครงการ "สานพลังประชารัฐ" 3 ฉบับ คือ โครงการขับเคลื่อนความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจฐานราก โครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร และโครงการเชื่อมโยงการค้าปลีกสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชนและการท่องเที่ยว ขององค์กรทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน รวม 33 องค์กร

โดยมีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายศก. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจฐานราก พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และฐาปน สิริวัฒนภักดี จาก บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และหัวหน้าทีมภาคเอกชนในคณะทำงานขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจฐานราก ร่วมเป็นสักขีพยาน

โดยมีการจัดตั้งคณะดำเนินงานสนับสนุนความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง มีผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์กรมหาชน) หรือ พอช. เป็นประธาน เพื่อเชื่อมประสานความร่วมมือของภาคีเครือข่าย นำร่องด้วยภาคเกษตรอินทรีย์ ประมงชายฝั่ง บ้านมั่นคง โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ได้ปีนี้ .5 พันตำบล และเพิ่มเป็น 2.5 พันตำบลในปีถัดไป

รองนายกฯ สมคิดชี้ว่า นี่คือรูปธรรมของแนวทาง "ประชารัฐ" ที่เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐ-เอกชน โดยมีประชาชนเข้าร่วม เพื่อขับเคลื่อนสู่ 5 เป้าหมายหลัก คือ 1.สร้างโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เพื่อขับเคลื่อนแนวดิ่งและแนวนอน 2.พัฒนาเศรษฐกิจยกระดับผลิตภาพ ในแนวทาง 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร 3.สร้างและเชื่อมโยงตลาดทั้งภายในและส่งออก 4.ท่องเที่ยวยั่งยืนในท้องถิ่น หรือ 1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยว และ 5.อินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ให้เข้าถึงระดับตำบลทั่วประเทศ

12 คณะทำงาน "ติดเครื่อง"

2 กิจกรรมดังกล่าว คือนโยบายประชารัฐที่เริ่มปรากฏเป็นรูปธรรม จากกลไกการขับเคลื่อน 3 ระดับ 1.ระดับนโยบาย ที่มีคณะรัฐมนตรีเป็นที่ให้นโยบายในการขับเคลื่อน 2.ระดับแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้กระทรวงและคณะกรรมการขับเคลื่อน 6 คณะที่มีรองนายกฯ แต่ละด้านเป็นประธาน คอยกำกับติดตาม และ 3.ระดับปฏิบัติการ มี 3 ส่วนคือ ภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือภาคประชาสังคม ซึ่งได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมประชารัฐ 12 ชุด ที่มีหัวหน้าทีมภาครัฐ คือ รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในด้านนั้นๆ ทำงานประกบคู่กับหัวหน้าทีมภาคเอกชน

นอกจาก 2 กิจกรรมที่ปรากฏแล้ว คณะทำงานผลักดันด้านอื่นๆ ก็เริ่มประชุมหา “สูตร” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในด้านของตนเองกันคึกคัก(อ่านตารางประกอบ) อาทิ ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมที่เป็น New S-Curveหรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต ด้านการส่งออกและดึงดูดการลงทุนหรือคณะทำงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ และด้านการสร้างรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ

ลุ้นเอกชนเติมออกซิเจน ศก.

การดึงเจ้าสัว ทายาทบิ๊กธุรกิจ ตลอดจนมือบริหารองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ เข้าร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประชารัฐ นับเป็นมิติใหม่ที่เป็นการผนึกความร่วมมือ "ร่วมคิดร่วมตัดสินใจและร่วมทำ" ตั้งแต่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายเสริมสร้าง "ฐานราก" ทางเศรษฐกิจในระดับประชาชนและชุมชน

ต่างจากเดิมที่เวทีร่วมภาครัฐ-เอกชน จะเป็นเวทีเพื่อให้ภาคเอกชนเสนอปัญหา หรือข้อเรียกร้อง ให้ภาครัฐแก้ไข หรืออำนวยความสะดวก เป็นหลัก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์กรธุรกิจเป็นหลัก

ดังนั้น เมื่อภาคเอกชนเข้ามา "มีส่วนร่วม" ในนามคณะทำงาน จึงมีข้อผูกพันที่ต้องลงแรงร่วมกันมากขึ้น และต้องเร่งให้มีผลทันที

เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจเวลานี้ ทั้งเต็มไปด้วยปัจจัยลบแล้ว ยังทับถมด้วยปัญหาเดิมที่หมักหมมไว้แล้วมา "ฝีแตก" พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ มาตรการการบินของไทยไม่ได้มาตรฐาน กระทั่งการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า สูงถึงร้อยละ 25 ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารแบงก์กสิกรไทย ชี้ เป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวการบริหารจัดการเศรษฐกิจประเทศโดยรวมในห้วงที่ผ่านมาคนระดับล่างไม่สามารถทำมาหาได้ให้พอกิน สินค้าเกษตรทั่วโลกราคาตกหมด คนจำนวนมากไม่สามารถมีชีวิตอยู่อย่างพออยู่พอกินได้ ความรู้หรืออาชีพต่อสู้กับต้นทุนไม่ได้ โดยปัจจุบันรัฐบาลพยายามใช้ทุกมาตรการในการแก้ปัญหา ทั้งการลงทุนภาครัฐและเอกชน พร้อมกับปรับโครงสร้างการทำมาหากินด้วย "พยายามปาดซ้าย ปาดขวา เปิดทุกก๊อก ใช้ทุกมาตรการ แต่ก็ไม่ได้ดั่งใจ"

กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี และหนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนประชารัฐด้านการส่งออก ชี้ว่าการผลักดันจีดีพีไทยปีนี้ให้ถึงเป้า 3.5% หัวใจสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือแข็งขันระหว่างรัฐและเอกชนผ่านโครงการประชารัฐ และต้องเร่งให้เม็ดเงินลงทุนเอกชน เข้ามาช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจครึ่งแรกของปีเพื่อรอเม็ดเงินลงทุนโครงการใหญ่ภาครัฐที่จะทยอยเข้ามาเติมในครึ่งหลัง โดยจะขอให้เอกชนร่นแผนลงทุนให้เร็วขึ้น

ครึ่งแรกปีนี้จึงเป็นเดิมพันหนัก ของทั้งทมี เศรษฐกิจรัฐบาลประยุทธ์ ภาคธุรกิจเอกชน รวมถึงอนาคตการวางฐานรากใหม่เศรษฐกิจไทย เพื่อกลับไปเติบโตอย่างยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559