‘เวิลด์แบงก์’ประเมินผลคดีล้มละลาย

30 มี.ค. 2561 | 08:00 น.
กรมบังคับคดีเตรียมรับเวิลด์แบงก์ ประเมินอันดับความยากง่ายของธุรกิจ ยํ้าปิดจุดอ่อน ยกระดับกระบวนการพิจารณาคดีหมดแล้ว ยํ้าภายใต้กฎหมายใหม่ ระบุโทษอาญา ถ้าผู้ถือทรัพย์ลูกหนี้ทั้ง “บุคคล-นิติบุคคล” ไม่แจ้งข้อมูลทรัพย์ ต่อเจ้าพนักงานฯภายใน 1 เดือน

หลังจากที่ธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์)ได้รายงานความยากง่ายในการทำธุรกิจประจำปี 2561 พบว่าอันดับของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 26 จากปีก่อนที่อยู่ในอันดับ 46 โดยตัวชี้วัดที่มีอันดับสูงสุดคือ การขอใช้ไฟฟ้าได้อันดับสูงสุดที่ 13 ของโลก รองลงมาคือ การคุ้มครองผู้ลงทุน ได้อันดับ 16 และการแก้ปัญหาการล้มละลายได้อันดับ 26

[caption id="attachment_74916" align="aligncenter" width="361"] รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี[/caption]

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดีเปิดเผยว่า ทีมผู้ประเมิน จากเวิลด์แบงก์ จะเข้ามาประเมินความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ(Ease of Doing Business ) ในระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคมนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาการล้มละลายเป็นหนึ่งในดัชนีที่วัดผลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามแก้ไขและปิดจุดอ่อนไปเกือบหมด โดยพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ล้มละลาย 2561 (ฉบับที่ 10) ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2561 ซึ่งในหลักการพ.ร.บ.ดังกล่าว จะให้การคุ้มครองเจ้าหนี้ ลูกหนี้ บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกระบวนการพิจารณาคดีล้มละลายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ระบุให้บุคคลผู้เป็นหนี้ ลูกหนี้ หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง มีหน้าที่ต้องแจ้งข้อมูลดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์(จพท.) ภายใน 30 วันหรือ 1 เดือน นับจากวันที่รับทราบคำสั่งของจพท. เพื่อเป็นข้อมูลให้กรมบังคับคดีติดตามรวบรวมทรัพย์ในคดีล้มละลาย ซึ่งรวมถึงธนาคารพาณิชย์ ที่ดูแลหน่วยลงทุน หรือคัสโตเดียนและห้องนิรภัย ตู้เซฟ หากปรากฏว่า มีสินทรัพย์ในคดีล้มละลายอยู่ในครอบครองของใครจะต้องแจ้งด้วย”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ “กรมจะออกหนังสือให้ผู้ครอบครองหรือมีทรัพย์สินสำคัญของลูกหนี้แจ้งข้อมูลมาภายใน 30 วันที่ได้รับแจ้ง กรณีเพิกเฉยไม่แจ้งกรมมีโทษปรับ 2 แสนบาท หากพิสูจน์ทราบแล้วไม่แจ้งและถ้าเจตนาไม่ให้ความร่วมมือจะมีโทษอาญา ซึ่งหลักการก็เพื่อให้กระบวนพิจารณาคดีล้มละลายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างที่ญี่ปุ่นสามารถจัดการรวบรวมทรัพย์สินในคดีล้มละลายได้เร็วและครอบคลุม ขณะที่ในเมืองไทยนั้น กรมบังคับคดีไม่สามารถรู้แหล่งของทรัพย์สินลูกหนี้ทั่วประเทศได้ จึงต้องอาศัยการแจ้งข้อมูลเข้ามา”

กรมบังคับคดียังจะเข้าร่วมโครงการประเมินภาคการเงินหรือ FSAP (Financial Sector Assessment Program) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ฯ (ก.ล.ต.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29 - 31 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว