เคลียร์ทุกข้อสงสัย ซื้อยางแสนตันดันราคา

24 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
จากราคายางพาราในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลประกาศรับซื้อยางตรงจากเกษตรกรรายย่อย โดยตรงในราคาชี้นำตลาด เมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา โดยส่วนของยางแผ่นดิบชั้น 3 จะซื้อที่ 45 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำยางสดและยางก้อนถ้วนในราคาลดหลั่นกันลงไป เป้าหมายเบื้องต้น 1 แสนตันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในโครงการส่งเสริมการใช้ยางของ 8 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง ดีเดย์จะเริ่มรับซื้อในวันที่ 25 มกราคม2559 นั้น

ในโอกาสนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์พิเศษนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถึงแนวทางการรับซื้อยาง รวมถึงการเคลียร์ข้อกังขาสัญญาขายยางให้กับเครือชิโนเคม จำนวน 2 แสนตัน รวมถึงการปิดดีลยางเก่า และยางใหม่ จำนวน 4 แสนตัน กับบริษัทไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ

เร่งสรุปซื้อยาง 3 ประเภท

"เชาว์" กล่าวว่า จากราคายางที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันที่ 12 มกราคม 2559 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหายางพาราเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางเป็นกรณีเร่งด่วน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กยท. กระทรวงพาณิชย์ โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) ร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ดำเนินตามกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เกษตรกรชาวสวนยางที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติ 1.จะรับซื้อยางจำนวน 1 แสนตัน จากเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทยและเปิดกรีดแล้ว

โดยรับซื้อผลผลิตยางที่เกษตรกรชาวสวนยางนำมาขายรายละไม่เกิน 15 ไร่ (จำนวนเศษของไร่ปัดขึ้นเป็น 1 ไร่) ไร่ละ 10 กิโลกรัม รวมไม่เกิน 150 กิโลกรัม (ยางแห่ง) 2.ชนิดยางและราคารับซื้อ ได้แก่ 1.ยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ปริมาณความชื้นไม่เกิน 3% ราคากิโลกรัมละ 45 บาท 2.น้ำยางสดที่มีปริมาณเนื้อยางแห้ง (DRC) ไม่ต่ำกว่า 28 % ราคากิโลกรัมละ 42 บาท และ 3.ยางก้อนถ้วย ราคากิโลกรัมละ 41 บาท ซึ่งทางคณะการบริหารโครงการ กำลังหารือกันอีกครั้งว่า จะซื้อยางทั้ง 3 ประเภทเลยหรือไม่ เพราะยิ่งหลายประเภทก็มีปัญหาในทางปฏิบัติ ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการซื้อยางแห้ง

ส่วนในเรื่องการขนส่ง ซึ่งอาจจะมีปัญหาต่อเกษตรกรชาวสวนยาง จะต้องหารือ เนื่องจากการรับซื้อน้ำยางสด น้ำยางก้อนถ้วย จะต้องเข้าโรงงานทันที เพราะน้ำยางสด เป็นสินค้าประเภทที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้นานจะต้องส่งให้ผู้รับจ้างแปรรูปเข้าโรงงานแล้วแปรรูปไปเป็นน้ำยางข้นเลย เพราะฉะนั้นกระบวนการบริหารจัดการก็ควรจะต้องส่งทันที ซึ่งจะได้มีการประชุมร่วมกับ 2 สมาคม ได้แก่ สมาคมน้ำยางข้นไทย และสมาคมยางพาราไทย เพื่อร่วมหาแนวทางในการที่จะดำเนินการซื้อ แล้วส่งมอบให้โรงงานแปรรูป ขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะซื้อน้ำยางกี่ตันต่อวัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรชาวสวนยางเป็นหลักว่าจะนำยางมาขายให้กับ กยท.เท่าไร ส่วนการเปิดจุดรับซื้อ จำนวน 3 พันจุดทั่วประเทศ แบ่งเป็น ภาคใต้ 2 พันจุด ภาคเหนือและภาคอีสาน 1 พันจุด

ลงทะเบียนแล้วเฉียดล้าน

"เชาว์" กล่าวอีกว่า การรับซื้อน้ำยางสดและน้ำยางก้อนถ้วย ถือเป็นครั้งแรกที่โครงการรับซื้อ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนการจัดการวัตถุดิบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือ จะต้องจับคู่ (แมตชิ่ง) กับผู้ใช้ยาง กับหน่วยราชการต่างๆ ดังนั้นทั้ง 8 กระทรวง จะต้องกำหนดชนิดยาง ปริมาณ และวันเวลาที่แน่นอนที่จะใช้ยาง หลังจากนั้นจะต้องวางแผนการผลิตและส่งมอบให้กับผู้ใช้ยาง ต้องยอมรับว่าหน่วยราชการไม่ได้ซื้อยางโดยตรง จะต้องมีการประมูลให้ผู้รับจ้างในการดำเนินการผลิต ในการผลิตยางเรียบร้อยแล้ว

ยกตัวอย่างเช่น กระทรวงคมนาคม จะเป็นเรื่องการว่าจ้างบริษัทในการทำถนน ไม่ได้ซื้อน้ำยางข้นจากกยท. แต่ต้องเป็นหน่วยงานที่จะต้องไปประสานงานกับบริษัทที่ประมูลถนนได้ ในเรื่องที่เป็นวัตถุดิบไปผสม เพราะฉะนั้นบริษัทจะต้องประสานกับ กยท. แล้วทาง กยท. จะไปส่งมอบกับบริษัท ซึ่งจะมีการซื้อขายยางให้กับบริษัทเหล่านั้นโดยตรงไม่ได้ขายให้กับส่วนราชการ

"ปัจจุบันการขึ้นทะเบียนชาวสวนยาง ณ วันที่ 17 มกราคม 2559 ได้เข้ามาร่วมแจ้งความประสงค์ 1.1 ล้านคน ขณะนี้บันทึกข้อมูลได้กว่า 9 แสนรายแล้ว ได้พยายามเร่งรัดโดยให้นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น เข้ามาช่วยบันทึกข้อมูล ต้องเร่งรัดทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ รวมทั้งวันเสาร์-อาทิตย์ ไม่มีเวลาหยุด เจ้าหน้าที่แทบไม่ได้พักผ่อนเลย"

แนวโน้มราคายางดีขึ้น

เชาว์ กล่าวถึงทิศทางราคายางที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และแนวโน้มน่าจะดีขึ้นว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจุดอะไรเป็นจุดสมดุลของราคาก็ต้องมีการติดตามทุกวัน ซึ่งจากนี้ไปรัฐบาลไม่ได้ใช้แค่มาตรการแทรกแซงโดยจะซื้อราคานำตลาดอย่างเดียว แต่ยังมีโครงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรทั้งการชดเชยเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและคนกรีดยาง 1.5 พันบาทต่อไร่ ไม่เกิน 15 ไร่ และยังมีอีก 15 โครงการในการแก้ไขปัญหาและพัฒนายางพาราทั้งระบบที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลป์ยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ สั่งการให้ทาง กยท.ไปพิจารณาโครงการต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัญหาอุปสรรค หรือโครงการใดที่มีประโยชน์ให้ขยายระยะเวลาโครงการและให้เกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าถึงเงินกู้สินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆให้มากขึ้น

"สิ่งที่จะฝากกับเกษตรกรในเรื่องภาวะวิกฤติราคายาง โดยเฉพาะโครงการสร้างความเข้มแข็งให้กับ วันนี้เราต้องการให้ ชาวสวนยาง 8.5 แสนครัวเรือน ให้รีบมาแจ้งกับการยางฯ เพื่อที่จะเข้าร่วมโครงการ จะเร่งรัดในการตรวจสอบรับรองสิทธิ์จ่ายให้กับพี่น้องชาวสวนยางโดยเร็ว เพราะบางรายประชาสัมพันธ์แล้วไม่มา แต่ก็ยังมีปัญหาในเรื่องเอกสารและระเบียบบ้าง อยากจะเร่งรัดให้มีการขึ้นทะเบียนให้เร็วที่สุด รวมทั้งการดำเนินการซื้อขายยางจำนวน 1 แสนตันด้วย อย่างไรก็ตามในขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางที่อาจจะปิดกรีดแล้วไม่มียาง ก็จะขยายโครงการไปจนถึงฤดูเปิดกรีดหน้าเพื่อที่จะไม่ให้เสียสิทธิ์"

 ยันสัญญาจีทูจีชิโนเคม

ต่อกรณีการทำสัญญาซื้อขายยางกับเครือชิโนเคม (SINOCHEM) จากจีน ที่มีหลายฝ่ายกังขาว่า ตำแหน่งรักษาการ สามารถทำแทนผู้ว่าการการยางฯ ได้หรือไม่ และ 2.สัญญาดังกล่าว เป็นจีทูจีจริงหรือไม่ ขอชี้แจงรายละเอียดดังนี้ 1. มีมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้ กยท. ไปดำเนินการ ลงนามซื้อขายยาง ซึ่งนอกจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะมีมติรับรองแล้ว ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้แต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการการยางฯ เพราะฉะนั้นการดำเนินการต่างๆ ของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ว่าการการยางฯ ส่วนตัวแทนรัฐบาลจีนก็คือชิโนเคม หากถามว่าเซ็นสัญญาถูกหรือไม่ ก็เป็นไปตามมติครม. และเป็นตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบ

"การซื้อขายยางกับชิโนเคม เป็นการทำธุรกิจ ไม่ใช่เป็นเรื่องของการแทรกแซงราคา และมีเรื่องของการส่งมอบก็มีระยะเวลาชัดเจน เดือนละ 1.66 หมื่นตัน ขณะที่ปัจจุบันสัญญาซื้อขายยางกับ บริษัทไชน่า ไห่หนาน รับเบอร์ อินดัสทรี กรุ๊ปฯ ก็ได้ยกเลิกสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว เวลานี้ยังมีเงินประกันสัญญาอยู่ประมาณกว่า 100 ล้านบาท ต้องยอมรับในเรื่องยาง ราคายางเป็นเรื่องของจิตวิทยา ถ้าเราบอกว่าไม่ขาย ก็มีแรงกดดันว่าทำไมไม่ขาย แต่ถ้าเราบอกจะขาย ก็มีแรงกดดันเรื่องราคาอีก "

เชาว์ กล่าวในตอนท้ายว่า วันนี้เราต้องช่วยกัน ต้องยอมรับว่าเรื่องยางเป็นปัญหาของประเทศจริงๆ ยางพาราไม่เหมือนพืชชนิดอื่น เป็นสินค้าที่มีการซื้อขายล่วงหน้า และเป็นเรื่องของการเก็งกำไรด้วย ไม่ใช่เป็นเรื่องของดีมานด์-ซัพพลายเพียงอย่างเดียว จะสังเกตว่าที่ผ่านมาแค่ประกาศราคาซื้อชี้นำ ทำไมราคาอยู่ดีๆ ก็ขยับขึ้นเรื่อยๆ หากคิดในแง่ดี คิดว่าการขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ดูแลเรื่องราคาได้ผล และกำลังสู่ฤดูแล้ง ใกล้ปิดกรีดปริมาณยางน้อย ก็อาจจะมีปัจจัยตรงนี้เข้าช่วยเสริมทำให้ราคายางปรับตัวดีขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559