เปิดทีโออาร์ไฮสปีดเทรน เอื้อทุนใหญ่1.2แสนล้าน

03 เม.ย. 2561 | 01:56 น.
คลอดทีโออาร์ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ต้นเม.ย.นี้ เปิดทางให้เอกชนจับมือร่วมประมูลกับต่างชาติ ตั้งบริษัท SPV คนไทยถือหุ้นใหญ่ 51% ต้องมีหนังสือการันตีเงินสดหรือสินทรัพย์ไม่ตํ่ากว่า 1.2 แสนล้าน วางคํ้าประกัน วิศวกรรมสถานฯระบุต้องเงินหนาพอถึงเข้าประมูลได้

การออกทีโออาร์โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) จะประกาศทีโออาร์ได้ในสัปดาห์นี้หรือราวต้นเดือนเมษายน 2561 ด้วยมูลค่าการร่วมลงทุน (พีพีพี)ราว 2.46 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนของภาค เอกชนราว 2.2 แสนล้านบาท และรัฐ 2.6 หมื่นล้านบาท มีสัญญาดำเนินงาน 45 ปี รวมการก่อสร้าง 5 ปี รัฐจะรับผิดชอบค่าเวนคืนที่ดินแนวรถไฟความเร็วสูงราว 3.5 พันล้านบาท ขณะที่เอกชนต้องจ่าย ค่าเช่าที่ดินมักกะสันและศรีราชารวม 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นต้น

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) เปิดเผยว่า หลังจากทำมาร์เก็ตซาวดิ้งครั้งแรกไปแล้ว ได้นำข้อคิดเห็นของนักลงทุนมาปรับปรุงร่างทีโออาร์ และคาดว่าจะประกาศช้าสุดได้ราวต้นเดือนเมษายน 2561 นี้

[caption id="attachment_269408" align="aligncenter" width="335"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

โดยร่างทีโออาร์ กำหนดผู้ที่จะเข้ามาร่วมลงทุน จะต้องเป็นนิติบุคคลรายเดียวหรือมากกว่า 1 รายร่วมกันในรูปกิจการร่วมค้า หรือร่วมทุน โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งมาไม่น้อยกว่า 3 ปี และมีคุณสมบัติ ด้านการเงิน กล่าวคือ 1.กรณีนิติบุคคลแกนนำ ต้องมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ไม่น้อยกว่า 4.5 หมื่นล้านบาท หรือ 2.แกนนำต้องมีสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท บวกกับนิติบุคคล 2 ราย อีก 2 หมื่นล้านบาท โดยที่นิติบุคคลแต่ละรายต้องมีสินทรัพย์ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ขณะที่คุณสมบัติด้านการระดมทุน ต้องมี 1.หนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) หรือการันตีไม่น้อย กว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือ 2. มีเงินสด/สินทรัพย์เทียบเท่าเงินสดไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้านบาท หรือ 3. LOI บวกกับเงินสดแล้ว ไม่น้อยกว่า 1.2 แสนล้านบาท

ส่วนคุณสมบัติด้านเทคนิค จะแยกเป็น 3 ส่วน โดยส่วนแรกจะเป็นเรื่องของประสบการณ์การก่อสร้างโครงการ ซึ่งมี 3 ส่วนย่อย ได้แก่ ประสบการณ์งานออก แบบโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการก่อสร้าง และด้านการจัดหางานระบบ พร้อมกับอุปกรณ์ เครื่องกล และไฟฟ้า ส่วนที่ 2 เป็นเรื่องของประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟและซ่อมบำรุงรักษา ซึ่งผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์ด้านการเดินรถไฟความเร็วสูงที่ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และดำเนินการแล้ว 5 ปีต่อเนื่อง ส่วนที่ 3 ต้องมีประสบการณ์พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หรือประสบการณ์เป็นนักลงทุนพัฒนาเมือง บนเนื้อที่ไม่ตํ่ากว่า 2 หมื่นตารางเมตร

TP15-3352-5 สำหรับค่าธรรมเนียมในขั้นตอนการคัดเลือกเอกชนนั้น การซื้อซองจะอยู่ที่ 2 ล้านบาท และ เมื่อจัดทำเอกสาร ข้อเสนอแล้วยื่นซองประมูลเข้ามา ต้องยื่นหลักประกันซองที่มีมูลค่า 4 พันล้านบาท จากนั้นเข้าขั้นตอนการประเมิน ซึ่งจะต้องมีค่าธรรมเนียมประเมินเอกสารอีก 2 ล้านบาท หลังจากนั้นได้ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการลงนามในสัญญาอีก 2 ล้านบาท

การพิจารณาข้อเสนอ จะต้องมีแผนการพัฒนาธุรกิจ การให้บริการ การบริหารความเสี่ยง การเงิน รวมทั้งวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนน้อยที่สุดเป็นรายปี และแผนงานที่คาดว่าจะแบ่งปันผลกำไรให้กับการรถไฟแห่งประเทศ ไทย(ร.ฟ.ท.) ที่คำนวณกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิสูงสุด ซึ่งจะเป็นผู้ผ่านเกณฑ์พิจารณา เมื่อคัดเลือกผู้ชนะได้แล้ว ก่อนลงนามสัญญาผู้ชนะประมูลจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ (SPV) มีวัตถุประสงค์ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเท่านั้น

บริษัทเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ ต้องถือหุ้นโดยฝ่ายไทยมากกว่า 51% ถือโดยบริษัทแกนนำไม่น้อยกว่า 30% และบริษัทอื่นๆ ที่เหลือถือไม่ตํ่ากว่า 5% ซึ่งการจัดตั้งเริ่มแรกจะต้องมีเงินทุนจดทะเบียน 4 พันล้านบาท และเมื่อเปิดดำเนินการแล้วจะต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท

นายรัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความเห็นว่า ร่างทีโออาร์ที่ออกมา ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องมีเงินหนาพอที่จะเข้ามาเสี่ยง เพราะหากเป็นบริษัทเล็กๆ เงินทุนน้อย จะสู้ไม่ไหว จากการเสนอผลตอบ แทนรัฐ และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาค่อนข้างสูง และผลตอบแทนระยะสั้น ระยะกลางแทบไม่มี

ดังนั้น การจะให้โครงการเกิดได้ การดำเนินงานอยากจะให้เอื้อกับเอกชนที่มีความสามารถไปเลย แต่ต้องสัญญากับรัฐว่า จะต้องคุมค่าโดยสารให้เหมาะสม ความปลอดภัยและความสะดวกสบายในการใช้งาน การสัญญาว่าจะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรม และการให้บริการ จ้างคนในทุกระดับเป็นคนไทย มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีควบคู่กับการทำวิจัยและพัฒนา การจัดตั้งโรงงานอะไหล่ที่สำคัญเพื่อการซ่อมบำรุง เป็นต้น
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว