ลิ้นจี่ 4.5 หมื่นตันจ่อออกสู่ตลาด

28 มี.ค. 2561 | 07:28 น.
สศก.เผย ปี 61 ผลผลิตลิ้นจี่ทั้งประเทศ 45,446 ตัน ลดลงจากปีที่แล้วเพียงร้อยละ 1 ในขณะที่ผลผลิตต่อไร่ 450 กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เนื่องจากสภาพอากาศอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล โดยผลผลิตสำคัญ 4 จังหวัด ภาคเหนือจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนและออกมากในเดือนพฤษภาคมนี้ คิดเป็นร้อยละ 62 ของผลผลิตทั้งหมด

นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตลิ้นจี่ ปี 2561 (ข้อมูลคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ณ 26 กุมภาพันธ์ 2561) พบว่า เนื้อที่ให้ผล รวมทั้งประเทศ 100,927 ไร่ ลดลง จากปี 2560 ร้อยละ 9 เนื่องจากลิ้นจี่ให้ผลผลิตน้อยติดต่อกันหลายปี ในแหล่งผลิตที่สำคัญทางภาคเหนือ และภาคกลาง เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้ผลอื่น เช่น ลำไย มะม่วง กล้วยหอม กล้วยน้ำว้า ส้มโอ และมะพร้าวน้ำหอม เป็นต้น ผลผลิต รวมทั้งประเทศ 45,446 ตัน ลดลงร้อยละ 1 ตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผล ส่วนผลผลิตต่อไร่ 450 กก. เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 จากสภาพอากาศอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกติดผล โดยมีอากาศหนาวเย็น และหนาวนานกว่าปีที่ผ่านมา เหมาะกับการออกดอกของลิ้นจี่

จากการติดตามสถานการณ์แหล่งผลิตลิ้นจี่ 4 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ พะเยา เชียงราย และน่าน คาดว่า ปี 2561 ทั้ง 4 จังหวัด มีเนื้อที่ให้ผล 88,413 ไร่ ลดลงจากปี 2560 ร้อยละ 10 ผลผลิต 4 จังหวัด รวม 39,705 ตัน ลดลงร้อยละ 6 โดยคาดว่า เชียงใหม่ จะมีผลผลิต 24,360 ตัน รองลงมา คือ พะเยา 6,792 ตัน เชียงราย 5,048 ตัน และ น่าน 3,505 ตัน

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ สำหรับผลผลิตต่อไร่ 4 จังหวัด เฉลี่ย 449 กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวย อากาศหนาวเย็นกว่าปีที่ผ่านมา ยกเว้น จังหวัดเชียงรายผลผลิตต่อไร่ลดลง เนื่องจากมีฝนตกทำให้ต้นลิ้นจี่แตกใบอ่อนแทนการออกดอก โดยขณะนี้ ลิ้นจี่อยู่ในช่วงเริ่มติดผล มีผลขนาดหัวไม้ขีดไฟ และคาดว่าทั้ง 4 จังหวัด ผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน และออกตลาดมากในเดือนพฤษภาคม 2561 รวม 24,554 ตัน หรือร้อยละ 62 ของผลผลิตทั้งหมด

ด้านนายธวัชชัย เดชาเชษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ (สศท.1) กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้ เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะขายผลผลิตในให้แก่ผู้รับซื้อที่มาตั้งจุดรับซื้อ โดยแบ่งผู้รับซื้อออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ผู้รับซื้อเพื่อการส่งออกไปประเทศจีน 2) ผู้รับซื้อที่เป็นโมเดิร์นเทรด และ 3) ผู้รับซื้อที่เป็นพ่อค้าทั่วไป โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดในลักษณะกระจุกตัวเพียงเดือนเดียว คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาราคาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และผู้ประกอบการ วางจำหน่ายสินค้าในหลายแห่ง เช่น ร้านธงฟ้าประชารัฐ และเครือข่ายตลาดประชารับทุกแห่งในพื้นที่ เป็นต้น จึงอยากขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบริโภคลิ้นจี่ หรือเลือกซื้อเป็นของฝากเพื่อช่วยสนับสนุนเกษตรกรในช่วงผลผลิตออกตลาดร่วมกัน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6