คสช. ดับฝัน 'AIS-ทรู'!! 'ประยุทธ์' เบรกยืดค่างวด 1.3 แสนล้าน สั่งยึดประโยชน์ชาติ

29 มีนาคม 2561
290361-1206

คสช. เบรกข้อเสนอ กสทช. ใช้มาตรา 44 ยืดค่างวด 2 ค่ายมือถือ ‘เอไอเอส-ทรู’ หวั่นซ้ำรอยประมูลคลื่นรอบใหม่ สั่ง ‘ฐากร’ ชี้แจง ‘ทีดีอาร์ไอ’ ใน 7 วัน นักวิชาการออกโรงหนุน ... องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นจี้! สร้างกติกาให้ชัดเจน

การใช้มาตรา 44 ช่วยเหลือ 2 ค่ายมือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ ‘เอไอเอส’ และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือ ‘ทรู’ ยืดชำระค่าประมูลคลื่นในงวดที่ 4 วงเงินรวม 1.3 แสนล้านบาท ออกเป็นระยะเวลา 5 ปี ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตีกลับข้อเสนอดังกล่าว เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

 

[caption id="attachment_272471" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.[/caption]

ห่วงประมูลรอบใหม่
พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ การประชุม คสช. เพื่อพิจารณากรณีที่กลุ่มทีวีดิจิตอลขอพักหนี้เป็นระยะเวลา 3 ปี พ่วงด้วย 2 ค่ายมือถือ ว่า ต้องหามาตรการที่เหมาะสม จึงยังไม่ได้ตัดสินใจอะไรทั้งสิ้น ขณะนี้ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนจะออกมาตรการอย่างไร เพราะเป็นเรื่องของธุรกิจ เรื่องของการเยียวยา เรื่องของความรับผิดชอบของภาคธุรกิจ

“ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้วยในการลงทุน ต้องดูตรงนี้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะมันต้องมีการประมูลต่อไปอีกตั้งหลายคลื่นความถี่ ว่าทำยังไงจะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาอีก” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


TP2-3352-AA

สั่ง กสทช. ชี้แจง 7 วัน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม คสช. ได้หารือถึงข้อทักท้วงและเป็นห่วงของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า การยืดระยะเวลาชำระค่าคลื่นความถี่ให้กับผู้ประกอบการค่ายมือถือจะเป็นการเอื้อเอกชน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้แสดงถึงข้อห่วงใยต่อข้อเสนอต่าง ๆ ที่เข้ามา ที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งจะต้องทำให้ชัดเจนที่สุดว่า มาตรการนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และรัฐยังคงได้ประโยชน์

“ผมได้พยายามตอบคำถามต่าง ๆ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยวาจาให้ดีที่สุด แต่ท่านให้เวลาอีก 1 สัปดาห์ เพื่อให้ผลกลับมาตอบคำถามต่าง ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนอีกครั้ง โดยให้เน้นเรื่องของผลประโยชน์ของรัฐกับประชาชนให้มากที่สุด”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

คสช. ถกเครียดทุกมิติ
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุม คสช. ครั้งนี้ ใช้เวลานานที่สุด เริ่มประชุมตั้งแต่ 09.00 น. เลิกประชุมเกือบ 10.30 น. และในที่ประชุมมีข้อคิดเห็นมากมาย แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่มองกันทุกมิติว่า นายกฯ มีข้อมูลที่หลายฝ่ายส่งมาให้โดยตรง จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะบางคนมองว่า เป็นเรื่องของการประกอบธุรกิจ จะอ้างอย่างอื่นไม่ได้ เพราะวันที่ประมูลก็หวังที่จะมีกำไร แต่ยังมีมุมมองอีกว่า คนที่ทำเศรษฐกิจที่ค่อนข้างใหญ่ หากมีปัญหาจะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจหรือไม่ นายกฯ จึงไม่อยากด่วนตัดสินใจ ขอให้ กสทช. ไปนำข้อมูลมาผสมผสานกันให้ลงตัวที่สุด แล้วรีบนำข้อมูลมาเสนอโดยเร็ว


ออกกฎให้ชัดเจน
นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า กสทช. ควรคิดให้รอบคอบ ก่อนยื่นภาระให้ ครม. ส่วนข้อกังวลที่ว่า ราคาใบอนุญาตทีวีดิจิตอลและมือถือที่สูงอยู่ ถ้าจะแก้ไขระยะยาวต้องออกกฎกติกาให้ชัดเจนและให้ผู้ประกอบการทุกรายรับรู้ล่วงหน้า เพื่อได้รับสิทธิ์ที่ถูกต้อง ส่วนข้อมูลที่ชี้แจงควรแยกกันระหว่างทีวีดิจิตอลกับมือถือ เพราะทั้ง 2 อุตสาหกรรม อยู่ในธุรกิจที่แตกต่างกัน


appMP24-3143-A

รายได้นอนวอยซ์พุ่ง
เมื่อพลิกดูผลประกอบการบริษัทมือถือในปี 2560 ‘เอไอเอส’ มีกำไรสุทธิ 30,077 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้มือถือ 40.1 ล้านเลขหมาย, ขณะที่ ‘ทรู’ กำไรสุทธิ 2,322 ล้านบาท จำนวนผู้ใช้มือถือ 27.2 ล้านเลขหมาย

ขณะที่ บริการทางด้านข้อมูลปรากฏว่า ผู้ประกอบการมือถือมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 ‘เอไอเอส’ มีรายได้ 63,857 ล้านบาท ปี 2560 เพิ่มเป็น 76,062 ล้านบาท, ‘ทรูมูฟ เอช’ มีรายได้ 34,000 ล้านบาท ปี 2560 เพิ่มเป็น 42,400 ล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

นักวิชาการหนุน คสช.
นายพิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความคิดเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ต่อกรณีดังกล่าว ว่า น่าจะเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมสำหรับกรณีเฉพาะหน้า ไม่เช่นนั้น จะมีคำถามตามมาอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม ทางออกที่เหมาะสม คือ การเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเท่าที่จำเป็น เพราะควรดำเนินการโดยใช้กลไกปกติ ไม่ต้องใช้มาตรา 44 และไม่ควรนำเรื่องการยืดชำระค่างวดมือถือของ 2 ค่ายใหญ่ มาพ่วงไปกับมาตรการนี้ เพราะเป็นคนละกรณี คนละเงื่อนไข ที่ไม่อาจเทียบเคียงกันได้แต่อย่างใด


เปิดเส้นทางเอื้อค่าธรรมเนียมมือถือ
เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เอกชนต้องจ่ายให้รัฐเป็นรายปี เพื่อลดภาระให้กับภาคเอกชน โดยแก้ไขร่างประกาศอัตราค่าธรรมเนียมเดิมที่จะจัดเก็บ 5 ขั้น เริ่มจากอัตราค่าธรรมเนียม 0.125% สำหรับรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท จนถึงอัตรา 1.5% สำหรับรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เกินกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป หลังจากบริษัทลูกของ ‘เอไอเอสและทรู’ ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องให้ปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขั้นสูงลง จาก 1.5% เป็น 0.75% และ 1.0%


P1-info-3350LINE

จากนั้นในวันที่ 13 ธ.ค. 2560 กสทช. มีมติเห็นชอบแนวทางการทบทวนอัตราค่าธรรมเนียม ตามที่คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงานของ กสทช. เสนอให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่มีรายได้ตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตรา 1.5%, เป็นรายได้เกิน 1,000-10,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 0.75%, รายได้เกิน 10,000-25,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1.0%, รายได้เกิน 25,000-50,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1.25%, และเกิน 50,000 ล้านบาท จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 1.5%


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,352 วันที่ 29-31 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดเบื้องหลัง คสช.! ไม่เคาะ ม.44 อุ้มค่ายมือถือ
คสช. เบรคอุ้มทีวีจิทัล-ยืดหนี้มือถือ "บิ๊กตู่" ให้เวลา 7 วัน กับ กสทช. ตอบข้อสงสัย "เป็นลายลักษณ์อักษร"



ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว