ทางออกนอกตำรา | อย่าใช้ ม.44 ลักหลับคนไทยอุ้มมือถือ

26 มีนาคม 2561
260361-1417

... เป็นที่ฮือฮา เมื่อแกนนำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาแย้มพรายว่า จะใช้อำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในมาตรา 44 ช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล พ่วงด้วยยืดการชำระค่างวดให้ผู้ประกอบการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่จะต้องชำระเงินก้อนใหญ่ในปี 2563 งวดสุดท้ายรวม 1.2 แสนล้านบาท โดยจะให้ผ่อนจ่ายเป็น 5 ปี โดยคิดดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี เป็นมาตราการ “พ่วง” ที่ “ลักหลับ” ต่อเนื่องจากการใช้อำนาจมาตรา 44 ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล

หลักฐานมัด 2 ค่ายมือถือ! วัดใจ คสช. ใช้มาตรา 44 ยืดค่างวด รวม 1.3 แสนล้าน

ถึงขนาดมีข่าวเล็ดลอดออกมาให้คนไทยป้องปากซุบซิบว่า “ในการประชุม คสช. วันที่ 27 มีนาคม 2561 คสช. จะออกคำสั่งตาม มาตรา 44 อุ้ม 2 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ให้สามารถขยายเวลาการจ่ายค่างวดใบอนุญาตคลื่น 4G ออกไปจากเดิม


appMP24-3139-A

เรื่องนี้กลายเป็นคำถามใหญ่กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า ทำไม คสช. ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ไปแก้ปัญหาให้บริษัทมือถือ 2 ค่าย ที่กำรี้กำไรกันบานเบอะ หรือ มีอะไร ในกอไผ่?....

ต้องยอมรับกันตรง ๆ อย่างไม่อ้อมค้อมหรือเกรงใจว่า นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ผู้คนในสังคมและนักกฎหมาย นักวิชาการต่างก็มีคำถามในเรื่องการใช้อำนาจขององค์รัฏฐาธิปัตย์ในมาตรา 44 อย่างหนักหน่วง

 

[caption id="attachment_271748" align="aligncenter" width="488"] วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี[/caption]

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยอรรถาธิบายว่า “ต่อไปนี้ต้องระมัดระวังการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้น แม้กระทั่งมาตรา 44 ที่ยังมีอยู่ แม้จะสามารถออกเพิ่มเติมได้ แต่จำกัด”

เช่นเดียวกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่กล่าวว่า การใช้มาตรา 44 ของ คสช. ที่เคยมีอยู่เดิม จะยังคงสามารถใช้ได้ แต่หากจะใช้อำนาจคงต้องระมัดระวังมากขึ้น เพื่อไม่ให้ไปขัดกับหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ชัดเจนว่าการใช้อำนาจของ คสช. ในมาตรา 44 ไม่ได้ให้อำนาจการใช้อย่างพรํ่าเพรื่อ...แต่จำกัดวงลง

ยิ่งหากใครไปดูอำนาจในมาตรา 44 จะพบว่า มาตรา 44 เขียนชัดว่า “ในกรณีที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกันระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว”

อำนาจตามมาตรา 44 ที่ประชาชนยอมรับจึงจำกัดวงในเรื่องดังนี้...
1.การปฏิรูปในด้านต่าง ๆ
2.ส่งเสริมความสมานฉันท์ปรองดองของคนในชาติ
3.เพื่อป้องกัน ระงับ หรือการปราบปรามการ กระทำที่เป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ และเศรษฐกิจ หรือราชการแผ่นดิน ทั้งในและนอกราชอาณาจักร


appMP24-3117-A

แต่การออกคำสั่งเอื้อประโยชน์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ที่เป็นคู่สัญญารัฐและจ่ายเงินให้กับรัฐ มีการให้บริการประชาชน มีการทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง จึงไม่น่าจะเข้าขอบเขตของการใช้อำนาจตามมาตรา 44

คสช. เคยรู้บ้างมั้ยว่า เอไอเอส ประกาศปันผลกำไร 100% มาอย่างต่อเนื่อง และคืนเงินให้ผู้ถือหุ้นมาในรอบ 10 ปีนี้กว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนบริษัท ทรู ที่ขาดทุนมาอย่างต่อเนื่องก็เริ่มมีผลกำไรจ่ายปันผล จึงไม่มีเหตุและผลอะไรที่สะท้อนว่า ธุรกิจ 2 รายนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างรุนแรง


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

เหตุผลที่ผู้บริหาร 2 ค่ายมือถือทำหนังสือไปในฉบับเดียวกันอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และลงเวลาเดียวกันนั้นบอกว่า “การยื่นขอยืดเวลาการชำระค่าประมูล เพื่อต้องการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทและช่วยบริหารกระแสเงินสดและสภาพคล่องของบริษัทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม” จึงน่าจะมีเหตุเพียงเพื่อ “ประโยชน์แก่บริษัท และผู้ถือหุ้น”

ประโยชน์ของประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ตรงไหน จึงต้องใช้อำนาจพิเศษของ “องค์รัฐาธิปัตย์” ที่ประชาชนต่างยอมรับอย่าง “คุณสมชาย” มาลงนามในคำสั่ง ม.44

คสช. ต้องตอบคำถามสิ่งเหล่านี้ก่อนใช้อำนาจไปดูแลธุรกิจมือถือทั้ง 2 ราย ที่สำคัญเป็นการพิจารณาออกคำสั่งก่อนที่จะครบกำหนดการจ่ายเงินก้อนโตให้ผู้ประกอบการ 2 รายล่วงหน้าถึง 2 ปี

ถ้าใช้อำนาจแบบนี้ จะไปบี้ คุณทักษิณและคณะ ที่ดำเนินการแปลงสัมปทานมือถือเป็นภาษีสรรพสามิต จนค่ายมือถือล้วนอู้ฟู่ไปตาม ๆ กัน ได้อย่างไร

โปรดอย่าใช้อำนาจตามมาตรา 44 มาทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในชาติ ที่เคยมอบอำนาจและยอมรับให้นายทหารหาญยกทีมมาแก้ปัญหาบ้านเมืองให้เสือถอยลงไป เพียงเพราะการช่วยเหลือนายทุนเลยขอรับท่านนายพล


appMP24-3152-A

ตอนนี้บรรดาโบรกเกอร์เขาประเมินการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในการอุ้มชูดูแลค่ายมือถือกันว่า หาก คสช. ตัดสินใช้ ม.44 ในการขยายเงินค้างชำระคลื่น 900 MHz งวดสุดท้าย มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ออกไปอีก 5 ปี โดยชำระเป็น 5 งวด จะส่งผลดีต่อมูลค่าหุ้นของ ADVANC และ TRUE  ดังนี้

ผลดีในส่วนของต้นทุนของเงินส่วนดังกล่าว หากแบ่งเป็นชำระ 5 งวด (ปี) โดยใช้อัตราดอกเบี้ย R/P ของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้นทุนในการกู้ที่ 1.5% นั้น ADVANC จะได้ประโยชน์จากการชะลอจ่ายค่าค้างชำระดังกล่าวที่ราว 3.7 บาทต่อหุ้น

ขณะที่กลุ่ม TRUE จะได้ประโยชน์จากการชะลอจ่ายค่าค้างชำระดังกล่าวที่ราว 0.23 บาทต่อหุ้น


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ใครอยากรู้ว่ากลุ่มทุนทั้ง 2 บริษัท รับอานิสงส์ไปเท่าใดก็เอาจำนวนหุ้นมาคูณดู ผมไม่อยากลงรายละเอียดมากนักกับการบวกลบคูณหารตัวเลขทางการเงิน

ประเดี๋ยวนายทหารจะมึนกับตัวเลข...


……………….
คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา โดย บากบั่น บุญเลิศ (อีเมล : [email protected])
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25-28 มี.ค. 2561 หน้า 06
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อุ้มมือถือได้คืบจะเอาศอก
เอกชนโยนเผือกร้อนให้ คสช. แจงสัมปทานมือถือ


e-book