ทุนไทย-เทศ240ราย ตบเท้าร่วม‘มาร์เก็ตซาวดิ้ง’รถไฟความเร็วสูง

29 มี.ค. 2561 | 05:10 น.
มีความคืบหน้าเป็นลำดับ สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เปิดรับฟังความเห็นนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ (มาร์เก็ตซาวดิ้ง) ครั้งที่ 1 ไปแล้ว จากทั้งหมด 3 ครั้ง เพื่อนำข้อเสนอข้อมูลโครงการและนำข้อเสนอแนะไปปรับปรุงทีโออาร์ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และคาดว่าจะออกประกาศทีโออาร์ได้ในช่วงปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเมษายน 2561นี้

[caption id="attachment_221036" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

++ทุนไทย-เทศสนใจเพียบ
การเปิดรับฟังความเห็นของนักลงทุนในครั้งนี้ มีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วยนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ร่วมกับนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและชี้แจงในรายละเอียดของโครงการ

โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวไทยและต่างประเทศ เป็นจำนวนมากกว่า 240 รายเช่นกลุ่มบริษัท ที่ดำเนินงานด้านระบบราง บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา สถาบันการเงิน นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ รวมถึงเจ้าหน้าที่สถานทูตต่างประเทศตุรกีญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นหรือไจก้า เข้าร่วมสังเกตการณ์

++ยักษ์ใหญ่วงการโดดร่วม
ทั้งนี้นักลงทุนชาวไทย มีบริษัทชั้นนำเข้าร่วมรับฟังรายละเอียด อาทิ บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการจำกัด(มหาชน) บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) บริษัท ซีเมนส์(ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

ส่วนนักลงทุนจากต่างประเทศและที่มีสาขาในประเทศไทยนั้นมีทั้ง จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ได้แก่ บริษัทนิปปอนโคอิ จำกัด บริษัทไชน่าเรลเวย์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท มารูเบนิ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท CCECC สิงคโปร์ บริษัท ไชน่า ซีวีล เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตรัคชั่น คอปอเรชั่น จำกัด บริษัท ไชน่าสเตทคอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซีอาร์อาร์ซี ฉางชุน เรลไวย์ วิฮิเคิล จำกัด ตลอดจนบริษัททางด้านระบบอาณัติสัญญาณชั้นนำของโลกอย่างซีเมนส์NECคอร์ปอเรชั่น ประเทศไทย และอัลสตอม เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย

TP11-3351-A ++รัฐรับผิดชอบเวนคืนที่ดิน
นายคณิศ ได้ชี้แจงให้นักลงทุนเห็นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน รูปแบบของพีพีพี จะเป็นแบบ net cost มีการจัดสรรสิทธิ์และความรับผิดชอบระหว่างรัฐและเอกชน โดยส่วนของรัฐ จะรับผิดชอบการเวนคืนที่ดินตามแนวรถไฟความเร็วสูงและโอนสิทธิ์และการดำเนินงานให้เอกชน รวมถึงการโอนสิทธิ์ในการใช้พื้นที่สนามบินเพื่อจอดรถ และส่งผู้โดยสารรถไฟ อีกทั้ง โอนสิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีมักกะสันและสถานีศรีราชาให้แก่เอกชน

ขณะที่เอกชนจะรับผิดชอบการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ส่วนต่อขยายและโครงการรถไฟความเร็วสูง โดยจะต้องจัดหาระบบที่เกี่ยวข้อง ทั้งระบบไฟฟ้า เครื่องกล และขบวนรถไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และบำรุงรักษาของระบบตลอดช่วงระยะเวลาโครงการ 50 ปี ด้วยระดับการให้บริหารที่รัฐกำหนดและรวบรวมรายได้ ทั้งค่าโดยสาร และที่ไม่ใช่ค่าโดยสาร(หรือรายได้อื่นๆ) ซึ่งเอกชนสามารถพัฒนาพื้นที่รอบสถานีมักกะสันและสถานีศรีราชาโดยต้องจ่ายค่าเช่าที่ให้แก่ ร.ฟ.ท. รวมถึงซื้อกิจการในการดำเนินงานจากร.ฟ.ท.ด้วย

บาร์ไลน์ฐาน ++ผู้โดยสาร 1.06 แสนคน/วัน
ด้านนายอานนท์ กล่าวว่า การทำมาร์เก็ตซาวดิ้ง เพื่อให้เอกชนรับทราบข้อมูลโครงการและข้อเสนอแนะ นำไปสู่ความสำเร็จของโครงการ ซึ่งรูปแบบพีพีพี เป็นการเปิดกว้าง ให้มีการแข่งขันกันมากที่สุด โดยโครงการจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ได้แก่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการพัฒนาเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟความเร็วสูง ในพื้นที่สถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 24 ไร่ ซึ่งผู้ชนะการประมูลจะต้องจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ร.ฟ.ท.

โดยการเดินรถไฟความเร็วสูง จะประกอบด้วย 2 รูปแบบ ได้แก่ City Line เป็นการเดินรถในเขตเมือง 10 สถานี ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 1.06 แสนคนต่อวัน ในปี 2566 และ InterCity Line เป็นการเดินรถระหว่างเมือง 9 สถานี ด้วยความเร็วสูงสุดไม่เกิน 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ด้วยจำนวนผู้โดยสาร 4.1 หมื่นคนต่อวันในปี 2566

++สร้างความเชื่อมั่นนักลงทุน
ด้านนายกอบศักดิ์ ชี้แจงกับนักลงทุนว่า การให้ข้อมูลครั้งนี้ ถือเป็นโครงการแรกที่ประมูลในรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน(พีพีพี) ของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่จะเป็นต้นแบบของการทำพีพีพีในโครงการอื่นๆ ในการทำทีโออาร์ ซึ่งขั้นตอนจากนี้ไปเมื่อได้ข้อเสนอแนะจากนักลงทุนแล้ว จะนำไปศึกษาและปรับปรุงในการออกทีโออาร์ และระหว่างการยื่นข้อเสนอเข้าสู่การรับฟังความคิดเห็นอีก 2 ครั้ง และคัดเลือกผู้ชนะการประมูลต่อไป ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น และเห็นว่ารัฐบาลเอาจริงกับการพัฒนาอีอีซี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
e-book