กสอ.ปั้นเยาวชนรับเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลเสริมแกร่งแรงงานต้นน้ำสู่อุตฯ 4.0

25 มี.ค. 2561 | 06:17 น.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สนับสนุนกิจกรรมการแข่งขันหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม งานสุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับชาติ ประจำปี 2561 หวังพัฒนาบุคลากรตั้งแต่ระดับต้นน้ำในภาคอุตสาหกรรมให้เข้าถึงการใช้งานหุ่นยนต์แขนกลและระบบอัตโนมัติ เพื่อรองรับการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม 4.0 ทั้งระบบ

kse2

การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษา ปี 2561 ประเภทหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนในครั้งนี้ เป็นการแข่งขันแบบพิเศษที่ได้นำหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรมจริงที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมมาใช้ในการแข่งขัน โดยทีมที่เข้าแข่งขันจะต้องออกแบบโปรแกรมเชื่อมเหล็ก และการบังคับใช้โปรแกรมให้หุ่นยนต์ทำงานได้จริง โดยปีนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันถึง 60 ทีม รวมเป็นนักเรียนกว่า 180 คนจากวิทยาลัยอาชีวะทั่วประเทศ ซึ่งก่อนวันแข่งขันจริงผู้เข้าแข่งขันทั้งหมดได้เข้าร่วมการอบรมการใช้งานหุ่นยนต์แขนกล เพื่อเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการใช้งานอย่างเข้มข้น

kse

ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนเหล่านี้ ได้ฝึกฝนทักษะในการใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลที่สอดรับกับการพัฒนาการผลิตในภาคอุตสาหกรรมในปัจุบัน สำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันและได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในครั้งนี้ คือ วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ โดยมีสมาชิกผู้ร่วมทีมคือ นายวิษณุกร ศรีอ่อน นักเรียนสาขาเทคนิคโลหะ นายธนิต ภูพลอย นักเรียนสาขาเทคนิคการผลิต และนายพิฆเนศ แสงสะเดาะ นักเรียนสาขาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์

kse1

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เข้ามาสนับสนุนการแข่งขันในปีนี้ ด้วยเล็งเห็นว่านอกจากการส่งเสริมให้สถานประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อการพัฒนาสู่อุตสาหกรรม 4.0 แล้ว การพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้มีความจำเป็นที่ต้องพัฒนาควบคู่ไปด้วย โดยเฉพาะบุคลากรในภาคการผลิตซึ่งถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้และมีทักษะรองรับการเปลี่ยนแปลงสู่การใช้งานเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ต้องนำมาเป็นเครื่องมือในอนาคต

kse3

ด้วยเหตุนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมสนับสนุนการแข่งขันประเภทหุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้เห็นถึงความสามารถของบุคลากร และส่งเสริมให้ฟันเฟืองในระดับต้นน้ำอย่างนักเรียนอาชีวะได้ทำความคุ้นเคยและฝึกฝนทักษะการใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกล และระบบอัติโนมัตเพื่อรองรับการเข้าสู่ตลาดแรงงานภาคอุตสาหกรรมในอนาคต

นายบัญญัติ ขวัญโพน อาจารย์ประจำสาขาเทคนิคโลหะ วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ฝึกสอนและดูแลทีม กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ เพราะเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นักเรียนจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ในการทำงานเชื่อม ทำให้นักเรียนได้พัฒนาตัวเองเพื่อรองรับเทคโนโลยีในอนาคต ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลนั้น ถือว่าเป็นเป็นเครื่องมือที่มีความแม่นยำ ทำงานได้อย่างต่อเนื่องยาวนานและรวดเร็ว ชิ้นงานที่ออกมาทุกชิ้นได้สัดส่วนมีคุณภาพเท่ากัน แต่การจะใช้งานหุ่นยนต์แขนกลให้มีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการอบรมและการฝึกฝน ซึ่งสำหรับวิทยาลัยทั่วไปยังขาดแคลนครุภัณฑ์ด้านนี้ ทำให้เด็กนักเรียนไม่ได้เรียนรู้อย่างแพร่หลาย

kse4

การที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกัน ทำให้นักเรียนนักศึกษาได้มีโอกาสเข้าถึงและได้เรียนรู้การทำงานของเครื่องมือ ก็จะช่วยให้นักเรียนได้ทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยี และทำให้วิทยาลัยสามารถฝึกสอนนักเรียนและป้อนแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้มากยิ่งขึ้น อีกอย่างหนึ่ง ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจการเรียนช่างเชื่อม เพราะคิดว่าเป็นอาชีพที่ไปไม่ได้ไกลและกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นงานที่ต้องเสี่ยงกับ แสง ความร้อน ควัน และสารพิษที่มากับวัสดุเชื่อม

ดังนั้นการนำเทคโนโลยีแขนกลเข้ามาใช้ในงานเชื่อม อาจช่วยให้นักเรียนและผู้ปกครองเปลี่ยนมุมมองต่อการเรียนช่างเชื่อม เพราะการมีเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลเข้ามาจะช่วยลดความเสี่ยงในการทำงานเชื่อม โดยเฉพาะงานเชื่อมวัสดุที่มีสารพิษ และงานเชื่อมวัตถุชิ้นใหญ่ที่ต้องทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามาจะช่วยให้คนทำงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอยากมาทำงานด้านนี้กันมากขึ้นด้วย

kse5

ด้าน นายวิษณุกร ศรีอ่อน นักเรียนสาขาเทคนิคโลหะ วิทยาลัยเทคนิคกาฬสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่างเชื่อมหลักในการแข่งขันในครั้งนี้ กล่าวว่า การที่ทีมชนะการแข่งขันครั้งนี้ คิดว่ามีจุดแข็งคือ การที่มีทักษะของช่างเชื่อม ที่นำมาปรับใช้ในการดูองศาและการวางตำแหน่งมุมลวดเชื่อม ประกอบกับการเตรียมตัวก่อนแข่งที่ได้พยายามฝึกฝนการใช้หุ่นยนต์แขนกลให้เกิดความคุ้นเคย ทำให้ทีมทำงานประสานกันได้ดีไม่มีผิดพลาด แต่นอกจากการฝึกใช้เครื่อง ความยากอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องภาษา เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นภาษาอังกฤษ จึงต้องทำความเข้าใจคำสั่งต่างๆ ของเครื่อง เพื่อจะใช้งานให้ได้ถูกต้อง คิดว่าประโยชน์ของการมาแข่งครั้งนี้คือ ทำให้ได้อบรมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีประโยชน์กับการทำงานของช่างเชื่อม และยังได้ใบประกาศรับรองว่าผ่านการใช้เครื่องจักรหุ่นยนต์แขนกลมาแล้ว ทำให้มีโอกาสในการทำงานในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตมากขึ้น

kse7

นอกจากการสนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมยังมีแนวทางในการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมเปิดศูนย์เรียนรู้กระบวนการผลิตอัตโนมัติ (Learning Factory) ภายใต้โครงการ Lean Automation System Integrator หรือ LASI โดยความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น เพื่อให้ผู้ประกอบการและบุคลากรที่สนใจได้เข้ามาเรียนรู้และทดลองใช้งานเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลและระบบอัติโนมัติ อีกทั้งยังมีการอบรมกับผู้เชี่ยวชาญจากเครือข่ายอุตสาหกรรมและบริษัทชั้นนำระดับโลก เพื่อให้บุคลากรของไทยได้ต่อยอดความรู้และทักษะเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในการผลิตอย่างไม่หยุดยั้ง

kse8

kse9

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว