ล็อกเลือกตั้ง ก.พ. 62! นายกฯ นัดถก มิ.ย. วันหย่อนบัตร

25 มี.ค. 2561 | 06:09 น.
นายกฯ ประกาศจัดเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 2562 เผย เดือน มิ.ย. เตรียมนัดถกผู้เกี่ยวข้องกำหนดวันหย่อนบัตร ยัน! ไม่ล้มกฎหมายลูก 2 ฉบับ คาดทูลเกล้าฯ มี.ค. นี้ ... ‘มีชัย’ เตือนตั้งพรรคใหม่ต้องขออนุญาต คสช. เป็นรายพรรค

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ว่า การเลือกตั้งทั่วไปจะมีขึ้นไม่เกินเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม 3 ฝ่าย หลังกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 2 ฉบับ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยมีระยะเวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นจะจัดประชุมแม่น้ำ 5 สาย ร่วมกับพรรคการเมือง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง

 

[caption id="attachment_271521" align="aligncenter" width="503"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)[/caption]

“พอเดือน มิ.ย. ต้องมีการหารือกันในส่วนของแม่น้ำ 5 สาย และพรรคการเมืองด้วยว่า ตามกติกาควรกำหนดวันเลือกตั้งเมื่อไหร่ อย่างไร ทั้งนี้ทั้งนั้น อยู่ในกรอบที่กำหนด ก.พ. 2562 ตอนนี้ผมก็ตอบชัดเจนแล้วนะ การเลือกตั้งไม่เกิน ก.พ. 2562 จะเอาอะไรกันอีก” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

สำหรับการพิจารณาปลดล็อกพรรคการเมืองนั้น จะพิจารณาในเรื่องของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ และความพร้อมของทุกฝ่าย ซึ่งอยากให้จับตาดูว่า หากปลดล็อกแล้วสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ซึ่งขอให้รอดู แต่ยังหวังให้บ้านเมืองสงบ นำไปสู่การเลือกตั้งได้ จึงขอความร่วมมือจากฝ่ายการเมืองที่ต้องช่วยกันรักษาบรรยากาศและความสงบ เพราะส่วนตัวไม่ได้อยากให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเรื่อย ๆ เนื่องจากไม่ได้อยากอยู่ต่อ


16-3344

นายกฯ ยัน! ไม่ล้ม 2 ก.ม.ลูก
ในวันที่ 1 มี.ค. นี้ พรรคการเมืองจะสามารถดำเนินการจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ และสามารถจัดประชุมสมาชิกจำนวน 250 คน เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับกฎระเบียบของพรรคการเมือง เนื่องจากพรรคใหม่ยังไม่เคยดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ ดังนั้น ต้องให้ความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองใหม่

ส่วนพรรคการเมืองเก่าจะเริ่มดำเนินการได้ในวันที่ 1 เม.ย. นี้ โดยสำรวจรายชื่อสมาชิกพรรค แต่ยังไม่อนุญาตให้ประชุมพรรค ต้องรอให้กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาก่อน


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ไม่มีการล้มกฎหมายลูก 2 ฉบับ เพราะไม่มีความจำเป็น เช่นเดียวกับกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะไม่เกิดสุญญากาศในช่วงสรรหา กกต.ใหม่ เพราะ กกต.ชุดเดิม ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้


ย้ำ! 1 มี.ค. แค่คลายล็อก
ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงมาตรการผ่อนคลายให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมตามกำหนดในวันที่ 1 มี.ค. แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการในวันมาฆบูชา ดังนั้น ในวันที่ 2 มี.ค. พรรคการเมืองใหม่ที่จะจดทะเบียนจัดตั้งพรรค จะสามารถจองชื่อและเตรียมจดทะเบียน พร้อมหาสมาชิกให้ได้ 250 คน เพื่อจัดการประชุมจัดตั้งพรรค ส่วนการหาสมาชิกเพิ่มเติมต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน

 

[caption id="attachment_271524" align="aligncenter" width="503"] พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี[/caption]

ส่วนพรรคการเมืองเดิมขณะนี้ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมใด ๆ ได้ เพราะจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน โดยจะสามารถไปเริ่มทำกิจกรรมได้ในวันที่ 1 เม.ย. 2561 เช่น การติดต่อสมาชิก

“ใกล้ถึงกำหนดที่จะคลายล็อก ไม่ถึงขั้นปลดล็อกในวันที่ 1 มี.ค. นี้ ตามที่ คสช. เคยมีคำสั่งไว้เมื่อ 2-3 เดือนที่แล้ว พรรคการเมืองเก่ายังไม่สามารถทำอะไรได้ในช่วงนี้ เพราะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว”


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในการจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. คาดว่า สนช. จะสามารถดำเนินการเสร็จสิ้นภายในเดือน มี.ค. 2561 หลังจากนั้นก็จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัย 3 เดือน หรือราวเดือน มิ.ย. 2561 หลังจากโปรดเกล้าฯ แล้ว จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้หลังจากนั้น 90 วัน โดย คสช., ครม., กกต., ประธาน สนช. จะได้เชิญหัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ มาร่วมประชุมเพื่อกำหนดโรดแมปทางการเมือง

“ตามกฎหมายบอกว่า หลังจากกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้แล้ว ต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ภายใน 150 วัน เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เดือน ก.ย. เป็นต้นไป จนถึง ก.พ. จะเกิดเมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละส่วน และสถานการณ์ด้วย”

 

[caption id="attachment_271526" align="aligncenter" width="431"] มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. มีชัย ฤชุพันธุ์
ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.[/caption]

ตั้งพรรคใหม่ต้องขอ คสช.
ด้าน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ชี้แจงเกี่ยวกับเงื่อนไขการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ที่กำลังจะเริ่มตั้งแต่ 1 มี.ค. นี้ ว่า การดำเนินการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ต้องได้รับการอนุญาตจาก คสช. เป็นรายพรรคการเมือง ที่ต้องมีทั้งการชักชวนกลุ่มคนริเริ่มจัดหาสมาชิกพรรค เรียกเก็บเงินทุนประเดิมพรรคการเมือง ประชุมใหญ่ตั้งชื่อพรรค จัดทำข้อบังคับ แล้วจึงมาทำเรื่องจดทะเบียนพรรคการเมือง ตามกระบวนการในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมือง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวยืนยันว่า จะไม่กลับไปเป็นนักการเมือง จะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ต้องการมีตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับใคร ไม่เป็นนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ไม่เป็นกรรมการบริการพรรรคการเมือง ส่วนจะสนับสนุนให้มีการจดทะเบียนพรรค กปปส. หรือไม่นั้น ตัวเองยังไม่ได้ดำเนินการ และยืนยันว่า จะไม่ทิ้งความรับผิดชอบภาระหน้าที่ในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทย ที่ต้องรับผิดชอบบ้านเมือง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“ที่มีรายชื่อผู้ที่คาดกันว่าเป็นตัวแทนของตัวเองในการจดทะเบียนพรรคจากกลุ่ม กปปส. นั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง และยังไม่มีการทาบทามใด ๆ ทั้งตัวเองยังไม่ได้มีการติดต่อกับใคร ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้เตรียมก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูปหรือคนอื่น ๆ”


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1-3 มี.ค. 2561 หน้า 16
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ปลด ‘สมชัย’ ไม่สะเทือนเลือกตั้ง กฤษฎีกาชี้ 4 กกต. ครบองค์ประชุม
ปชช. 67.8% เชื่อพลังสื่อโซเชียล ช่วยกระตุ้นให้เกิดกระแสคนอยากออกมาเลือกตั้ง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว