งบแสนล้านกำลังหมุนไป อัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากเสริมแกร่งชุมชน

26 มี.ค. 2561 | 04:00 น.
แนวทางสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ตาม “โครงการไทยนิยมยั่งยืน” เริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นภายหลังทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศจากภาครัฐดาวกระจายลงพื้นที่ทั่วประเทศเคาะประตูบ้านประชาชน 83,151 หมู่บ้าน เริ่มคิกออฟไปแล้วในระยะแรกตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จากนั้นทีมขับเคลื่อนจะสร้างการเรียนรู้และปฏิบัติตามสัญญาประชาคมในระยะที่ 2 (21 มี.ค.-10 เม.ย. 61) ตลอดจนสร้างการรับรู้และปรับความคิด เพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ในระยะที่ 3 (11-30 เม.ย. 61) และระยะที่ 4 (1-20 พ.ค. 61) อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท ที่จะใช้อัดฉีดเศรษฐกิจฐานรากจำนวนกว่า 1 แสนล้านบาท ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา ด้วยเสียงท่วมท้น 183 เสียง มีผู้งดออกเสียง 3 เสียง

++สมคิดหวังศก.ฐานรากปึ้ก
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ชี้แจงสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ว่าจะเน้นการสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ การปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรทั้งระบบ และการรักษาวินัยการคลัง แบ่งเป็น การจัดสรรงบประมาณเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคการเกษตรกว่า 24,000 ล้านบาท การจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงานกว่า 76,000 ล้านบาท และการจัดสรรงบประมาณเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายเงินคงคลังที่จ่ายไปแล้วกว่า 49,600 ล้านบาท ซึ่งจะสร้างความเจริญเติบโตขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2561 จะขยายตัว 3.6-4.6% ดีขึ้นจากปี 2560 ที่ขยายตัว 3.9%

TP16-3351-B ++เงินผ่านพร้อมเพย์กันรั่วไหล
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเพื่อทำให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศดีขึ้น แม้จะต้องใช้การกู้เงินเพิ่มเติมแต่ไม่เกินกรอบของการก่อหนี้สาธารณะภายในประเทศ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการจัดสรรงบประมาณสู่ฐานรากจะรั่วไหลนั้น ยืนยันว่าการแก้ไขปัญหาคือใช้ระบบ “โอนเงินผ่านพร้อมเพย์” หรือโอนเงินตรงไปยังประชาชนและชุมชนโดยไม่ผ่านคนกลาง ขณะที่งบเพื่อชดเชยเงินคงคลังส่วนรักษาพยาบาลของข้าราชการที่มีไม่เพียงพอ และต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นทุกปีนั้น ยืนยันว่าจะปรับระบบพยาบาลหรือจ่ายยาผ่านบัตรประชาชนเพื่อไม่ให้มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการเบิกจ่ายยาได้

งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้อยู่ วงเงิน 2.9 ล้านล้านบาท ได้กู้เงินเพิ่มเพราะรายได้ของเรามีไม่ถึง ซึ่งต้องกู้เงินเพิ่มเติม 4.5 แสนล้านบาท ส่วนการตั้งงบเพิ่มเติม วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินเพิ่มเติมอีกแสนล้านบาท จะไม่เป็นภาระเท่าไร หากสนช.ผ่านร่างกฎหมายจะทำให้เรามีตัวเลขหนี้สาธารณะที่ 41% ของจีดีพี ซึ่งไม่เกินอัตราที่ 60%

“เชื่อว่าปีนี้จีดีพีจะโตกว่า 4% โดยเศรษฐกิจจะไหลลงล่างต้องใช้เวลา รัฐบาลจึงเร่งเอาความรํ่ารวย รายได้ให้ไหลไปสู่ข้างล่างโดยเร็วเพื่อสร้างรายได้มากขึ้น”

TP16-3351-C ++แสนล้านช่วยเกษตร-แก้จน
สำหรับร่างพ.ร.บ.งบประ มาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 1.5 แสนล้านบาท แยกเป็นเพื่อดำเนินการตามภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล จำนวน 100,358,077,000 บาท มีสาระสำคัญ ดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ จำนวน 24,300,694,500 บาท เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร พัฒนาศักยภาพการผลิตที่สอด คล้องกับความต้องการของตลาดและลดต้นทุนการผลิต

2.ยุทธ- ศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมลํ้า และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 76,057,382,500 บาท เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ สร้างโอกาสในอาชีพและการจ้างงาน พัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้ในรูปแบบที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้น้อย สนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ผ่านกระบวน การประชาคม และ 3. เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้ว 49,641,923,000 บาท

++กองทุนหมู่บ้านฯไม่ซ้ำซ้อน
ขณะที่สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ ได้อภิปรายสนับสนุนร่างงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2561 ประเด็นที่สมาชิกตั้งข้อสังเกตและมีข้อเสนอแนะ อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ตั้ง ข้อสังเกตว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ จำนวน 20,000,000,000 บาท 2. กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หรือที่รู้จักในชื่อของบัตรคนจนจำนวน 13,872,513,200 บาท อยู่ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืนเหมือนกันจะทำให้เกิดความทับซ้อนหรือไม่

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายว่า งบประมาณกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 2 หมื่นล้านบาท ใช้เพื่อการพัฒนาชีวิตและพัฒนาการประกอบอาชีพ ไม่ใช่การเพิ่มทุนเพื่อนำไปสู่การกู้ยืมแต่อย่างใด รัฐบาลชุดนี้ได้ให้งบประมาณช่วยเหลือกองทุนหมู่บ้านมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 และ 2 และที่กำลังจะเกิดขึ้นครั้งที่ 3 มีลักษณะเดียวกัน คือ การให้งบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ต้องเปิดบัญชีใหม่ ไม่ใช่บัญชีที่ใช้สำหรับการกู้ยืม แต่จะเป็นบัญชีใหม่เพื่อจะทำให้เห็นว่ากิจการที่ลงไปทำนั้นมีรายได้และกำไร โดยรายได้และผลกำไรจะต้องนำไปสู่สวัสดิการและสวัสดิภาพของสมาชิกกองทุน

“ขณะนี้กองทุนหมู่บ้านฯมีทั้งหมด 79,595 กองทุนทั่วประเทศ มีกองทุนหมู่บ้านฯที่ด้อยคุณภาพประมาณ 9,000 กองทุน และกำลังดำเนินการฟื้นฟูอีกประมาณ 3,000 กองทุน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้สามารถกลับมาประกอบกิจกรรมได้ตามปกติ”

ก่อนหน้านั้นพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ระบุถึงการขับเคลื่อนนโยบายไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลว่า กระทรวงมหาดไทยได้รับงบประมาณกว่า 30,000 ล้านบาท โดยงบก้อนใหญ่สุดประมาณ 20,000 ล้านบาท จะให้กับหมู่บ้าน ชุมชนจำนวน 82,000 กว่าแห่ง หมู่บ้านละ 200,000 บาท ส่วนงบอีก 2,500 ล้านบาท จะสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมอบให้กับชุดที่จะตรวจสอบผู้ถือบัตรตามที่ใช้จริง และงบที่เป็นของมหาดไทยโดย ตรงคืองบกว่า 9,000 ล้านบาท คือ งบพัฒนาโครงการโอท็อป

งบประมาณที่กระทรวงมหาดไทยได้รับ จะทำแผนงานจะมีการตรวจสอบตามขั้นตอน ซึ่งได้สั่งการให้นำภาคเอกชน ประชาสังคม มาร่วมพิจารณาและเบิกจ่ายตรงโดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ไม่ผ่านกระทรวงมหาดไทย เพื่อความโปร่งใส เพราะคิดว่าเวลาผ่านไปประมาณ 2 สัปดาห์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คงมาสอบถามว่า มีการทุจริตตรงไหนบ้าง การให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมถือเป็นการฉีดวัคซีนไว้ก่อน

ต้องจับตาว่าหลังเม็ดเงินที่กำลังจะลงถึงมือประชาชน ผู้มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นยากจน11.4 ล้านคน ยังไม่นับรวมผู้ด้อยโอกาส คนชรา และผู้พิการ จะลืมตาอ้าปากได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ ซึ่งถือเป็นนิมิตใหม่ที่ดีที่รัฐบาลตระหนักและให้ความสำคัญกับประชาชนระดับฐานราก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว