ไทยหวังอานิสงส์จีนเปิดศึกสหรัฐมั่นใจไม่ขยายวง

28 มี.ค. 2561 | 14:15 น.
สหรัฐฯ-จีน เปิดสงครามการค้า “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” จ่อขึ้นภาษีตอบโต้นับพันรายการ เอกชนหวังไทยได้อานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐทดแทนสินค้าจีนเพิ่ม นักวิชาการเชื่อไม่บานปลาย

การลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 เพื่อเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนวงเงิน 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อ้างเหตุผลเพื่อลงโทษจีนที่ได้ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายลดการขาดดุลการค้าจีนลงให้ได้ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีจาก 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าที่ตกเป็นเป้าหมายการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯในครั้งนี้ระบุเป็นสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี การสื่อสารโทรคมนาคมที่จีนมีข้อได้เปรียบเหนือสหรัฐฯจำนวน 1,300 รายการ โดยทรัมป์จะสั่งการให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR)เปิดเผยรายการสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีภายใน 15 วัน และจะมีช่วงเวลา 30 วันในการรับฟังความเห็นจากประชาชน นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้สั่งการให้ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ เสนอการตั้งข้อจำกัดต่อการลงทุนของจีนในสหรัฐฯด้วย

ขณะที่ทางการจีนเตรียมตอบโต้สหรัฐฯ โดยจะเผยรายชื่อสินค้าของสหรัฐฯ 128 รายการที่จะเผชิญกับกำแพงภาษีสูงสุด 25% เพื่อตอบโต้ทรัมป์มูลค่ารวมราว 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อาทิ เนื้อสุกร ไวน์ ผลไม้ และเหล็กกล้า แต่จีนจะให้โอกาสสหรัฐฯในการเจรจาแก้ไขปัญหากันก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้จึงจะเริ่มใช้มาตรการด้านภาษีกับสหรัฐฯ

นายชัยชาญ เจริญสุข เลขาธิการ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) หรือสภาผู้ส่งออกให้ความเห็น “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากเกิดสงครามการค้าขึ้นเชื่อว่าไทยจะได้รับผลบวกมากกว่า เพราะหากสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีน จะทำให้สินค้าที่ไทยสามารถส่งออกทดแทนจีนได้จะได้อานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์ยาง พลาสติกและเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

ขณะเดียวกันจากสินค้าจีนได้รับผลกระทบด้านภาษีสูงขึ้นคาดจะมีนักลงทุนจีนย้าย หรือขยายฐานการลงทุนมาไทยเพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ และตลาดอื่นๆ มากขึ้น เพราะภาษีที่สหรัฐฯเก็บจากสินค้าที่ผลิตจากไทยไม่ได้เพิ่มขึ้น

tp2-3351-3 ++เตรียมรับผลกระทบดี-ร้าย
นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มองได้ 2 ด้าน ด้านดีคือสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐฯเก็บภาษี 25% อาจมาลงทุนผลิตในไทยและอาเซียนเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสดึงเม็ดเงินการลงทุนในไทยเพิ่มเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่รัฐบาลกำลังเร่งโปรโมต

ด้านลบคือสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ส่วนหนึ่งจีนนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลาง หรือกึ่งสำเร็จรูปจากไทยไปผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปส่งออกไปสหรัฐฯ จะส่งออกได้ลดลง ทั้งนี้คงต้องติดตามว่าสินค้าที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีจีนกว่า 1,300 รายการจะมีอะไรบ้าง

++รัฐเล็งตลาดใหม่ชดเชย
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ผลกระทบต่อไทยในทางอ้อมอาจจะมีบ้าง ต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เพราะไทยเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนบางตัวให้กับจีนเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ

“ต้องจับตาสหรัฐประกาศใช้มาตรการเพิ่มเติมเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในและลดการขาดดุลการค้าอะไรออกมาอีก อีกด้านหนึ่งไทยคงต้องเตรียมหาตลาดส่งออกใหม่ๆชดเชยหากสหรัฐฯไม่ผ่อนปรนให้จีนเพื่อรักษาภาพรวมการส่งออกของไทยในปีนี้”

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศความตึงเครียดของการเผชิญหน้าทางการค้าดังกล่าวส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของเอเชียช่วงเช้าวันศุกร์ (23 มี.ค.) ร่วงลง โดยดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นหล่นลงถึง 4% นักวิเคราะห์กล่าวว่า มาตรการโต้ตอบของจีนเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยจีนเองไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นผู้กระพือให้สถานการณ์เผชิญหน้าเลวร้ายยิ่งขึ้น มูลค่าการเอาคืนของจีนที่จะเกิดจากการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯมูลค่ารวม 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯนับว่าน้อยมาก แต่สิ่งที่มีค่ากว่านั้นและไม่ควรจะเสียหายคือความสัมพันธ์อันดีระหว่างทั้ง 2 ประเทศ

++เชื่อไม่บานปลายสงครามการค้า
นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่าการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเข้มข้นมากขึ้น แต่จะไม่ขยายวงเป็นสงครามกีดกันทางการค้า เพราะจะฉุดให้เศรษฐกิจโลกพัง โดยมาตรการที่สหรัฐฯเล่นบทหนักทยอยออกมาตรการกำแพงภาษีเพื่อบีบคู่ต่อสู้และรอดูท่าทีของจีนในช่วงนี้ เพราะสหรัฐฯ ต้องการให้จีนทบทวนหรือปรับลดการเกินดุลลง 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“ขณะนี้อยู่ในช่วงตบหน้าตอบโต้กันเพื่อมิให้เสียหน้า โดยมาตรการทรัมป์ยังเป็นนามธรรมและขึ้นอยู่กับท่าทีของจีน ซึ่งผมมองว่า จีนใช้ทั้งไม้เรียวและดอกไม้ เช่น แผนเพิ่มภาษีนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวฟ่างและหมูจากสหรัฐฯ ขณะเดียวกันจีนเปิดเสรีในตลาดหุ้นให้ต่างชาติลงทุนถือหุ้น 100% และเร่งนำเข้าเพื่อทบทวนการเกินดุลฯ ตามที่สหรัฐฯตั้งธงซึ่งในที่สุด 2 มหาอำนาจก็ประนีประนอม”

ทั้งนี้ ระหว่างทั้ง 2 ประเทศตอบโต้กันรุนแรงนั้น ไทยต้องป้องกันการ Dumping ระวังสินค้าจีนไหลเข้าไทยอาจกระทบอุตสาหกรรมในประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว