นักวิชาการมธ.วิพากษ์ม.44 อุ้ม‘ทีวีดิจิตอล-มือถือ’

27 มี.ค. 2561 | 04:30 น.
กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตาเมื่อคณะทำงานแก้ไขปัญหา ทีวีดิจิตอล มีมติพักชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นเวลา 3 ปี และ กสทช. (คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) พร้อมรับผิดชอบค่าบริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล โดยลดค่าเช่าโครงข่ายลง 50% เป็นเวลา 24 เดือน

หากแต่ประเด็นของ ทีวีดิจิตอล สปอตไลต์ไม่ได้ฉายไปโดยตรง แต่พุ่งเป้าไปยังกรณีที่ภาครัฐพ่วงช่วยเหลือผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ยืดชำระค่างวดที่ 4 แบ่งจ่ายออกเป็น 5 งวด โดยงวดที่ 4 บริษัท แอดวานซ์ ไวร์แลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูกของ เอไอเอส ต้องจ่ายค่าใบอนุญาติเป็น จำนวนเงิน 59,574 ล้านบาท ขณะที่บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิแวอร์แซล คอมมิว นิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ชำระทั้งสิ้น 60,218 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 119,792 ล้านบาท

MP20-3351-1A ประเด็นดังกล่าว “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายพิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อสะท้อนมุมมองเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือของรัฐบาลกับกลุ่มทีวีดิจิตอล และ ค่ายมือถือ ติดตามอ่านจากบรรทัดถัดจากนี้

++คิดอย่างไรกับมาตรการของรัฐ
การที่รัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือในกรณีนี้ หรือกรณีใดๆ ควรพิจารณาหลักการ 3 ข้อใหญ่ 1.หลักความรับผิดชอบ ต้องตอบคำถามว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความรับผิดชอบของใคร กรณีนี้ที่ชัดเจนคือ ตัวผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเองยินดีลงทุนจ่ายราคาประมูลสูงกว่าราคาขั้นตํ่าไปถึง 2-6 เท่า แต่ปรากฏว่าตลาดไม่เติบโตเท่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ประสบปัญหา โดยสาเหตุปัญหาส่วนหนึ่งก็เกิดจากความล่าช้าในการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณโครงข่ายทีวีดิจิตอล ปัญหาด้านประสิทธิภาพการแจกจ่ายคูปองที่ใช้แลกกล่อง top box รวมถึงการเบิกจ่ายเงินคืนที่ล่าช้าซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าไม่ใช่ความรับผิดชอบของ กสทช. แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด

2.หลักสาธารณประโยชน์-ต้องตอบได้ชัดเจนว่ามาตรการเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสาธารณะไม่ใช่นำงบประมาณ/รายได้ของรัฐไปให้เอกชน ในกรณีนี้ก็อาจพออธิบายได้ว่าหากผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลล้มหายตายจากไป ผลเสียน่าจะตกแก่ทั้งเอกชนเอง และส่งผลเสียต่อเนื่องถึงสาธารณชน ประชาชนทั่วไปที่จะมีช่องทางข้อมูลข่าวสารความบันเทิงต่างๆ ลดลง ก็พอมีเหตุผลให้รับฟังอยู่ได้บ้างแม้จะไม่เต็มปากเต็มคำ แต่หากจะทำเพื่อสาธารณประโยชน์ก็ต้องทำให้อุตสาหกรรมเข้มแข็งในระยะยาว ไม่ใช่แก้ไขด้วยการประคองอาการป่วยไข้ไปเรื่อยๆ

และข้อสุดท้าย คือ หลักความเป็นธรรม-ต้องเป็นมาตรการที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโดยเสมอหน้า และเป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์แก่รายใดรายหนึ่งเป็นพิเศษจนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมและสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ในกรณีนี้หากมาตรการเป็นประโยชน์โดยเสมอหน้ากับผู้ประกอบการทุกรายในอุตสาหกรรม ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้

++เห็นด้วยกับม.44หรือไม่
ส่วนเรื่องการใช้มาตรา 44 เป็นเรื่องที่ไม่เคยเห็นด้วย เพราะเป็นการกระทำที่ปราศจากความรับผิดใดๆ สั่งการเรื่องใดๆไปก็ไม่มีการตรวจสอบ ท้วงติงไม่ได้ อำนาจเช่นมาตรา 44 นั้นเป็นอำนาจอาญาสิทธิ์ชนิดย้อนยุคและสวนทางกับหลักประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง ที่สำคัญการปล่อยให้มาตรา 44 เป็นทางออกวิเศษที่ใช้ได้ตลอดเวลา ราวกับเป็นไม้กายสิทธิ์ที่ใช้เนรมิตอะไรก็ได้ ก็จะสร้างผลกระทบให้คนในสังคมไม่เคารพกฎกติกา ไม่พยายามที่จะพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาภายใต้ระบบหรือกติกาทางกฎหมายที่มีอยู่ซึ่งน่าจะเป็นผลเสียอย่างยิ่งทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  เพียงมีมาตรานี้ใช้มาไม่นาน เราก็เริ่มเห็นปรากฏการณ์ในสังคมที่เอะอะอะไรก็เรียกร้องให้ใช้มาตรา 44 ทั้งสิ้น

นี่เป็นอาการ “เสพติดอำนาจวิเศษ” ของคนในสังคม ทั้งคนที่เรียกร้องเพราะเสพติดความสบายที่ไม่ต้องหาวิธีการอื่นใดในการแก้ไขปัญหาเพราะใช้มาตรา 44 ก็แก้ไขได้ทุกเรื่อง เช่นเดียวกับผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็เสพติดอำนาจวิเศษนี้ที่ทำให้ตนเองกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ใครๆ ก็รํ่าร้องเรียกหา เพราะคิดว่าแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง ขอยกข้อความของ Lord Acton เพื่อเตือนใจเราอีกครั้งในเรื่องนี้ “Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely. Great men are almost always bad men.” (อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลฉันใด อำนาจเบ็ดเสร็จฉ้อฉลเบ็ดเสร็จฉันนั้น ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายมักเป็นคนเลว)

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก ++กรณีพักชำระหนี้ทีวีดิจิตอล
มาตรการที่รัฐพึงกระทำควรมี 3 รูปแบบคือ 1. การเยียวยาเฉพาะหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเดินต่อไปได้ 2. การเปิดทางถอย/ทางออกให้กับผู้ประกอบการที่ประเมินว่าไม่น่าจะเดินต่อไปได้ และ 3. การช่วยสร้างกลไกการดูแลตนเอง เพื่อสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมในอนาคต

การพักชำระหนี้ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่เหมาะสำหรับเพื่อให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพที่จะเดินต่อไปได้ ซึ่งควรทำควบคู่ไปกับการเปิดทางถอย/ทางออกให้กับผู้ประกอบการที่ประเมินว่าไม่น่าจะเดินต่อไปได้ด้วย เช่น การเปิดให้คืนใบอนุญาต การนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลใหม่ ฯลฯ

++มาตรการพ่วงค่ายมือถือ
หากนำกรณีค่ายมือถือที่ต้องการจะพ่วงไปกับทีวีดิจิตอลมาพิจารณาตามหลักเกณฑ์การออกมาตรการช่วยเหลือทั้ง 3 ข้อข้างต้น คำตอบก็น่าจะชัดเจนว่าไม่น่าจะผ่านเกณฑ์ใดในทั้ง 3 ข้อ เป็นการผิดฝาผิดตัวเป็นอย่างยิ่ง เหมือนเรากำลังจะไปจัดเลี้ยงอาหารผู้ป่วยไร้ญาติที่โรงพยาบาล แต่เผอิญผ่านบ้านเศรษฐีแล้วเห็นประตูรั้วหน้าบ้านมีสีลอกอยู่บ้าง ก็เลยเสนอขอพ่วงทาสีประตูรั้วบ้านให้เศรษฐีไปพร้อมๆ กับการเลี้ยงอาหารผู้ป่วยไร้ญาติในคราวเดียวกันเลยก็แล้วกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว