ปลด‘สมชัย’ไม่สะเทือนเลือกตั้ง กฤษฎีกาชี้4กกต.ครบองค์ประชุม

25 มี.ค. 2561 | 03:58 น.
คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 4/2561 นอกจากให้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว ยังทำให้ “องค์ประกอบ” ของคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ กกต. ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย เมื่อคำสั่งระบุให้ประธานกกต.หรือกรรมการกกต.ที่มีอายุครบ 70 ปี ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อ จนกว่าชุดใหม่ที่ได้รับแต่งตั้งจะเข้ารับหน้าที่

ทำให้ นายบุญส่ง น้อยโสภณ กรรมการ กกต. จะครบ 70 ปี วันที่ 7 สิงหาคม 2561 และ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. จะครบ 70 ปี วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่เดิมมีปัญหาว่าจะต้องพ้นตำแหน่ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือไม่นั้น ต้องอยู่ต่อจนกว่าจะส่งมอบงาน และทำให้เหลือผู้ปฏิบัติหน้าที่ กกต. 4 คน ซึ่งนายศุภชัย ยืนยันว่ายังทำงานได้และองค์ประชุมครบ

ปัญหา “องค์ประชุม” ของกกต. เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานาน โดยเฉพาะช่วงรอยต่อของกฎหมายกกต.เก่ากับใหม่ เนื่องจากตามกฎหมายเดิมให้มีกกต. 5 คน แต่กฎหมายใหม่ที่บังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ให้มี 7 คน โดยระหว่างรอการสรรหานี้ให้กกต.เดิมอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อน มีประเด็นว่ากรรมการกกต.ต้องเข้าประชุมเท่าใดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม

จากปัญหาดังกล่าว สำนักงาน กกต.ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ลต 0019/7359 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2560 สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง องค์ประชุมของ กกต. ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ซึ่งสำนัก งานคณะกรรมการกฤษฎีกามีบันทึกเป็นเรื่องเสร็จที่ 530/2561 ชี้ชัดมี 4 ผู้ปฏิบัติหน้าที่กกต.ขึ้นไปครบองค์ประชุมข้องใจวิธีนับ “องค์ประชุม”

สำนักงาน กกต.สอบถามว่า โดยที่มาตรา 70 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 กำหนดให้ประธาน กกต. และกรรมการ กกต. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.นี้ใช้บังคับ พ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่พ.ร.ป.นี้ ใช้บังคับ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าประธาน กกต.และกรรมการกกต. ที่แต่งตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่

เพื่อให้การดำเนินการต่อไปชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการ กกต.มีมติในการประชุมครั้งที่ 49/2560 เมื่อ 6 ธันวาคม 2560 ให้หารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า การประชุมของคณะกรรมการ กกต.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ต้องมีกรรมการ กกต.มาประชุมจำนวนเท่าใดจึงจะเป็นองค์ประชุม

เนื่องจาก มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการ กกต. ปี 2560 กำหนดให้ภายใต้บังคับมาตรา 16 วรรคห้า การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 5 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม ขณะที่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการกกต. ปี 2550 ที่เป็นที่มาของกกต.เดิม และถูกยกเลิกไปแล้ว กำหนดให้การประชุมของคณะกรรมการ กกต. ต้องมีกรรมการ กกต.มาประชุมไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนกรรมการ กกต.เท่าที่มีอยู่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 3 คนจึงจะเป็นองค์ประชุม โดยสำนักงาน กกต.มีความเห็นเป็น 2 ความเห็น

TP14-3351-zA ++ชี้ต้องอิงสัดส่วน5กกต.เดิม
ความเห็นที่ 1 เห็นว่า ตามที่พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการ กกต. ปี 2560 กำหนดให้คณะกรรมการ กกต.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน พ้นจากตำแหน่งเมื่อกฎหมายนี้บังคับใช้ แต่ให้ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งของพ.ร.ป.นี้ กำหนดภายใต้บังคับมาตรา 16 วรรคห้า ระบุกรรมการ กกต.ต้องมาประชุมไม่น้อยกว่า 5 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม ซึ่งเป็นการกำหนดองค์ประชุมที่มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ กกต. 7 คนตามกฎหมายใหม่

ทั้งนี้ ตามหนังสือด่วนที่ สุด ที่นร 0904/40 เมื่อ 6 มีนาคม 2561 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี แจ้งเรื่องที่ประธานกรรมการ และกรรมการกกต. เดิม ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่กกต.ไปพลางนี้ มีองค์ประกอบของคณะกรรมการ กกต. เพียง 5 คน

จึงเห็นว่า หากจะตีความว่าต้องใช้องค์ประชุมจำนวน 5 คน ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง อย่างเคร่งครัดแล้ว อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีตรรกะให้การดำเนินการของรัฐต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ขาด ตอนลงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อันอาจจะทำให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด อีกทั้งหากมีกรณีกรรมการ กกต.หนึ่งท่านพ้นจากตำแหน่งไป คงเหลือกรรมการ กกต.อยู่ปฏิบัติหน้าที่ 4 คน คณะกรรมการ กกต.จะไม่สามารถประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องใดๆ ได้

ดังนั้น องค์ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับกับคณะกรรมการ กกต.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 70 ได้

++เห็นต่างต้องยึดตามก.ม.ใหม่
ความเห็นที่ 2 เห็นว่า มาตรา 75 แห่งพ.ร.ป.กกต.ปี 2560 กำหนดว่า บรรดาระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติของ กกต.ที่ออกตามพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการ กกต. ปี 2550 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พ.ร.ป.ใหม่นี้ใช้บังคับ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปเท่าที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.ป.นี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะมีระเบียบ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือมติตามพ.ร.ป.นี้

ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต.ปี 2560 กำหนดองค์ประชุมของคณะกรรมการ กกต.ไว้ ว่าต้องมีไม่น้อยกว่า 5 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม โดยมิได้มีบทเฉพาะกาลยกเว้นไว้สำหรับคณะกรรมการ กกต.ที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

ดังนั้น ในการพิจารณาองค์ประชุมของคณะกรรมการ กกต.ต้องตีความโดยเคร่งครัด กล่าวคือ องค์ประชุมของคณะกรรมการ กกต.ซึ่งยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 5 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม

ect ++กฤษฎีกาใช้เทียบอัตราส่วน
บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ 530/2561 ระบุว่าความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ถึงข้อหารือดังกล่าวว่า ... ในการตีความกฎหมายสำหรับกรณีข้อหารือนี้ เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นสำคัญ ซึ่งมาตรา 70[1] วรรคสาม แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ได้คำนึงถึงจำนวนของ กกต.ชุดเดิมจำนวน 5 คน ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ซึ่งแตกต่างจากจำนวนของ กกต.ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

ดังจะเห็นได้จากการที่มาตรา 70 วรรคสาม ได้บัญญัติไว้ว่า ในกรณีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามวรรคหนึ่ง ตาย ลาออก หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่ว่าด้วยเหตุใดและมีผู้ซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้นำความในมาตรา 17 วรรคสาม[2] มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าวได้บัญญัติไว้ว่า หากมีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุด ร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ ทำหน้าที่เป็นกรรมการเป็นการชั่วคราวให้ครบ 7คน โดยให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งทำหน้าที่ในฐานะกรรมการได้จนกว่ากรรมการที่ตนทำหน้าที่แทนจะปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือจนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งแทน

ดังนั้น หากคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดเดิมที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 70 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. มีจำนวนเหลืออยู่กึ่งหนึ่งของจำนวนกกต.ทั้งหมด กล่าวคือ มีกรรมการเหลืออยู่ 3 คนขึ้นไป ก็ย่อมปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากการแต่งตั้งกรรมการชั่วคราวตามมาตรา 17 วรรคสาม จะมีขึ้นก็ต่อเมื่อมีกกต.เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยคำนึงถึงอัตรา ส่วนของกรรมการตามที่มีอยู่ ด้วยเหตุนี้การนับองค์ประชุมของ กกต.ชุดเดิมที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จึงต้องคำนวณตามอัตราส่วนในลักษณะเดียวกัน

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ++ฟันธง4กกต.ครบองค์ประชุม
สำหรับองค์ประชุมของ กกต.ชุดเดิมจำนวน 5 คน ที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น ควรจะต้องเป็นเท่าใด ย่อมต้องใช้วิธีการเทียบเคียงองค์ประชุมให้ได้อัตราส่วนเช่นเดียวกับอัตราส่วนขององค์ประชุมตามมาตรา 18[3] แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วย กกต. ที่ได้บัญญัติให้การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า 5 คน จาก 7 คน จึงจะเป็นองค์ประชุม นับเป็นอัตราส่วน 5 ใน 7 กรณีที่หารือมานี้โดยที่ กกต.ชุดเดิมที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป มีจำนวน 5 คน องค์ประชุมตามหลักการมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ป.กกต.ชุดเดิมในอัตราส่วนเดียวกัน คือ 5 ใน 7 ซึ่งเท่ากับไม่น้อยกว่า 4 คน จาก 5 คน

ดังนั้น กรรมการ 4 คนจึงนับเป็นองค์ประชุมได้...

บันทึกสำนักงานกฤษฎีกาลงนามโดย นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อมีนาคม 2561 เมื่อข้อกฎหมายชัดเจนว่า เหลือ 4 ผู้ปฏิบัติหน้าที่กกต.ถือว่ายังครบองค์ประชุม สามารถเดินหน้าผลักดันงานรับมือการเลือกตั้งได้ คำสั่งคสช.เชือด “สมชัย ศรีสุทธิยากร”พ้นการปฏิบัติหน้าที่จึงตามมาทันควัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว