มอง CIV ผ่าน ‘บุพเพสันนิวาส’

29 มี.ค. 2561 | 23:05 น.
TP13-3351-1B ในยุคนี้หากไม่เอ่ยอ้างถึงละครชื่อดัง “บุพเพสันนิวาส” แลดูจะไม่ทันการณ์ ผมคงไม่ต้องบรรยายว่าละครเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร ทุกสื่อประโคมข่าวทุกวัน ทุกคนพูดถึงละครเรื่องนี้ ตั้งแต่ชาวบ้าน แม่ค้า จนถึงนายกรัฐมนตรี ก่อนอื่นผมจะขอกล่าวแนะนำตอนต้นนี้เกี่ยวกับหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ CIV ที่ย่อจาก Creative Industry Village (CIV) ว่าสามารถเรียนรู้จากละครเรื่องนี้อย่างไร เป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับคนในชุมชนหนึ่งๆ ร่วมมือกันวางแผนพัฒนาชุมชนแห่งนั้นผ่านตัวกลางต่างๆ รวมกัน เพราะเชื่อว่าหากมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ของชุมชน รวมกับวิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยว และประเพณีต่างๆ ของชุมชนมามัดรวมกันเพื่อจูงใจให้ผู้คนมาเยือน ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างทั่วถึง จากแต่เดิมที่เราเข้าไปพัฒนาเฉพาะผลิตภัณฑ์แล้วพยายามนำออกมาขายในเมืองใหญ่ การทำแบบนี้น่าจะเกิดประโยชน์กับกลุ่มคนหลายกลุ่มและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นก็อยู่ใกล้กับวัฒนธรรมของตนเองซึ่งจะยิ่งช่วยขับความโดดเด่นและคุณค่ายิ่งกว่าอยู่ห่างรากเหง้าของตนเอง ตัวอย่างแบบนี้ ผมว่าพวกเราหลายคนคงเคยเห็นในญี่ปุ่นที่ผลิตภัณฑ์ดัง ๆ ของท้องถิ่น หาซื้อในเมืองอื่นๆ ไม่มี อยากได้ต้องมาที่เมืองนี้เท่านั้น โจทย์ที่สำคัญของ CIV คือ จะทำอย่างไรที่ให้ผู้คนสนใจ และแวะมาเยี่ยมเยือน

กลับมาที่ละครออเจ้าอีกครั้ง ตอนนี้หลายวงการอาศัยความแรงของออเจ้าการะเกดและคุณพี่หมื่นมาเป็นแรงกระตุ้นในการส่งเสริมงานด้านต่างๆ ไม่ว่าอาหาร การท่องเที่ยว โบราณสถาน และหลายๆ คนเดินเข้าพิพิธภัณฑ์เป็นครั้งแรกในชีวิต กระแสความสนใจในประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น ประวัติของตัวละครทุกตัวถูกนำมาเล่าเสริมเพื่อให้คนดูละครได้อรรถรสมากขึ้น มีเรื่องราวต่อเติมเสริมแต่งรายละเอียดขยายออกไปมากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับคนไทยทั่วไป ผมเองก็เพิ่งรู้ว่าประวัติของหลายคนจากกระแสของละครเรื่องนี้ นอกจากนี้ การท่องเที่ยวโบราณสถาน วัดวาในอยุธยา พระราชวังโบราณในลพบุรี ก็คึกคักพร้อมทั้งการแต่งตัวแบบแม่การะเกดก็มีให้เห็นในสถานที่ที่มีการเดินตามรอยบุพเพสันนิวาส ส่วนอาหารก็มีการโปรโมตอาหารไทยทั้งคาวและหวานตำรับโบราณ จนถึงการจัดตลาด และการท่องเที่ยววัฒนธรรม และก็มีผู้คนตอบรับอย่างคึกคัก

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก คำถามที่น่าสนใจคืออะไรที่ทำให้ละครเรื่องนี้ดังฟุดๆ ในขณะนี้ ผมว่าละครเรื่องนี้เอาผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมในละคร เช่น การสอดแทรกสาระประวัติศาสตร์ พงศาวดาร ที่พวกเราทุกคนเคยเรียนมาก่อนแม้ว่าอาจจะลืมหรือเรื่องราวอาจไม่ครบครัน แต่ก็ทำให้ผู้ชมวาดภาพ แสดงความรู้ หรือใคร่รู้เรื่องราวเสริมเติมแต่งรายละเอียดของตัวละครออกไปจากที่แค่ปรากฏในละครมากขึ้น นอกจากนี้ยังเล่นกับความแตกต่างที่ชวนรื่นเริงในทุกเรื่องตั้งแต่เรื่องอาหารที่แม่หญิงการะเกดคิดค้นสูตรมะม่วงนํ้าปลาหวาน หมูกระทะ กุ้งเผา หรือ หลนตะเจี้ยว ที่เราทุกคนรู้จักรสชาติดี หรือทองหยิบ ทองหยอด ของแม่หญิงทองกีบม้า (มารีย์ ตองค์ กีร์มา) และคนดูก็สนุกสนานที่เห็นคนยุคนั้นชอบรสชาติอาหารในยุคเรา หรือการใช้ภาษาพูดที่ไม่รู้ความไปบ้างของแม่หญิงการะเกด และภาษาวัยรุ่น สมัยใหม่ ที่สอดแทรกมาเป็นระยะทำให้เป็นที่สนุกสนานเพราะใกล้ตัวผู้ชมและรู้เรื่องอย่างลึกซึ้งโดยไม่ต้องมีคำอธิบายให้มากความ ซึ่ง “รอมแพง” รู้ดี ดังนั้นจึงมัดรวมสิ่งต่าง ๆ ทั้งอดีต ปัจจุบัน ผสมผสานปรุงออกมาได้รสชาติที่ถูกใจผู้ชมในกลุ่มกว้าง

สิ่งที่ปรากฏในบุพเพสันนิวาสที่คนทำ CIV เรียนรู้ได้ คือ การที่จะให้คนมาชื่นชมสิ่งที่หมู่บ้านต้องการนำเสนอนั้นต้องใกล้ตัวกับกลุ่มเป้าหมายเหมือนละคร “ออเจ้า” ที่มีลูกหยอดให้คนดูติดตามแต่ไม่ยุ่งยากในการตีความ และอาจไม่จำเป็นต้องแสดงผ่านสิ่งที่อยากบอกนั้นโดยตรงก็ได้ หลายหมู่บ้านมีผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียง ผู้คนชื่นชมและภูมิใจในวัฒนธรรมของตัวเอง มีวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ หรือมีสถานที่ท่องเที่ยว แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีค่าก็ต่อเมื่อคนที่เป้าหมายหรือลูกค้าของเราให้ “คุณค่า” กับของของเรา ผู้คนอาจชอบหลายๆ อย่าง แต่ทุกคนจะมีจุดเน้นของความชอบที่ต่างกัน

ดังนั้น เพื่อชักจูงให้ผู้คนไปเยือน ก็ต้องมีอะไรหลายๆ อย่างที่ผู้คนอื่นๆ ถวิลหาและหาไม่ได้ในที่ที่เขาอยู่ เช่น รอยยิ้มของคนในชุมชน สถานพักผ่อนหย่อนใจแบบธรรมชาติ อาหารท้องถิ่นที่เฉพาะ ผลิตภัณฑ์ที่หาที่อื่นไม่ได้ และอื่นๆ ที่ต้องผสมผสานให้เหมาะและลงตัว และเพื่อจะถูกใจคนต่างถิ่นที่มาเยือน เหมือนที่ “รอมแพง” สร้างกระแสฟีเวอร์การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านละคร “บุพเพสันนิวาส” สร้างกระแสให้คนตื่นตัวมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์อย่างมากมาย “ผ่านละคร” ที่ให้ทุกรสชาติกับคนดูและเติมเต็มสิ่งที่คนดูไม่อาจหาได้จากเรื่องอื่นๆ และ CIV ก็เหมือนกัน บางทีการโปรโมตผลิตภัณฑ์ประจำท้องถิ่นก็ไม่จำเป็นต้องเสนอผ่านตัวผลิตภัณฑ์แบบตรงๆ แต่ผ่านสิ่งอื่นที่ผู้คนถวิลหาในชีวิตที่เขาหาได้ใน CIV ซึ่งมีหลายกิจกรรม หรือรอยยิ้ม มิตรภาพ ความอบอุ่นที่ให้กับผู้มาเยือนอาจเป็นปัจจัยสำคัญของการขับคุณค่าของอัตลักษณ์ของท้องถิ่นให้โดดเด่นและหาที่อื่นได้ยาก

ปรัชญาเบื้องหลังความสำเร็จของ CIV คือ C: Consensus ส่วน I คือ Identity และ V คือ Value creation ความหมายรวมที่เราตั้งใจไว้ก็ง่าย ๆ ครับ ทุกอย่างที่ทำ ชุมชนต้องเห็นพ้องร่วมกันในการเดินทิศทางนี้ มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนและคนข้างนอกรับรู้ เพื่อนำมาสร้างคุณค่าผ่านทุกกิจกรรมในชุมชน … ชอบละครแล้ว ทุกอย่างในรายละเอียดที่มีในละครคนดูก็จะชอบตามละครับ การแต่งงาน คำพูดที่ใช้ในละครและลามไปถึงสำรับกุ้งเผา นํ้าจิ้มรสแซ่บ มะม่วงนํ้าปลาหวาน กลายเป็นเมนูบังคับในร้านในอยุธยาแทบทุกร้าน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว