ชีวิตประจำวัน จากโลกอนาคตในนอร์เวย์ (จบ)

25 มี.ค. 2561 | 00:25 น.
TP10-3351-1C อนาคตของการผลักดันนโยบายส่งเสริม EV ในไทย : เดินทางร้อยลี้ย่อมต้องมีก้าวแรก

ในส่วนของประเทศไทยเอง รัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รองนายกรัฐมนตรี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ยืนยันว่าไทยต้องร่วมมือกันผลักดันเทคโนโลยีนี้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคต โดยเริ่มมีมาตรการต่างๆ เช่น กระทรวงพลังงานได้กำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณ EV ในไทยให้ถึง 1.2 ล้านคันก่อนปี ค.ศ. 2036 และการผลิต EV ยังอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับการเติบโตของประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ก็ได้ให้แรงจูงใจด้านภาษีในการส่งเสริมการผลิต การนำเข้า EV การผลิตชิ้นส่วน และการพัฒนาระบบสถานีชาร์จไฟ กระทรวงพลังงานได้ลงมือทำแผนที่มีระยะเวลา 3 ปี ในการให้เงินอุดหนุนการติดตั้งสถานีชาร์จไฟเพิ่มขึ้นอีก 150 สถานี และให้การช่วยเหลือด้านการเงินแก่ภาคเอกชนที่จะเข้ามาลงทุนวางระบบ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี จากประสบ การณ์ของนอร์เวย์ที่ใช้เวลามากว่า 20 ปี ในการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะผลักดันนโยบายนี้จนสำเร็จในปัจจุบัน ก่อนที่ไทยจะมาถึงระดับเดียวกับนอร์เวย์ได้ ประเด็นที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ ต้องได้รับการพิจารณาวางแผนรองรับอย่างถี่ถ้วน

TP10-3351-3C 1.โครงสร้างด้านพลังงานของไทย
จากตารางจะเห็นว่าปัจจุบันไทยยังพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลัก โดยมีแผนในระยะยาวที่จะปรับลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติลง และเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทน อย่างไรก็ดี ประเทศไทยจะมีแหล่งพลังงานสะอาดที่เพียงพอต่อ EV ที่ไทยตั้งเป้าหมายที่จะมี 1.2 ล้านคันก่อนปี ค.ศ. 2036 หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เพราะตัวอย่างสมมติของจีนที่ยกมาในตอนที่แล้ว พบว่าการเปลี่ยนไปใช้ EV จะไม่เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมเสมอไปหากที่มาของพลังงานไม่ได้มาจากพลังงานสะอาด

2.การทำให้ EV มีราคาถูกพอสำหรับผู้บริโภคต้องใช้เงินอุดหนุนจากภาครัฐจำนวนมาก
จากตัวอย่างของนอร์เวย์จะเห็นว่า 1 ใน 3 หลักการสำคัญในการส่งเสริม EV คือ EV ต้องราคาถูก (Cheap to buy) ซึ่งรัฐบาลนอร์เวย์ได้ใช้นโยบายด้านภาษีในการสร้างแรงจูงใจ แต่ทั้งนี้ ฐานะทางการเงินของไทยและนอร์เวย์มีความต่างกันทำให้การอุดหนุนด้านการเงินจากภาครัฐอาจเป็นเรื่องยาก ดังที่นายวิชัย จิราธิยุต ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้กล่าวไว้ว่าการพึ่งพาสิทธิประโยชน์อาจก่อให้เกิดภาระสำหรับรัฐบาล และรัฐบาลไทยอาจไม่สามารถให้เงินอุดหนุนเพื่อทำให้ราคา EV ถูกลง และส่งเสริมการขายเพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล

3. ปัญหาในด้านเทคนิค
ปัญหาในด้านเทคนิคนั้นแบ่งได้เป็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรก คือคำถามในลักษณะไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน กล่าวคือ ต้องมีความพร้อมของระบบชาร์จไฟก่อนหรือไม่จึงจะมีความต้องการ EV มากขึ้นตามมา ซึ่งถ้ามองในมุมนี้ภาคเอกชนและภาครัฐจะต้องเสี่ยงลงทุนวางระบบก่อนซึ่งไม่ทราบแน่ชัดว่าต้องลงทุนมากถึงระดับไหนจึงจะเพียงพอที่จะเหนี่ยวนำให้เกิดความต้องการ EV ในระดับที่เหมาะสม หรือถ้ามองในมุมกลับคืออาจจะต้องรอให้ความต้องการ EV มีมากถึงจุดที่ภาครัฐและเอกชนจะเข้าไปลงทุนวางระบบซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลานานเท่าใดกว่าจะมีความต้องการ EV ในระดับที่เหมาะสม

TP10-3351-2C ประเด็นที่ 2 เทคโนโลยี EV ยังไม่นิ่ง โดยยังมีข้อถกเถียงกันว่า EV ในรูปแบบไหนที่จะได้รับความนิยมในระยะยาว โดย EV ในปัจจุบันมี 4 ลักษณะ (platforms) โดย Hybrid EV และ Plug-in Hybrid EV ได้เริ่มพัฒนาด้วย 2 ระบบนี้ก่อนคือ ใช้ไฟฟ้าควบคู่กับนํ้ามันเบนซิน และใช้ไฟฟ้าควบคู่กับนํ้ามันดีเซล ต่อมาได้มีการใช้แบตเตอรี่ซึ่งเป็นระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมด และแบบล่าสุดคือการใช้ Fuel-cell เป็นแหล่งพลังงาน

ทั้งนี้ แม้ว่าเรื่อง EV ยังเป็นเรื่องใหม่ที่มีประเด็นท้าทายและอุปสรรคอยู่มากในการเริ่มต้นในประเทศไทย แต่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล เชื่อในสุภาษิตจีนที่ว่า“เดินทางร้อยลี้ย่อมต้องมีก้าวแรก” และพร้อมที่จะสนับสนุนการผลักดันการใช้ EV ให้เกิดขึ้นในไทยให้ได้ โดยในปีงบประมาณ 2561 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้เตรียมความพร้อมที่จะนำผู้เชี่ยวชาญจากนอร์เวย์เดินทางไปถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จในด้านการส่งเสริม EV ให้กับหน่วยงานไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซึ่งหากมีโอกาสก็จะได้รายงานความก้าวหน้าของโครงการนี้ต่อไป

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว